ประเด็นการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) นับเป็นหนึ่งในระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดในปลายปีนี้ ภายใต้ธีมหลัก “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน”
การพัฒนานโยบายสาธารณะดังกล่าว มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมเป็นหลักในการออกแบบและหามาตรการที่เหมาะสมสำหรับการสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มผู้สูงวัย ผ่านการศึกษาวิจัยของสถาบันการพัฒนาแห่งประเทศไทย ข้อมูลวิชาการที่รอบด้านและจากประสบการณ์ตรงของภาคเอกชนที่จับธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงวัย และเพื่อให้เป็นการระดมความเห็นต่อสถานการณ์และวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของ Stakeholder ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมเศรษฐกิจสังคมสูงวัย และค้นหานวัตกรรมหรือเศรษฐกิจที่เหมาะสมสอดคล้องกับสังคมสูงวัย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จึงร่วมกับสภาพัฒน์ฯ เชิญชวนภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง จำนวนกว่า 80 คนเข้าร่วม ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี วันที่ 14 กรกฎาคม 2568
การจัดเวทีถกแถลงการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) เพื่อร่วมกันคิดค้นและออกแบบเศรษฐกิจ อาชีพและรายได้ เมื่อคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยมีนางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ นำเสนอข้อมูล ขอบเขต และมีนายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการ คสช. ร่วมแนะกระบวนการทำนโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
ในเวทีได้มีการเปิดวงถกแถลงขอบเขตหลัก ที่จะพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะใน 4 ขอบเขต ได้แก่
1) การสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุให้คงอยู่ในตลาดแรงงานและมีรายได้เพียงพอ โดยมี 3 Quick win ได้แก่ การปรับปรุงกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้สูงอายุ สนับสนุนการจ้างงานสูงวัย และการเป็นผู้ประกอบการ (Olderpreneur) พัฒนาศักยภาพ (Up-re-new Skill)
2) การผลิตสินค้าและบริการที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 2 Quick win ได้แก่ การส่งเสริมผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการที่จำเป็น ลดความเหลื่อมล้ำ/สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงสินค้าและบริการของผู้สูงอายุ
3) การสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 3 Quick win ได้แก่ กระจายอำนาจให้ อปท. ในการส่งเสริมอาชีพและสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ พัฒนาศักยภาพในธุรกิจการให้บริการ/
ดูแลผู้สูงอายุในชุมชน และการสร้างตำบลต้นแบบการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย
4) การประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ ประกอบด้วย 2 Quick win ได้แก่ ยกระดับการสื่อสารการสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสูงวัย และสร้างศักยภาพทางการตลาดและการจับคู่ (Market Creation & atchmaking) สินค้าและบริการผู้สูงอายุ ซึ่งจะมีการพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อน สอดคล้องกับประเด็นกับหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการขับเคลื่อนอยู่ตามหน้างานของตนเอง ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความร่วมมือและเสริมพลังซึ่งกันและกัน รวมถึงการถมช่องว่างที่สามารถสร้างผลกระทบสูง ส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นแต่สร้างผลลัพธ์ได้ในระยะยาว