คืบหน้า! สร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย ปักหมุด จ.พะเยา พื้นที่นำร่องทดสอบ 4 แนวทางตามข้อเสนอ silver economy หวังออกแบบเศรษฐกิจ อาชีพและรายได้ เมื่อคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย ด้านรองเลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นฯ ระบุ เตรียมจัดสมัชชาฯ เฉพาะประเด็นในพื้นที่ คู่ขนานไปกับการทำข้อเสนอนโยบายระดับชาติ ชี้ถือเป็นการทำกระบวนการขาขึ้นข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปพร้อมๆ กับการวางแผนการขับเคลื่อนในพื้นที่ทันที โดยไม่ต้องรอเคาะมติชาติเสร็จ แล้วค่อยมาเคลื่อนเหมือนในอดีต
เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดเวทีถกแถลงนโยบายการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย (silver economy) ‘ร่วมกันคิดค้นและออกแบบเศรษฐกิจ อาชีพและรายได้ เมื่อคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย’ เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) จากหลากหลายหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยพะเยา สมาคมเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ฯลฯ ร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนวทางในการออกแบบนวัตกรรมต่อกรอบและขอบเขตประเด็นนโยบายสาธารณะเศรษฐกิจสูงวัย ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 27 – 28 พ.ย. 2568 นี้ ณ อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นการสร้างโอกาสใน Silver Economy เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้เป็นไปเพื่อถกแถลงร่างเอกสารกรอบแนวคิดในการพัฒนาประเด็นนโยบายการสร้างโอกาสในเศรษฐกิจสูงวัย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอประเด็นฯ ให้มีความครอบคลุมและรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยร่างดังกล่าวได้ผ่านการพัฒนาร่างเอกสารวิชาการ กระบวนการรับฟังความเห็นแบบมีส่วนร่วมและทบทวนเอกสาร จนเกิดเป็นขอบเขตการพัฒนาประเด็นใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การสร้างศักยภาพของผู้สูงอายุให้คงอยู่ในตลาดแรงงานและมีรายได้เพียงพอ 2. การสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงสินค้าและบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ 3. การสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและเป็นมิตร ทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น จังหวัด และประเทศชาติ 4. การสร้างการรับรู้และสื่อสารประชาสัมพันธ์ พร้อมกับข้อเสนอนโยบายที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน (Quick Wins)
น.ส.วรวรรณ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกหลายๆ เวที ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับชาติ เพื่อที่จะพัฒนา ปรับปรุง ข้อเสนอให้มีความรอบด้านมากยิ่งขึ้น พร้อมกับการจัดเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น Silver Economy ในจังหวัดนำร่อง คือ จ.พะเยา เพื่อให้ได้ข้อเสนอระดับจังหวัด และทดลองดูว่า 4 ขอบเขตที่กำหนดไว้ สามารถนำไปปรับใช้ในเชิงพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งถือเป็นการทำกระบวนการขาขึ้นข้อเสนอเชิงนโยบาย ไปพร้อมๆ กับการวางแผนการขับเคลื่อนในพื้นที่ทันที โดยไม่ต้องรอเคาะมติเสร็จ แล้วค่อยมาเคลื่อนมติเหมือนในอดีต
ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจที่สำคัญของการจัดสมัชชาสุขภาพคือกระบวนการมีส่วนร่วม มีความเป็นระบบในขั้นตอนต่างๆ และต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย โดยสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะเป็นแนวทางและกระบวนกลางๆ ที่จะทำให้เกิดกระบวนการย่อยในเวทีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสมัชชาฯ จังหวัด สมัชชาฯ เฉพาะประเด็น หรือระดับเขต ขนาบข้างไปพร้อมๆ กัน ซึ่งแต่ละเวทีก็จะสามารถเติมเต็มประเด็นซึ่งกันและกันได้
“การที่เราจะไปทำสมัชชาฯ ที่ จ.พะเยา เราก็ลองไปดูว่าที่นั่นเขาได้ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจสูงวัยกันไปบ้างแล้วหรือยัง และถ้ามีแล้วจะสามารถนำมาเชื่อมต่อกับข้อเสนอใหม่ทั้ง 4 แนวทางของสมัชชาฯ ระดับชาติได้มากน้อยแค่ไหน มีอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เมื่อทำไปสักระยะหนึ่งก็อาจจะได้คำตอบว่าแล้วทางจังหวัดมีข้อเสนออะไรเพิ่มกลับมายังระดับชาติหรือไม่ ดังนั้นโดยทิศทางก็จะเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นางมุกดา อินต๊ะสาร ประธานคณะทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา และประธานสมัชชาสุขภาพ จ.พะเยา กล่าวว่า จ.พะเยา มีความเข้มแข็งเรื่องการจัดทำกระบวนการสมัชาสุขภาพจังหวัดมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ก่อนมี พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยใช้พื้นที่ระดับตำบลเป็นฐาน มีความเป็นอิสระในการขับเคลื่อนตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ กระบวนเหล่านี้จึงถือเป็นฐานทุนที่แข็งแรงของ จ.พะเยา อย่างไรก็ดีหลังจากมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 จ.พะเยาก็ได้ทำงานร่วมกับ สช. มาตลอด และล่าสุด สช. ก็ได้มาชักชวนให้ทำสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น Silver Economy ซึ่งปัจจุบัน จ.พะเยา มีสัดส่วนผู้สูงอายุเกือบ 30% ของประชากรทั้งหมดในจังหวัด จึงสนใจที่จะร่วมด้วย
“หากเจาะลงไปในหลายตำบล เราจะพบว่ามีผู้สูงอายุเกินกว่า 40% ขึ้นไป เราจึงเห็นว่ากระบวนการของ สช. เป็นสิ่งที่ดีที่จะได้เชิญภาคีเครือข่ายทุกฝ่ายในจังหวัด ทั้งภาควิชาการ ผ่านสถาบันการศึกษาอย่าง ม.พะเยา ภาคส่วนท้องถิ่น อย่าง อบจ.พะเยา ภาคประชาสังคมอีกมากมาย รวมไปถึงผู้ประกอบการภาคเอกชน เข้ามาระดมความเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย ที่จะใช้ในการพัฒนาและยกระดับสังคมสูงวัยในพะเยา และปลายทางที่เราอยากเห็น คือสิ่งที่เสนอไปได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการเป็นประธาน” นางมุกดา กล่าว
นางจุฑามาศ โมฬี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะภาคเหนือ สช. ในฐานะคณะทำงานฯ และเลขานุการร่วม กล่าวว่า กลุ่มที่เข้าร่วมในวันนี้ถือว่าเป็นกลุ่มไข่แดงที่มีบทบาทโดยตรงกับการพัฒนาประเด็นเศรษฐกิจสูงวัย ซึ่งถัดจากนี้จะมีการขยายวงรับฟังความคิดเห็นไปสู่ไข่ขาว ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีการรับฟังความเห็นประเด็น Silver Economy ในระดับชาติช่วงเดือน ส.ค. 2568 ถัดจากนั้นในเดือน ต.ค. 2568 ก็จะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในระดับภาค ร่วมกับการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นพลังงานสะอาด ก่อนที่จะนำทั้งหมดเข้าสู่งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 18 ต่อไป