เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองจังหวัดพะเยา ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มหาวิทยาลัยพะเยา สำนักงานสาธารณสุขพะเยา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และภาคีเครือข่ายจังหวัดพะเยา ได้จัดเวทีพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพะเยา จากบทเรียนและความตระหนักร่วมในการรับมือภัยพิบัติ” ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ณ หอประชุมสหกรณ์การเกษตรอำเภอเมืองจังหวัดพะเยา และในช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ตำบลบ้านต๊ำ และชุมชนสันแกลบดำ เพื่อดูระบบบริหารจัดการชุมชนจากช่วงเกิดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 80 คน จาก 27 ภาคีเครือข่าย
การจัดเวทีในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้
1. เพื่อเปิด "พื้นที่กลาง" ที่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมกันปรึกษาหารือและวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ และสะท้อนให้เห็นถึงบทเรียนสำคัญในด้านต่าง ๆ ทั้งในโครงสร้าง ระเบียบ กฎหมาย ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมระดับชุมชนและท้องถิ่น
2.เพื่อร่วมกันเสนอแนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะในการจัดการคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำยม ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติบ่อยครั้ง การเสนอนโยบายจะรวมถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เช่น ธรรมนูญลุ่มน้ำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ และแผนรับมือภัยพิบัติที่เป็นระบบ เป็นต้น
3.เพื่อหารือแนวทางการยกระดับศูนย์จัดการภัยพิบัติ โดยมีเครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคีต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการจัดการ และให้การสนับสนุนในยามเกิดเหตุ
นายแพทย์อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ คสช. ได้กล่าวสนับสนุนการถอดความรู้และบทเรียน ซึ่งมาจากประสบการณ์ตรงของคนในชุมชน ที่ผ่านช่วงวิกฤติภัยพิบัติ เพื่อร่วมกันพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่นำไปเคลื่อนทั้งเชิงนโยบายและระดับพื้นที่โดยท่านได้ย้ำให้คนพะเยารักษาต้นทุนที่ดีได้แก่ เมืองแห่งการเกษตรและผืนป่าอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ผลิตอาหารปลอดภัย คนสุขภาพดี และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ
ทางด้าน นายนิกร ยะกะจาย นายอำเภอเมืองพะเยา ได้กล่าวในช่วงเปิดว่า “ภัยพิบัติทำให้คุณภาพชีวิตคนเปลี่ยนไป และการบริหารจัดการของหน่วยงานเองก็ต้องปรับตัวตาม ซึ่งต้องไม่แยกส่วนการทำงาน แม้จะมีกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติที่เขียนไว้ แต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน จึงจะฝ่าวิกฤติรับมือได้ในอนาคต”
ในปี 2567 นี้จังหวัดพะเยา ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ทำให้มีปริมาณน้ำในกว๊านพะเยาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านเรือนที่อยู่อาศัย รวมถึงพื้นที่การเกษตรของประชาชนในจังหวัดพะเยาจนได้รับความเสียหาย ทำให้พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเกิดน้ำท่วมขังและสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภค รวมถึงทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่
ขณะที่ ช่วงกลางคืนของวันที่ 17 และ 22 กันยายน 2567 เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากบริเวณชุมชนแม่กา ด้านหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ที่ประกอบด้วยบ้านเรือน หอพักนักศึกษาและร้านค้า น้ำได้หลากและท่วมบ้านเรือนประชาชนและหอพัก ส่งผลต่อความเสียหายทั้งที่อยู่อาศัย รถยนต์ รถจักรยานยนต์
สถานการณ์ภัยพิบัติดังกล่าว ได้เป็นข้อมูลนำเข้า ให้ผู้ร่วมเวทีได้วิเคราะห์ศักยภาพ ต้นทุนดี และร่วมกันมองถึง “ภัยทางด้านธรรมชาติและภัยอื่นๆ โดยร่วมกัน “ปักหมุดทั้งเรื่องดีและร้ายลงในแผนที่” ที่จะเกิดในพะเยา ซึ่งพบว่า ทั้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง การบริหารจัดการกว๊านที่ต่างหน่วยงานต่างถือกฎหมายไม่เป็นเอกภาพ การเปลี่ยนแปลงความเป็นเมือง โครงการก่อนสร้างขนาดใหญ่ การปรับสภาพพื้นที่การเกษตร และการปลูกพืชเชิงเดี่ยว จะทำให้ภัยพิบัติในพะเยารุนแรงขึ้น
ช่วงที่เป็นการถอดความรู้และประสบการณ์ตรง ในช่วงที่ผ่านมา ได้ใช้คำถามสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ บทบาทและสิ่งที่ได้ลงมือทำ สิ่งที่ทำได้ดี สิ่งที่ยังเป็นข้อติดขัดหรือปัญหา และถ้าเกิดภัยขึ้นอีกจะต้องทำอะไรก่อนเพื่อลดผลกระทบและความสูญเสีย
นายประดิษฐ์ เลี้ยงอยู่ ซึ่งนำกระบวนการช่วงดังกล่าว ได้สรุปภาพรวมสำคัญ เช่น สิ่งที่ได้ลงมือทำ เช่น ตั้งครัวกลาง อาหาร ยา การช่วงกระจายข่าว การสนับสนุนข้อมูลและลงไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบภัย สิ่งที่ยังเป็นปัญหาส่วนใหญ่จะซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือ อาหารไม่ทั่วถึงและไม่เหมาะสม ขาดการสื่อสารทันท่วงที ส่วนสิ่งที่ต้องทำก่อนถ้าภัยจะมาอีก ได้แก่ การเตรียมชุมชน เครือข่ายรับมือภัยพิบัติ ทั้งความรู้ การซ้อมแผน การมีกองทุนจัดการภัยพิบัติ มีระบบครัวกลางและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการปรับระเบียบกฎหมายไม่ซ้ำซ้อน
ในส่วนของการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายและการร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตคนพะเยา จากภัยพิบัติ มีข้อเสนอสำคัญจากช่วง Policy forum ซึ่งดำเนินการพูดคุยโดยนายบัณฑิต มั่นคง ผู้ชำนาญการ สช. มีข้อเสนอสำคัญของวิทยากร ดังนี้
นางฉัตรศิริ พิสิษฐ์กุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา มีข้อเสนอสำคัญได้แก่ “หนุนทุกชุมชนมี node หรือ team ที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังและเตือนภัยที่เกิดขึ้นทุกๆ ด้าน, เครือข่ายพะเยาร่วมกัน mapping คนและเครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ร่วมอย่างจริงจัง ผลักดันรูปแบบการสื่อสารในภาวะวิกฤติ
ดร.สหัทยา วิเศษ สถาบันปวง เครือข่ายสภาลุ่มน้ำอิง มีข้อเสนอดังนี้ “คนพะเยาต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องผลกระทบของ Climate change มีแผนตั้งรับปรับตัว และผังภัยพิบัติ ต้องพัฒนากลไกความร่วมมือที่ประกอบด้วยความรู้ ข้อมูลและการจัดการร่วมที่ดี และสุดท้ายต้องรักษาผืนป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำให้สมดุล”
ผศ. อุดม งามเมืองสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา “เสนอด้านการพัฒนาและยกระดับกลไกการบริหารจัดการและรับมือภัยพิบัติทั้งก่อนและระหว่างเกิด เสนอให้สถาบันวิชาการสนับสนุนความรู้ งานวิจัยและบทเรียนสำคัญเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ รวมถึงร่วมกับท้องถิ่นปรับปรุงข้อบัญญัติให้เหมาะสมกับพื้นที่”
นายบดินทร์ ทิพยมณฑล จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพะเยา “ให้ภาคประชาชนร่วมกับ อปท. ทบทวนแผนจัดการภัยพิบัติ สนับสนุนความรู้และการอบรม ทักษะการเอาตัวรอดในช่วงเกิดภัย พร้อมทั้งสนับสนุนทรัพยากรอย่างทันท่วงที”
นายวิชิต ถิ่นวัฒนากูล สภาลมหายใจจังหวัดพะเยา มีข้อเสนอดังนี้ “ทบทวนมาตรการและนโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นการต่อยอดแปรรูปวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มีคณะกรรมการภัยพิบัติทุกระดับ ใช้ Technology เชื่อมต่อข้อมูล”
ครูมุกดา อินต๊ะสาร ผู้แทนเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา “ยกระดับศูนย์จัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและภาคี เสนอการพัฒนาและบริหารจัดการกว๊านพะเยาให้เป็นพื้นที่พิเศษ จัดการแบบคนพะเยา และยกระดับจากข้อตกลง/ธรรมนูญกว๊านพะเยาให้มีชีวิต
การจัดเวทีพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต่อการจัดการคุณภาพชีวิตคนพะเยา ว่าด้วยบทเรียนและการตระหนักในการรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้น จึงมีความสำคัญ ที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมจัดการอย่างจริงจัง ช่วยให้การบริหารจัดการภัยพิบัติในจังหวัดพะเยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปบทเรียนที่ได้ เป็น 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนเกิดภัย ต้องมีความพร้อมทั้งข้อมูลชุมชน คนกลุ่มวัยต่างๆ ทักษะความรู้ ระยะเกิดภัย ต้องมีการช่วยเหลือทันท่วงที รวดเร็ว สื่อสารครบถ้วนและมีระบบการช่วยเหลือของชุมชนหนุนเสริม ส่วนช่วงหลังเกิดภัย ต้องทบทวนแผนบรรเทาฯ สร้างสภาพแวดล้อมที่ลดผลกระทบ สร้างความรอบรู้ ความตระหนัก และขยายเครือข่ายการทำงานให้ครบทุกภาคส่วน
ซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพะเยา ด้วยกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ต้องอาศัยการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ให้มี “พื้นที่กลางหรือพื้นที่พูดคุย” ในการวิเคราะห์ข้อมูล ผลกระทบที่ส่งผลต่อการเกิดภัยพิบัติทั้งทางด้านสุขภาพและสังคมที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งโครงสร้าง ระเบียบกฏหมาย การสร้างต้นแบบเชิงนโยบาย นวัตกรรมในระดับรูปธรรมในระดับชุมชน ท้องถิ่น
ในช่วงท้ายเวทีได้มีการประกาศเจตนารมณ์และทิศทางสำคัญในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตคนพะเยาจากภัยพิบัติ โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้
1. ร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกมิติ สร้างพื้นที่กลางสำหรับแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ข้อมูล สะท้อนบทเรียนร่วมกัน ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจและการจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
2. สนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ตอบโจทย์ เน้นการจัดการภัยพิบัติในเขตลุ่มน้ำอิงและลุ่มน้ำยม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อความยั่งยืนและความเป็นธรรมต่อประชาชนในพื้นที่
3. เสริมศักยภาพของศูนย์จัดการภัยพิบัติโดยชุมชนและภาคี ให้มีความสามารถในการฟื้นฟูและเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ภัยพิบัติในอนาคต ลดความเสี่ยงในการเกิดภัยพิบัติซ้ำรอย รวมถึงพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ ด้วยการสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจึงขอสัญญาว่าจะสนับสนุน ทั้งความรู้ การปฏิบัติการและการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่พี่น้องพะเยา ให้มีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง มีชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และให้คนทุกคนที่อยู่และมาเยือนพะเยา สามารถดำรงชีวิตอย่างปลอดภัยและมีสุขภาวะดี
สรุป : บัณฑิต พรทิพย์ / ภาพ : วันเพ็ญ อภิลภัสร์ ทีม eoc. สช.
- 19 views