เตรียมพร้อมก่อนเหินฟ้า! ถก ‘ความมั่นคงอาหาร’ เวทีโลก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   กระทรวงเกษตรฯ จับมือ สช. และภาคีเครือข่าย เปิดวงรับความคิดเห็นระดับชาติ “National Dialogue” นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูล-จัดทำแนวทาง ก่อนเข้าร่วมประชุม “UN Food System Summit” เดือน ก.ย.นี้ ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมเตรียมการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ (zoom meeting) โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาติ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
 
   สำหรับ “ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต” เป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2563 โดยมีหลักการสำคัญคือ มุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนของสังคมมีการจัดการร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าในทุกภาวะวิกฤต ประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองสิทธิในอาหาร เข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ ได้อย่างเป็นธรรม
 
   ทั้งนี้ มติดังกล่าวครอบคลุม 5 ประเด็นย่อย ประกอบด้วย 1.สิทธิในอาหาร เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศไทยที่ต้องได้รับการปกป้อง ดูแล และคุ้มครอง 2. ใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายใน พ.ศ.2568 ประเทศไทยมีความพร้อมและสามารถจัดการอาหารในภาวะวิกฤตได้ 3.การพัฒนาระบบอาหารให้พร้อมรับภาวะวิกฤต ครอบคลุมเรื่องการผลิต การสำรอง การกระจาย การแลกเปลี่ยน และการแบ่งปันอาหาร 4.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบดูแลประชากรเปราะบาง และประชาชนที่ขาดความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต 5.การพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเพื่อความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤต
 
   นางสาวยุพดี เมธามนตรี นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ผู้แทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กษ.อยู่ระหว่างเตรียมประเด็นข้อเสนอ “Food System Transformation” ของประเทศไทย ไปนำเสนอในเวทีโลก “UN Food System Summit” เดือนกันยายนนี้ ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็น “National Dialogue” หรือการรับฟังความคิดเห็นระดับชาติ โดย กษ.จะประสานความร่วมมือกับ สช. เพื่อร่วมดำเนินการต่อไป
 
   “กระทรวงเกษตรฯ เป็นภาคียุทธศาสตร์ในการจัดทำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเรื่องนี้อยู่แล้ว ฉะนั้น การขับเคลื่อนก็จะสัมพันธ์โดยตรงกับมติสมัชชาสุขภาพฯ ส่วนการเปิดรับฟังความคิดเห็นระดับประเทศนั้น เบื้องต้นอาจไม่ได้ครอบคลุมเรื่องจำนวนคน แต่จะเน้นไปที่ผู้มีบทบาทสำคัญกับการขับเคลื่อนงานโดยตรง” นางสาวยุพดีกล่าว
 
   สำหรับประเด็นสำคัญที่ประชุมเห็นพ้องร่วมกัน คือ การมุ่งเน้นไปที่ “Food System Transformation” ซึ่งประกอบด้วย สิทธิในอาหาร ระบบสำรองและกระจายอาหาร และการสร้างระบบภูมิคุ้มกันรองรับภาวะวิกฤต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยระหว่างนี้ทีมวิชาการจะช่วยกันจัดทำข้อเสนอ และหยิบยกบทเรียนที่ดีจากพื้นที่ขึ้นมาสนับสนุน โดยเปิดพื้นที่ให้ตัวแทนชุมชน ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน เข้ามาร่วมพัฒนาข้อเสนอด้วย
 
   นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันทั่วโลก โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุการณ์โรคโควิด-19 แพร่ระบาด ที่มีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมหาศาล สำหรับประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตอาหาร แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อคือ จะสามารถกระจายอาหารให้ปลอดภัย ทั่วถึง และเป็นธรรมได้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทั้งของภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
 
   “มติสมัชชาสุขภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ทุกระดับ และหากมีการผลักดันให้มีการนำเสนอวาระดังกล่าวในเวทีประชาคมโลกได้ ก็ยิ่งช่วยเสริมแรงให้การขับเคลื่อนมีพลัง สร้างความรู้ความเข้าใจได้มากขึ้น” นางทิพย์รัตน์ กล่าว
 
   นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2564 นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ ว่า ต้องขับเคลื่อนให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่การผลักดันในระดับนโยบาย คือ การบัญญัติเรื่อง “สิทธิในอาหาร” ไว้ในรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งกำหนดหลักการไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวมถึงผลักดันให้เกิดกฎหมายและมาตรการหนุนเสริม อาทิ มาตรการทางภาษี มาตรการทางการเงิน ฯลฯ รวมถึงจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้และระบบรองรับการดำเนินงาน ตลอดจนพัฒนาระบบการจัดการร่วมกันเชิงนโยบายสู่การปฏิบัติ เพื่อประสานการทำงานให้สอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างองค์การภาคีเครือข่าย ที่สำคัญคือการสื่อสารสังคมเพื่อทำให้ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตเป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
 
   “สำหรับการจัดประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ จะจัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ สำนักงาน TOT กรุงเทพมหานคร โดยประเด็นหลัก (ธีม) ของงานจะเชื่อมโยงและสอดคล้องกับปีที่ผ่านมา คือ “พลังพลเมืองตื่นรู้ ... สู้วิกฤตสุขภาพ” ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางอาหารในภาวะวิกฤตในมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างนโยบายสาธารณะที่ครอบคลุมและยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง” นพ.ประทีป กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147

รูปภาพ
ความมั่นคงอาหาร
ความมั่นคงอาหาร
ความมั่นคงอาหาร