‘จุดคานงัด’ หรือกลไกหลักที่จะทำให้เรื่องนี้ถูกผลักดันไปได้มากขึ้น คือการผลักดันทางนโยบาย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

--- เปิด ‘จุดคานงัด’ และ กลไกขับเคลื่อน ---

เมื่อมองไปต่อถึง ‘จุดคานงัด’ หรือกลไกหลักที่จะทำให้เรื่องนี้ถูกผลักดันไปได้มากขึ้น สุทธิพงษ์ มองว่าอันดับแรกคือการผลักดันทางนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยกลไกของ คสช. ซึ่งมีองค์ประกอบของภาครัฐ  กระทรวงต่างๆ  รวมถึงภาคส่วน ทั้งภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาสังคม ที่จะมีการนำเสนอประเด็นเหล่านี้เข้าไปสู่การพิจารณาในที่ประชุมอย่างต่อเนื่อง และทำให้เกิดการผลักดันการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติในมิติต่างๆ รวมทั้งผ่านกลไกของหน่วยงาน องค์กรที่มีร่วมกัน

ขณะเดียวกันยังมีกลไกอื่นๆ เช่น คณะกรรมการกำกับทิศ (Steering Committee) เพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล ทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๖๕ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อคอยติดตามการประยุกต์ใช้มาตรฐาน ACP รวมถึงกลไกการผลักดันการดูแลสุขภาวะระยะท้ายผ่าน แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของ สธ. และการขับเคลื่อนของเครือข่ายทางสังคมต่างๆ ด้วย

พร้อมกันนั้น ยังเป็นการสนับสนุนการเชื่อมโยงการดูแลจากโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพระดับต่างๆ  โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชนอำเภอและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยการมีส่วนร่วมจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผู้บริบาล Caregiver พระ ไปจนถึงผู้คนในชุมชน เพื่อจัดบริการสร้างเสริมสุขภาวะระยะท้ายของชีวิต ดูแลผู้ป่วยที่มีความประสงค์จะรักษาระยะท้ายที่บ้านหรือในชุมชน ซึ่ง ‘สุทธิพงษ์’ มองว่ามิติเหล่านี้จะช่วยยกระดับให้เราเป็นสังคมอารยะ ที่ไม่ทอดทิ้งกัน ทุกฝ่ายได้มีการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้น

ขณะที่จุดคานงัดสุดท้ายคือ การสื่อสารสังคม ผ่านทั้งเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ หรือบุคคลได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลในการผลักดันทางสังคม (Influencer) ในปัจจุบัน เพื่อสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับมากขึ้น เพราะเรื่องนี้นับว่ายังเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน และยังมีมุมมองทัศนคติความเชื่อที่แตกต่างกันของผู้คนในสังคม

 

“ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหา แต่ปัจจุบันเราก็ยังมีโอกาสต่างๆ ทั้งด้านนโยบายของรัฐ สิทธิสวัสดิการ หรือสิทธิประโยชน์ที่เข้ามาหนุนเสริมการแสดงเจตนาในระยะสุดท้ายของชีวิต ตามมาตรา ๑๒  ในเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนท้องถิ่นตระหนักและมีบทบาทร่วมด้วย เช่น การพัฒนาสถานชีวาภิบาลในชุมชนท้องถิ่น หรือกุฏิชีวาภิบาลที่วัด เพื่อรองรับการดูแลระยะสุดท้าย ตลอดจนมีการสื่อสารพูดคุยในเรื่องนี้กันมากขึ้น และสังคมลุกขึ้นมามีบทบาทร่วมกันในการพัฒนากันมากขึ้นด้วย ก็เชื่อว่าจะช่วยตอบโจทย์สิ่งที่เรากำลังจะเผชิญต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี” เขาสรุปทิ้งท้าย

 

1