สภาวะสารพิษรุกคืบ สายน้ำเป็นพิษ ชีวิตปนเปื้อน


VIEW: 60   SHARE: 0     15-07-2025

เมื่อ ๓๘ ปีที่แล้ว ช่วงปลายปี ๒๕๓๐ เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความหวาดวิตกให้กับคนไทยเป็นอย่างมาก หลังจากพบผู้ป่วยหญิงรายหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวบ้านใน อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ป่วยไม่ทราบสาเหตุด้วยอาการทางผิวหนัง ฝ่ามือ ฝ่าเท้ามีตุ่มแข็ง ผิวตัวดำผิดปกติ

ความป่วยไข้ดังกล่าวถูกเรียกชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “ไข้ดำ”

หลังจากเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราชและตรวจชิ้นเนื้อ แพทย์วินิจฉัยว่าหญิงรายดังกล่าวป่วยด้วยโรคมะเร็งผิวหนัง ที่เกิดจากการได้รับพิษ “สารหนูเรื้อรัง” เมื่อวัดระดับสารหนูในผม เล็บ เนื้อเยื่อ และเลือด ก็พบค่าสารหนูในระดับที่สูงกว่าปกติเช่นกัน

ความไม่ชอบมาพากลนี้นำไปสู่กระบวนการค้นหาสาเหตุ และสอบสวนโรคทางระบาดวิทยา จากหลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันขนานใหญ่ จนพบว่า มีประชาชนใน อ.ร่อนพิบูลย์ จำนวนถึง ๘๒๔ ราย ป่วยด้วยโรคพิษสารหนูเรื้อรังระดับ ๑-๔ สารพิษนี้ฝังตัวอยู่ในเล็บ เลือด เส้นผม ปัสสาวะ ทั้งบุคคลทั่วไป และสตรีตั้งครรภ์ ที่น่าสะเทือนใจคือการตรวจพบสารหนูในน้ำนมมารดาและเด็กทารกด้วย

ความป่วยไข้ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องของโชคลางหรือเคราะห์ร้ายเหนือธรรมชาติ ในทางกลับกันพบว่าต้นเหตุเกี่ยวข้องกับธรรมชาติโดยตรง เพราะเกิดจากเหมืองแร่ดีบุกและเหมืองแร่วุลแฟรมเก่าที่ทิ้งร้างไว้มานาน จนกากตะกอนร่อนแร่ที่ทิ้งไว้ ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

๓๘ ปีต่อมา ราวกับภาพยนตร์เก่าฉายซ้ำ เมื่อผลการตรวจคุณภาพน้ำครั้งแรกจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ ๑ เชียงใหม่ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในช่วงเดือน มี.ค. ๒๕๖๘ ยืนยันถึงความผิดปกติที่ชาวบ้านใน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พบเห็นว่าสีน้ำในแม่น้ำกกมีความขุ่นข้น และประชาชนที่ลงเล่นน้ำมีผื่นคัน อันเป็นผลมาจากสารโลหะหนักอย่างสารหนู ทุกฝ่ายยืนยันตรงกันว่า ต้นทางของปัญหาเหล่านี้มาจากการเปิดกิจการเหมืองแร่ทองคำ และเหมืองแร่แรร์เอิร์ธในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา โดยผู้ประกอบการชาวจีน ซึ่งบริเวณนั้นเป็นเขตความรับผิดชอบของกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ “ว้าแดง”

หากนับผลการตรวจคุณภาพน้ำจากครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบัน พบว่าสารพิษเริ่มแผ่ขยายวงกว้างออกไปหลายจุดตลอดพื้นที่เส้นทางน้ำ ทั้งฝั่งแม่น้ำกก และแม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ใน จ.เชียงราย และจุดที่ดูจะสร้างความวิตกกังวลไม่น้อย คือการที่สารพิษได้แพร่ออกสู่ “แม่น้ำโขง” บริเวณ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อันเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประชาชน ๗ จังหวัด

แม้ว่าอุบัติการณ์ครั้งเลวร้ายนี้จะดูเหมือนหนังม้วนเก่า แต่รายละเอียดของปัญหานั้นซับซ้อนยิ่งกว่า และวงพื้นที่ของความเสียหายไม่ได้จำกัดแค่ในอำเภอเดียวแบบที่เคยผ่านมา ด้วยความยาวตลอดฝั่งแม่น้ำกก แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก ไปจนถึงแม่น้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่มหาศาล เฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำกกมีประมาณ ๗,๘๙๕ ตารางกิโลเมตร แน่นอนว่าย่อมจะกระทบชีวิตประชาชนอีกนับหมื่นนับแสน ที่พึ่งพิงและอาศัยอยู่ตลอดฝั่งแม่น้ำ

จากข้อมูลเบื้องต้นของทางการ พบว่า แม้ปริมาณความเข้มข้นของสารพิษจะเกินค่ามาตรฐาน แต่ก็ยังไม่อยู่ในระดับที่จะสร้างหายนะทางสุขภาพได้ ทว่า หากการเดินเครื่องของกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำยังคงรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ช้าก็เร็ว เศษซากกองสารพิษที่ทบทวีเพิ่มขึ้นทุกวันจากต้นทาง จะถูกฤดูน้ำหลากพัดพามายังสายน้ำปลายทางอย่างต่อเนื่อง

เมื่อปัญหาของเก่ายังไม่ทันซา ของใหม่ก็เข้ามาทับถมซ้ำเติม เพียงเท่านี้ก็คงจินตนาการได้ไม่ยากว่า ความเข้มข้นของสารพิษ และชะตากรรมชีวิตของประชาชนอีกนับไม่ถ้วนจะเป็นเช่นไร หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ยังไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาที่ไล่เรียงมาทั้งหมด มีช่องว่างอันใหญ่ที่ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการแก้ไข คือ ภาวะความไม่เชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาครัฐ ทั้งมิติการนำเสนอข่าวสาร รวมไปถึงการบริหารจัดการสถานการณ์ที่ล่าช้า จนนำมาสู่การชุมนุมประท้วงของชาวเชียงรายนับพันคน ที่เดินขบวนบริเวณกลางสะพานข้ามแม่น้ำกก เมื่อวันที่ ๕ มิ.ย. ๒๕๖๘ ที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยเรียกร้องให้มีการหยุดสร้างเหมืองแร่ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และเร่งแก้ไข ฟื้นฟูแม่น้ำให้เข้าสู่ภาวะปกติ

นักอนุรักษ์แม่น้ำโขงอย่าง นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ บอกกับกองบรรณาธิการสานพลังว่า หนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาคือภาครัฐต้องมีความเชื่อใจในภาคประชาชน ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา เพราะสถานการณ์นั้นมีความซับซ้อน เกินกว่าที่ภาครัฐจะดำเนินการได้เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งการขาดความร่วมมือจากทุกฝ่าย ได้นำมาซึ่งความรู้สึกคลางแคลงใจ ไม่เชื่อมั่นต่อสิ่งที่ภาครัฐนำเสนอ

“หากภาคประชาชนสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง นอกจากจะได้รับความเชื่อมั่น ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่สำนึกของความเป็นพลเมือง ในการติดตาม กำกับ ตรวจสอบการทำงานร่วมกับภาครัฐอีกด้วย” ปราชญ์ชาวบ้านเจ้าของรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี ๒๕๖๕ ระบุ

ขณะที่นักวิชาการอย่าง ผศ. ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย หนึ่งในสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงราย เล่าว่า ภาคีเครือข่ายจากสมัชชาฯ ได้ร่วมกันตัดสินใจว่าจะมีการจัดตั้ง “ศูนย์นโยบายสาธารณะและการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ กรณีแม่น้ำปนเปื้อนใน จ.เชียงราย” เพื่อบริหารจัดการข้อมูล และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะมิติการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ด้วยเล็งเห็นว่าการสื่อสารข้อมูลจากภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ยังขาดความเป็นเอกภาพ ไร้ทิศทาง และไม่บูรณาการการทำงานร่วมกัน

แน่นอนว่าการดำเนินงานศูนย์นโยบายฯ ดังกล่าว จะยึดหลักหัวใจสำคัญของเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่ชื่อว่า HIA นั่นคือหลักของกระบวนการการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และองค์กรภาครัฐอื่นๆ จะร่วมกันวิเคราะห์ สังเคราะห์ ข้อมูลจากหลากหลายทิศทางให้เป็นภาพเดียวกัน โดยต้องมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการ เพื่อส่งต่อข้อมูลที่จะนำไปสู่การแก้ไขเชิงนโยบายต่อไป

ท่ามกลางเสียงสะอื้นไห้ของแม่น้ำจากสภาวะสารพิษรุกคืบ และกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ภาครัฐกำลังขับเคลื่อนงานอย่างลำพัง เชื่อมั่นว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงจนเกิดกระบวนการสร้างการมีส่วนจากภาคประชาชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ตามหลักการของ HIA

ย่อมจะเป็นกลไกที่สำคัญ ในการปิดช่องว่างความไม่เชื่อมั่นที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ และจะเป็นฟันเฟืองหลักในการบริหารจัดการสถานการณ์ให้มีประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

 

NHCO Q&A