ประเทศไทย บทเรียนเรื่องผลกระทบของสารปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่


VIEW: 86   SHARE: 0     15-07-2025

น้ำคือ ชีวิต : มลพิษข้ามพรมแดน

แม่น้ำกกความยาวเกือบสามร้อยกิโลเมตรจากเมืองท่าขี้เหล็กในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา เข้าสู่ประเทศไทยที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงแสน เป็นสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมายาวนาน กระทั่งเมื่อต้นปีนี้น้ำในแม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่นข้นมากต่างจากทุกปี ตรวจพบสารหนูและตะกั่วปนเปื้อนในน้ำเกินค่ามาตรฐาน ชาวบ้านไม่กล้าใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค

น้ำที่เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของชุมชน ประชาชนใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ ทั้งน้ำกิน น้ำใช้ เป็นแหล่งอาหาร อาชีพต่างๆ การประมง เพาะปลูก การท่องเที่ยว เป็นทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ รายได้ วัฒนธรรม ฯลฯ       น้ำปนเปื้อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ทั้งหมดในระบบนิเวศ

เมื่อโลหะหนัก สารปนเปื้อนลงสู่น้ำ ต่อไปถึงดิน สัตว์ และมนุษย์ เป็นพิษสะสม อาจไม่เกิดโรคหรือแสดงอาการในทันที การกำจัดให้หมดไปต้องใช้เวลานาน

ประเทศไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษและสิ่งแวดล้อม ทั้งในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕๗ เน้นในเรื่องสิทธิและมีส่วนร่วม และ มาตรา ๕๘ เน้นการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ, พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕, พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕, พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐, พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐, พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม พ.ศ.๒๕๖๐

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ มาตรา ๕ บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มาตรา ๑๐ เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนเกิดขึ้น หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลและวิธีป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพให้ประชาชนทราบ มาตรา ๑๑ บุคคลมีสิทธิร้องขอให้มีการประเมินและมีสิทธิร่วมในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ

ประเทศไทย บทเรียนเรื่องผลกระทบของสารปนเปื้อนจากการทำเหมืองแร่ในหลายพื้นที่ เช่น สารหนู ที่ อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช, สารตะกั่วที่หมู่บ้านคลิตี้ จ.กาญจนบุรี, เหมืองสังกะสีที่แม่ตาว จ.ตาก, เหมืองทองอัครา จ.พิจิตร ฯลฯ มีองค์ความรู้เพียงพอที่จะรับมือกับกรณีของแม่น้ำกกได้ โดยต้องสานพลังความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐหลายกระทรวง ส่วนราชการต่างๆ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน

ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่ครั้งนี้แหล่งก่อให้เกิดมลพิษอยู่นอกประเทศ การจัดการยุ่งยากซับซ้อนมากกว่า สิ่งที่ต้องทำนอกจากการจัดทำระบบเฝ้าระวังทั้งทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมระยะยาว มีการเฝ้าระวังตรวจสารปนเปื้อนทั้งในน้ำ ในดิน ในสัตว์น้ำ ในอาหาร พืช ผัก ผลไม้ ในคน อย่างต่อเนื่องไปอีกหลายปี นำข้อมูลที่ถูกต้องต่อเนื่องเชื่อถือได้มาวิเคราะห์ สื่อสาร และวางแผนแก้ปัญหาร่วมกันในประเทศแล้ว ยังต้องหาวิธีการไปจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้นน้ำในประเทศเพื่อนบ้าน ให้เป็นระบบที่ดี มีมาตรฐาน ไม่ปล่อยสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ จะสร้างความร่วมมือ จะมีทางออกร่วมกันอย่างไร

ทิศทางการดำเนินธุรกิจทั่วโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance) การดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) และสังคม (Social) อย่างมีบรรษัทภิบาล (Governance) นอกจากนั้นพลังผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าหรือบริการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืนได้ เช่น ผู้บริโภคร่วมกันต่อต้านไม่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ ที่ใช้แร่ Rare earth จากเหมืองที่ก่อมลพิษ

ร่วมกันรักษาน้ำ คือ รักษาชีวิต ทุกคนมีบทบาท มีหน้าที่ในการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

NHCO Q&A