APC เพื่อความเข้าใจระหว่างกัน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

องค์ประกอบสำคัญของระบบการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิต ที่สอดรับกับกฎหมายในประเทศไทย มีทั้ง Living Will, Palliative Care, และ Advance Care Planning ซึ่งทั้งสามองค์ประกอบนี้ มีสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นแกนหลักในการประสานงานและหนุนเสริมให้เกิดขึ้น

เมื่อผู้ป่วยแสดงเจตนาใน Living Will แล้ว ก็จะเบนเข็มเข้าสู่การดูแลแบบ Palliative Care ซึ่งการดูแลประคับประคองนั้นมีหลักการสำคัญคือ ต้องมี ‘การดูแล’ คือไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ต้องดูแลโดยมุ่งไปที่การประคับประคองไม่ใช่มุ่งไปที่จะรักษาโรคให้หาย โดยเน้นการมีชีวิตอยู่ในระยะท้ายอย่างมีคุณภาพ ไม่ทำการเร่งหรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเร็วกว่าธรรมชาติของโรค

อย่างไรก็ดี ที่สำคัญคือต้องมี Advance Care Planning ถือเป็นการดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว โดยเชื่อมต่อการดูแลระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน เพราะ การวางแผนการดูแลล่วงหน้า หรือ ACP เป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการสื่อสารระหว่างผู้ป่วย ญาติ และฝ่ายผู้ให้การรักษา ได้มีความเข้าใจตรงกันในความต้องการของผู้ป่วยเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล หรือความต้องการอื่นๆ ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต

 

2

 

3

 

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) จึงได้ประกาศใช้ มาตรฐานการวางแผนการดูแลล่วงหน้าสำหรับประเทศไทย (Thai standards for advance care planning) พ.ศ. ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นฉบับแรกของประเทศไทย เพื่อให้บุคลากรด้านสุขภาพและสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน นำไปใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรายละเอียดในการดูแลผู้ป่วย ตามบริบทและอำนาจหน้าที่ของตนเองต่อไป

ภายใต้มาตรฐานฯ ฉบับดังกล่าว ได้มีการระบุตั้งแต่แนวทางปฏิบัติ ไปจนถึงแนวทางการขับเคลื่อน โดยมีรายละเอียด เช่น ความหมาย วัตถุประสงค์ ขั้นตอน รวมไปถึงตัวอย่างของแบบฟอร์มการทำ ACP พร้อมกันนั้นยังได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับทิศ (Steering committee) เพื่อขับเคลื่อนและติดตามประเมินผลภายใต้มาตรฐานฯ ฉบับนี้อีกด้วย

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังคงมีความท้าทาย ภายใต้อุปสรรคข้อจำกัดทั้งในเชิงของการรับรู้ ความเข้าใจ รวมถึงทัศนคติของประชาชน ตลอดจนบุคลากรสาธารณสุข

ผลสำรวจการรับรู้ต่อ ACP ของ สช. ในเดือน ส.ค. ๒๕๖๕ พบว่าแม้จะมีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์กว่า ๗๑% ที่ทราบถึงกฎหมายมาตรา ๑๒ และมี ๔๙% ที่ทราบว่าประเทศไทยมีการกำหนดมาตรฐาน ACP และมีเพียง ๓๐% ที่เคยเห็นแบบฟอร์ม ACP

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความเห็นด้วยว่าประชาชนควรมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาฯ หรือไม่ พบว่าบุคลากรทางการแพทย์ให้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ ๔.๔ (เต็ม ๕.๐) ขณะที่ฝั่งนักศึกษาแพทย์มีการให้คะแนนเฉลี่ยถึง ๔.๗