ทุกวิกฤติจะมีโอกาส...ที่จะพัฒนา


VIEW: 46   SHARE: 0    

ขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตและครอบครัวในเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวเมื่อบ่ายวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา

แม้ประเทศไทยจะสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศเมียนมา ที่เป็นจุดศูนย์กลางของการเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ หรือเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งก่อนๆ เช่น สึนามิ แต่เหตุการณ์นี้ทำให้ทุกคนได้ตื่นตัวรับรู้ มีประสบการณ์ตรง แตกต่างจากแผ่นดินไหวครั้งก่อนๆ ในบางที่ของประเทศไทย ที่เพียงแค่รู้สึกเห็นโคมไฟในอาคารที่พักสั่นไหวน้อยๆ แต่ครั้งนี้ในกรุงเทพมหานคร คนต่างรับรู้ถึงการสั่นสะเทือนของตึกอาคารโยกสั่นไปมาทั้งแรงและนาน ต้องพากันออกจากตึกอาคาร มี Aftershock แผ่นดินไหวเบาๆ ตามมาอีกหลายสิบครั้ง ออกจากที่ทำงานกลับบ้านรถติดหนักมาก รถไฟฟ้าทั้งบนดินใต้ดินหยุดวิ่ง คนพักคอนโดตึกสูงไม่กล้าเข้าที่พัก หาที่กิน ที่นอน โกลาหลวุ่นวายกันทั้งเมือง

ผลกระทบรุนแรงสุดของประเทศไทยจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ ที่ทำให้ตึกอาคาร สตง. 30 ชั้นที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุ มีนักวิชาการและสื่อมวลชนวิเคราะห์ตั้งประเด็นไว้ตั้งแต่การออกแบบ การประมูล การก่อสร้าง วัสดุที่ใช้ การควบคุมงาน การแก้แบบ ฯลฯ เชื่อว่าจะทำให้ความจริงปรากฏ และนำไปสู่การวางแผนอย่างเป็นระบบป้องกันไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้อีกในอนาคต

ในทุกวิกฤติจะมีโอกาส เป็นโอกาสที่จะพัฒนาคน ชุมชน สังคม และประเทศให้เก่งขึ้น ดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น มี คน และ ระบบ ที่ดีพร้อมรับมือภัยพิบัติต่างๆ ได้

ระบบดี คนดี นั้นดีแน่

ระบบดี คนแย่ พอแก้ไหว

คนดี ระบบแย่ แก้กันไป.....

อะไรที่เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็จะเก่ง สามารถเรียนรู้และรับมือได้ดีกว่าเดิม ภัยพิบัติต่างๆ ในประเทศไทยเกิดบ่อยขึ้นและรุนแรงขึ้น ทั้งน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม พายุ แผ่นดินไหว ทำให้ทุกภาคส่วนได้มาร่วมกันทำงานอย่างจริงจังมากขึ้น ปลายปีที่ผ่านมาเกิดการ “สานพลังภาคีเครือข่ายรับมือภัยพิบัติ” มีข้อเสนอเชิงนโยบายหลายประการ เช่น

• เพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่เชื่อถือได้และเป็นหลักปฏิบัติสากล

• พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คำนึงถึงการรองรับภัยพิบัติ ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่นและระดับชาติเชื่อมโยงกัน

• บูรณาการระบบฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ เช่น ข้อมูลพื้นที่เสี่ยง กลุ่มเสี่ยง ทรัพยากร

• พัฒนากฎหมาย ระเบียบ กลไกการจัดการ ระบบบัญชาการเหตุการณ์ และแผนการจัดการภัยพิบัติ

• การฟื้นฟูและเยียวยาผู้ประสบภัยโดยไม่ชักช้าและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

• ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในการจัดการภัยพิบัติ ให้เกิดกองทุนท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติ

 

ขณะที่ทิศทางของโลกข้างหน้าการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ หรือการลงทุน ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ไม่ใช่พิจารณาแค่ผลกำไรทางการเงินเพียงอย่างเดียว ตามหลัก ESG

Environmental (สิ่งแวดล้อม) การดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของเสีย การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

Social (สังคม) การดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้คนและสังคม เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชน การดูแลแรงงาน และความปลอดภัยในการทำงาน

Governance (ธรรมาภิบาล) การบริหารจัดการที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ เช่น ความโปร่งใสในการบริหารงาน การจัดการความเสี่ยงและการปฏิบัติตามกฎหมาย การต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน

เชื่อมั่นว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ ทุกคนจะได้ไหวตัวทัน ได้ร่วมกันอย่างจริงจัง เตรียมการรองรับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยความไม่ประมาท

 

NHCO Q&A