ย่างเข้าสู่เดือนพฤศจิกายน ใครหลายคนคงรอคอยการมาเยือนของลมหนาว และเตรียมอำลาฤดูฝนที่ตกลงมาอย่างหนักหน่วงในช่วงที่ผ่านมา
จนถึงวันนี้ ในหลายพื้นที่ของจังหวัดภาคเหนือยังคงอยู่ในระยะของการฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ทั้งการล้างโคลน การซ่อมแซมบ้าน และการดูแลเศษซากเรือกสวนไร่นาที่เสียหาย จนยากที่จะจินตนาการว่าเกษตรกรเหล่านี้ จะประคับประคองนาวาแห่งชีวิตให้รอดพ้นไปถึงฤดูกาลเพาะปลูกครั้งถัดไปได้อย่างไร
ณ ตำบลชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ พบเจอบริบทไม่ต่างกัน มีประชาชนได้รับความเสียหายกว่า ๑,๕๐๐ ครัวเรือน บ้านเรือนจำนวนไม่น้อยอยู่ในกระบวนการซ่อมแซม พื้นที่ทางการเกษตร เช่น สวนลำไย และนาข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
ทว่าภายใต้วิกฤตการณ์ที่คนชมภูได้เผชิญมีบางสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การนำมาบอกต่อ “นิตยสารสานพลัง” จึงเต็มใจที่จะชักชวนท่านผู้อ่านติดตามเรื่องราวและวิธีคิดของ พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ อดีตผู้ใหญ่บ้าน ม.๔ ตำบลชมภู ที่ก้าวผ่านประสบการณ์อุทกภัยครั้งนี้ มาพร้อมๆ กับดอกผลที่จะเบ่งบานในอนาคตอันใกล้
“ช่วงกลางวัน ก็ยังดีๆ กันอยู่ ถ่ายรูป ถ่ายคลิปลงโซเชียล ตื่นเต้นที่ได้เห็นน้ำกัน เพราะไม่คิดว่าจะท่วมหนัก แต่พอกลางคืน น้ำมาแรงและเร็วจนตั้งตัวกันแทบไม่ทัน” พ่อหลวงอนันต์ เริ่มต้นการสนทนาด้วยการเล่าย้อนเหตุการณ์ในวันที่น้ำไหลเข้าท่วมชุมชน
“ส่วนใหญ่คนเฒ่าคนแก่จะบอกให้ลูกหลานที่ยังต้องไปโรงเรียน ไปทำงาน ให้ออกไปพักนอกพื้นที่ แต่ตัวเองไม่ยอมไป จะอยู่บ้าน เราจึงพบผู้สูงอายุหลายรายติดอยู่ที่บ้าน ขณะที่น้ำล้อมไว้รอบทิศแล้ว”
พ่อหลวงอนันต์ ฉายภาพความโกลาหลในช่วงค่ำคืนของปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภัยพิบัติที่ปรากฏในเหตุการณ์ครั้งนี้คือผลกระทบจากมวลน้ำระลอกสอง ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากมวลน้ำระลอกแรกเข้าท่วมพื้นที่ แต่ในระลอกแรกนั้นไม่หนัก แตกต่างจากระลอกสองที่เอ่อล้นจากแม่น้ำปิง ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของชุมชน จนสร้างความเสียหายร้ายแรง เพราะพื้นที่ อ.สารภี เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ ขนาบข้างด้วยแม่น้ำทั้งสองฝั่ง จึงกลายเป็นแอ่งกระทะรับน้ำไปโดยปริยาย
เช้าตรู่ของวันถัดมา จึงเกิดการระดมกำลังคนในชุมชน เพื่อเร่งให้การช่วยเหลือและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ และผู้พิการ ออกจากบ้านเรือนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ได้จัดตั้งขึ้นทั้งหมด ๗ ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์บริการคนพิการตำบลชมภู โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพญาชมภู (รพ.สต.บ้านพญาชมภู) โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา ศูนย์ซ่อมสร้างและยืมคืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ตำบลชมภู (อยู่ในพื้นที่ของ รพ.สต.บ้านพญาชมภู) ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน (หน้าวัดศรีดอนมูล) เทศบาลตำบลชมภู และศากลางหมู่บ้านบ้านแม่สะลาบล
“ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น จะไม่มีการแบ่งแยกว่าพื้นที่ไหนอยู่ในความรับผิดชอบของใคร เราทำงานร่วมกัน ชาวบ้านที่เดือดร้อนสามารถไปยังศูนย์พักพิงที่ใกล้บ้านที่สุดได้ทันที ในแต่ละศูนย์พักพิงมีแม่ครัวคอยทำกับข้าวแจกจ่าย วัตถุดิบก็นำมาจากที่ชาวบ้านช่วยกันหามา ใครมีเงินก็ลงเงิน ใครมีแรงก็ลงแรง ช่วยเหลือกันตามกำลัง ก็อยู่กันอย่างนั้นเกือบ ๒ สัปดาห์ จนน้ำเริ่มลด จึงค่อยๆ ทยอยกันกลับบ้าน”
ในวันที่อุทกภัยเดินทางมาเยือนอย่างหนักหน่วงเกินกว่าจะต้านทาน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนชมภูรอดพ้นจากสถานการณ์วิกฤตมาได้ คือต้นทุนของชุมชน โครงข่ายทางสังคมที่เข้มแข็ง ชาวบ้านและผู้นำชุมชนต่างระดมการช่วยเหลือซึ่งกันและกันอย่างแข็งขัน โดยไม่รั้งรอหน่วยงานภายนอก
เป็นลักษณะของชุมชนพึ่งพาตนเอง ที่เกิดการสานพลังจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่ขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่วนรวมมาอย่างยาวนานจนกลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่เข้มแข็งของชาวตำบลชมภู
- แน่นอน ต้นทุนเหล่านี้ ไม่ได้อุบัติขึ้นโดยปราศจากรากฐานความเป็นมา
ย้อนกลับไปยัง การเกิดขึ้นของ “ธรรมนูญสุขภาพผู้สูงอายุและคนพิการ ๒๕๖๐ ตำบลชมภู” ที่ได้กลายเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม อันเป็นเจตนารมณ์กติกา พันธสัญญา และข้อตกลงร่วมกันของชาวตำบลชมภู รวมถึงภาคีเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเป็นกรอบแนวทางการส่งเสริมบทบาท และสร้างสุขภาวะทางกาย จิต สังคม ในผู้สูงอายุและผู้พิการ
นำมาสู่การจัดตั้งศูนย์บริการคนพิการและผู้สูงอายุ และศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์การแพทย์และซ่อมสร้างกายอุปกรณ์ตำบลชมภู ซึ่งเป็นพื้นที่ในการดูแลคนพิการและผู้สูงอายุแบบครบวงจร ให้ผู้ป่วยที่กลับจากโรงพยาบาล ได้มีอุปกรณ์การแพทย์ ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่เป็นอยู่ โดยนำคนพิการที่มีทักษะทางช่าง มาทำหน้าที่ซ่อมแซมอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนพิการได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่สะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังในการดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการของชาวตำบลชมภู คือ โรงพยาบาลสารภีบวรพัฒนา ที่ก่อตั้งขึ้นจากความร่วมมือระหว่างบ้าน(ชุมชน) วัด และโรงพยาบาลสารภี โดยได้รับได้งบสนับสนุนส่วนใหญ่มาจากพระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อย เตชปญฺโญ)
เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล ผู้ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน และประชาชนในละแวกใกล้เคียง
วัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานพักฟื้นผู้ป่วยหลังภาวะเฉียบพลัน หลังผ่าตัด หรือที่เรียกว่าการบริการระยะกลาง (Intermediate care) ซึ่งเป็นการฟื้นฟูผู้ป่วยที่พ้นระยะรุนแรงที่ต้องดูแลโดยแพทย์ (acute care)
แต่ยังมีปัญหาและต้องการการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้สามารถกลับไปดำรงชีวิตประจำวันที่บ้านได้ โดยไม่เป็นภาระแก่ครอบครัวมากเกินไป
รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น รพ.สต. เทศบาลตำบลชมภู และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ที่ร่วมกันผนึกกำลังในการดูแลสุขภาวะให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งต้นทุนเหล่านี้ ได้กลายเป็นโครงข่ายสำคัญในการรับมืออุทกภัยครั้งใหญ่ของชาวชุมชนตำบลชมภู
“พอน้ำมา เรามีฐานข้อมูลกลุ่มคนเปราะบางหมดแล้ว ทั้งคนพิการ คนสูงอายุ ว่าเขาอาศัยอยู่ที่บ้านหลังไหน อยู่ตรงไหนของชุมชน แต่ละคนสามารถชี้จุด และสื่อสารให้อาสาสมัครที่เขามาช่วยเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจากบ้าน ไปยังศูนย์พักพิงชุมชนได้ทันที”
พ่อหลวงอนันต์ ให้รายละเอียดต่อไปอีกว่า ในสถานการณ์ปกติ แต่ละหน่วยย่อยที่ทำงานทางสังคมในพื้นที่ ต่างก็ทำตามบทบาทหน้าที่ของตัวเองไป ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ จึงร่วมกันสานพลังด้วยกันทุกฝ่ายในการระดมทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือกันในยามวิกฤต
แต่ก็ใช่ว่าการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ปรากฏรายละเอียดของปัญหา
“ปัญหาที่พบ คือต่างคนต่างฟังข่าวน้ำท่วมในรูปแบบของตนเอง ซึ่งมีที่มาจากหลายแหล่ง บางคนก็กลายเป็นสื่อ คอยรายงานเหตุการณ์ด้วยมือถือของตัวเอง ทิศทางของข้อมูลมันมั่วไปหมด ประชาชนไม่รู้จะฟังใครดี มันไม่มี Single Command ที่คอยรายงานสถานการณ์เหมือนตอนโควิด”
พ่อหลวงอนันต์ กล่าวสรุปรวบยอดใจกลางของปัญหาออกมาอย่างกระชับ เพราะสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้การบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ภายในชุมชน ในระหว่างการอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงของชาวบ้าน ดำเนินไปอย่างไม่เป็นระบบมากนัก
นำมาสู่แนวคิดในการจัดตั้ง “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนชมภู” ที่ได้ดำเนินงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่าย ภายใต้ภารกิจศูนย์นโยบายสาธารณะและรองรับภัยพิบัติ (KTL Center) เพื่อให้เป็นพื้นที่กลางในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และบัญชาการเหตุการณ์ในยามเผชิญกับภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ปกติ ศูนย์ภัยพิบัติฯ จะต้องมีการเตรียมความพร้อม ทั้งในด้าน Knowledge and Information (ความรู้และข้อมูล) Training (การฝึกฝนให้เกิดสัญชาติญาณ) และ Learning (การเรียนรู้) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรับมือกับสถานการณ์จริง
“ภัยพิบัติ มันไม่ได้มีแค่น้ำท่วม แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งโรคระบาด แผ่นดินไหว ภัยแล้ง ฝุ่นควัน PM ๒.๕ เหล่านี้ ล้วนเป็นภัยพิบัติทั้งนั้น และเราพบเจอมันบ่อยขึ้นทุกวันๆ ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนชมภู ตั้งขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์พวกนี้ด้วย” พ่อหลวงอนันต์ ให้นิยาม
ในรายละเอียดเบื้องต้นของการเตรียมการ ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนชมภู จะจัดตั้งขึ้น ณ ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ตำบลชมภู ซึ่งอยู่บริเวณหน้าวัดศรีดอนมูล และพ่อหลวงอนันต์ยังได้คลี่รายละเอียดของแผนปฏิบัติการที่ครอบคลุมทั้ง ๔ ระยะ ได้แก่ การป้องกัน การเตรียมการ การตอบโต้ และการฟื้นฟู
- ระยะการป้องกัน ที่จะต้องมีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการระดมความคิดเห็น และร่วมกันออกแบบแนวทางการป้องกันภัยพิบัติ เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่อาจดำเนินการได้เพียงชุมชนใดชุมชนหนึ่ง แต่จะต้องร่วมกันขับเคลื่อนในทุกๆ ชุมชน และทุกๆ องคาพยพ
- ระยะการเตรียมการ ขณะนี้ทางชุมชนชมภู ได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนวิชาการ ทั้งจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะเข้ามาส่งเสริมการจัดทำแผนที่ทางกายภาพ เพื่อทำให้ทราบถึงรายละเอียดเชิงลึกของพื้นที่ เช่น ลักษณะทางน้ำของแม่น้ำ ลำห้วย ระดับความลึกในแต่ละจุด เป็นต้น และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการเข้ามาพัฒนาแอปพลิเคชันระบบเตือนภัย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ รวมไปถึงการจัดทำข้อมูลทะเบียนบุคลากรจิตอาสา ที่จะทำให้ทราบถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงานอย่างชัดเจนในยามเผชิญภัยพิบัติ
- ระยะการตอบโต้ คือการซักซ้อมแผนในการรับมือภัยพิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดสัญชาติญาณในการเผชิญเหตุ ไม่เกิดภาวะลนลานหรือขาดสติ ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่วันมานี้ ทางชุมชนได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่กู้ภัยมาอบรมความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียน ถึงทักษะในการเอาตัวรอดในสถานการณ์น้ำท่วม เช่น การปั๊มหัวใจ (CPR) และทักษะเบื้องต้นในการช่วยเหลือคนตกน้ำ เป็นต้น
“ชุมชนชมภู เรามีปฏิทินทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ซึ่งจะมีงานการกำหนดงานประเพณีไว้ครบทั้ง ๑๒ เดือน เช่น งานกินข้าวใหม่ งานลอยกระทง งานสงกรานต์ ที่นี้เราก็เอาพวกนี้มาปรับใช้ เป็นปฏิทินการรับมือภัยพิบัติบ้าง กำหนดให้ครบทั้ง ๑๒ เดือนเหมือนกัน พอหน้าหนาวมาเราก็เตรียมรับมือภัยหนาว หน้าร้อน ก็มีเหตุการณ์ฝุ่น PM ๒.๕ พอหน้าฝน เป็นเรื่องไข้เลือดออก น้ำท่วม ของพวกนี้มันคาดการณ์ได้ เราก็ซักซ้อม เตรียมความพร้อมไว้ในทุกสถานการณ์ภัยพิบัติ”
- สุดท้ายคือ ระยะการฟื้นฟู ซึ่งกำลังสอดคล้องกับสถานการณ์ของชุมชนชมภูในเวลานี้ ที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาของการฟื้นฟู โดยมีกำลังสำคัญคือ ทีมช่างจากศูนย์ยืมคืนอุปกรณ์การแพทย์และซ่อมสร้างกายอุปกรณ์ตำบลชมภู กว่า ๒๐ คน ซึ่งแผนของการฟื้นฟู คือการเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการใช้งานซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม หรือภัยพิบัติอื่นๆ ในอนาคต
“เวลาเผชิญภัยพิบัติในชุมชน ในระยะเร่งด่วน ไม่ต้องรอคอยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานข้างนอก อะไรที่ชุมชนช่วยเหลือและพึ่งพากันได้ ระดมกำลังช่วยเหลือกันก่อน บ้านไหนมีมีดเอามีดมา ใครมีจอบ มีเสียม เอาจอบเอาเสียมมา เดี๋ยวหลังจากนั้นรถแทรกเตอร์จะตามมาเอง”
ทั้งหมดนี้คือภาพการลุกขึ้นมาจัดการตนเองของชุมชน อันเป็นหลักประกันความมั่นคงหนึ่ง แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรมั่นคงเลยก็ตาม
- 34 views