เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘พลัง’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปลี่ยน ‘ภาระ’ เป็น ‘พลัง’

กขป.เขต ๔ ร่วมพัฒนาสังคมสุขภาวะ

 

… สุภาภรณ์ ดำรงพันธ์

 

สังคมไทยได้ตระหนักถึงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งในด้านกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม และเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางประชากรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนประชากรที่มีอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป

อีกด้านหนึ่ง ผู้สูงวัยที่กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ซึ่งเป็นประชากรในวัยพึ่งพิงที่ต้องการการดูแลจากรัฐและครอบครัว ถือเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ ประเทศไทยจำเป็นต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างอายุขัยที่ยืนยาวและสุขภาพที่ดี เพื่อสร้างโอกาสสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ก้าวหน้า

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ ส่งผ่านมาจากเขตสุขภาพที่ ๔ โดยข้อมูลในปี พ.ศ. ๒๕๖๗ ระบุว่า ร้อยละ ๙๖.๗๕ ของผู้สูงอายุที่ไม่มีภาวะพึ่งพิงจะต้องมีการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง โดยการส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี และการมีมาตรการขับเคลื่อนสังคมสูงวัยร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและท้องที่ นอกจากนี้ ยังมีการจัดระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิง โดยการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เพื่อให้ผู้สูงอายุมีบทบาทเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ให้ และผู้ทำประโยชน์ให้นานที่สุด

หลักคิดและความเป็นไปได้ของระบบสุขภาพอย่างยั่งยืนในระดับสังคมผู้สูงอายุ (Aged Society) เป็นประเด็นที่คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนทั้ง ๑๓ เขต กำหนดเป้าหมาย แผนงาน หรือการทำงานร่วมกันของหน่วยงานและองค์กรในเขตพื้นที่

วิสัยทัศน์การดำเนินงานของคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ ๔ โดย นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขตพื้นที่ ๔ มุ่งเน้นให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยในเขตพื้นที่ ๔ มีสุขภาวะที่ดีและอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากร โดยตั้งเป้าหมายในปี พ.ศ. ๒๕๖๘ การขับเคลื่อนในปัจจุบันจะเน้นการทำงานแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะรวมองค์กรต่างๆ ทั้งภาคราชการ ภาควิชาการ/วิชาชีพ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อบูรณาการการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างมีพลัง ส่งเสริมการพัฒนาระบบสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ

 

1

 

กลยุทธ์ “ชี้ช่องส่องตะเกียง” จะขับเคลื่อนการทำงานร่วมกับภาคียุทธศาสตร์และภาคีปฏิบัติการ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเน้นการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลังที่สามารถดูแลกันเองได้ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ป้องกันปัญหาภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ และให้กลุ่มคนพิการและกลุ่มเปราะบางเข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับ รวมถึงการเชื่อมโยงแผนขับเคลื่อนกิจกรรมปฏิรูปด้านสาธารณสุข (Big Rock) ใน ๘ จังหวัดของเขตสุขภาพที่ ๔ ซึ่งมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

. การบูรณาการแผนการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลอำเภอท่าวุ้ง คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอท่าวุ้ง ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรี สมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรี และกขป.เขตพื้นที่ ๔ มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกลุ่มเปราะบางในชุมชน

. การเชื่อมแผนงานกับ สปสช.เขต ๔ สระบุรี ปี ๒๕๖๘ เพื่อผลักดันกองทุนดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และกลุ่มคนเปราะบาง โดยใช้กลไกการพัฒนาคุณภาพชีวิตในระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล เพื่อชี้ช่องทางการแก้ไขตามสถานการณ์พื้นที่

นพ.สันติ ลาภเบญจกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นผู้พัฒนา 'ลำสนธิโมเดล'  รูปแบบการดูแลผู้ป่วยสูงวัยด้วยพลังของชุมชน กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และผู้อื่น พร้อมทั้งต้องมีความมุ่งมั่นในการช่วยเหลือ การลงไปสัมผัสและดูแลชุมชนเป็นสิ่งสำคัญ กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต้องคิดหาวิธีการใหม่ในการเสริมสร้างสุขภาวะในชุมชน และวางระบบการสานพลังเพื่อดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ พร้อมเตรียมความพร้อมรับรองสังคมสูงวัยในทุกมิติ

 “ความสำคัญของการดูแลผู้สูงอายุคือต้องลงมือทำทันที ตามบทบาทภารกิจ ทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์กับพื้นที่และสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่น และต้องมีความกระหายอยากจะช่วยประกอบกับการที่ได้ลงไปสัมผัสได้เห็นรับผิดชอบดูแลชุมชน และพื้นที่ตำบลต้องมองว่าเราจะวางทิศทางอย่างไรเพื่อให้คุณภาพชีวิตและสุขภาพดีขึ้น จึงมีความจำเป็นที่กรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต้องคิดทบทวนหาวิธีการใหม่ๆ ในการสร้างเสริมสุขภาวะในชุมชน/พื้นที่ และการวางระบบการสานพลังเพื่อเป็นการผนึกกำลังสร้างร่วมไม้ร่วมมือเข้าไปดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ”

นพ.สันติ กล่าวแลกเปลี่ยนถึงบทบาทความร่วมมือที่ไม่ใช่ภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยพลังจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวต้อง โดยรัฐทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นโดยพื้นฐานของชุมชนประจำหมู่บ้าน ทีมสุขภาพหมอประจำตัว ทีมนักบริบาลชุมชน ที่มีมากกว่านั้น น่าจะเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมมาช่วยกัน รวมถึงบทบาทของกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชนต้องมองเป็นโมเดลหนึ่ง ในการขยับขยายวิธีคิดอะไรต่างๆ ต้องมีการพิสูจน์ให้เห็นว่าทำจริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทฤษฎี แต่ต้องทำให้เกิดการอยากทำอย่างต่อเนื่อง เพราะเขตสุขภาพเพื่อประชาชนเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม และสร้างแรงบันดาลใจให้พื้นที่มีความเข้มแข็ง

รศ.ดร.กาสัก ต๊ะขันหมาก สมัชชาสุขภาพจังหวัดลพบุรีและประธานคณะทำงานอาหารปลอดภัย กขป.เขตพื้นที่ 4 กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนา จ.

ลพบุรี โดยนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ในโครงการต่างๆ เช่น “บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง” และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและส่งเสริมความสัมพันธ์ในชุมชน

ในปี ๒๕๖๕ ที่ประชากรมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การเตรียมความพร้อมของประชากรทุกช่วงวัยจึงเป็นวาระสำคัญของระดับชาติ  โดยนำหลักการและคุณค่าของกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะระดับพื้นที่ที่เน้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม อาศัยพลังของ ๓ ภาคส่วนที่เป็นพลังปัญญาและเป็นต้นทางของการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายสาธารณะคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย  เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีและคุณภาพชีวิตในจังหวัดลพบุรี สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด “ลพบุรีเมืองน่าอยู่ ด้วยสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอาหารปลอดภัย และท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”  

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อมร่วมกันจากคนทุกช่วงวัย โดยต้องตระหนักถึงการสร้างสุขภาวะที่ครอบคลุมทุกมิติ มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้นและเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเติบโต ด้านเศรษฐกิจจะต้องมีหลักประกันที่มั่นคงทั้งด้านการดำรงชีวิตและการเงิน เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและคุณภาพ ภารกิจของ กขป.เขตพื้นที่ ๔ คือการดึงพลังของชุมชนเพื่อเปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” ขับเคลื่อนการดูแลคนทุกช่วงวัยให้เกิดการดูแลซึ่งกันและกัน ไม่ละเลยกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง