สำหรับผู้ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจหรือแวดวงธุรกิจ คงจะคุ้นชื่อของ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ เป็นอย่างดี ในฐานะผู้บริหารมากความสามารถ ซึ่งตลอดระยะเวลามากกว่า ๔๐ ปีที่โลดแล่นอยู่ในภาคเอกชน ดร.สัมพันธ์ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการในคณะกรรมการชุดสำคัญระดับชาติหลายชุด มีบทบาทสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงมานักต่อนัก
ทว่าใน “แวดวงสุขภาพ” แล้ว ชื่อของ ดร.สัมพันธ์ อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักสักเท่าใด แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าท่านจะใหม่ต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะ ดร.สัมพันธ์ มีประสบการณ์ตรงในการ “ทำเรื่องใหญ่” ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) มาแล้ว
มากไปกว่านั้น ตลอดปี ๒๕๖๗ ไปจนถึงปี ๒๕๖๘ “ดร.สัมพันธ์” ยังได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ดสุขภาพของประเทศไทย ให้ดำรงตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ครั้งที่ ๑๗ และครั้งที่ ๑๘ อีกด้วย
ห้วงเวลา ๒ ปี ในการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ภายใต้การนำของ ดร.สัมพันธ์ โดยมีกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่ได้รับรองไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเครื่องมือ จะมุ่งขับเคลื่อนไปสู่ “เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างสุขภาวะไทยยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นประเด็นหลัก (Theme) ของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ และ ๑๘
ดร.สัมพันธ์ เคยกล่าวเอาไว้ว่า เศรษฐกิจยุคใหม่หลังจากนี้ จำเป็นจะต้องคิดเชื่อมโยงไปถึงมิติของสังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพ ให้เกิดความยั่งยืน … หากไม่ทำในแนวทางนี้ สุดท้ายแล้ว “จะไปไม่รอด”
นิตยสารสานพลังฉบับนี้ เชิญชวนทุกท่านร่วมทางไปกับบทสนทนา ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ที่สะท้อนถึงวิธีคิด และทิศทางของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๗ - ๒๕๖๘
- เศรษฐกิจ – สุขภาพ มองแยกกันไม่ได้อีกต่อไป
ดร.สัมพันธ์ ให้ภาพว่า หากเรามองย้อนหลังไปถึงเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีต ย่อมเผชิญทั้งรูปแบบของการดำเนินกิจการที่ดี และรูปแบบอีกหลายกรณีที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะธุรกิจที่มุ่งสร้างประโยชน์ในเชิงของผลกำไร แต่กลับทิ้งไว้ซึ่งร่องรอยผลกระทบต่อผู้คนและสังคม
นั่นทำให้ช่วงที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นโมเดลความเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจของโลกที่มุ่งไปสู่เรื่องของความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) หรือปัจจัยการค้ากำหนดสุขภาพ (Commercial Determinant of Health) รวมถึงกระแส Disruption ที่เกิดขึ้นตลอดในช่วง ๕ - ๑๐ ปีที่ผ่านมา ที่ทุกคนเริ่มเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ กับสังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงสุขภาพ อย่างเป็นเนื้อเดียวกันมากขึ้น
“การวางวิสัยทัศน์หรือเป้าหมายของการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน หากไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) คงไปไม่รอด ทั้งสองเรื่องนี้จะต้องจูงมือไปด้วยกัน อย่างในระยะสั้นเราอาจต้องมองถึงการเดินหน้าที่ช้าลง เศรษฐกิจอาจเติบโตไม่มากนัก แต่จะเดินไปควบคู่กับสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจนั้นเกิดความยั่งยืนที่ยาวนานขึ้นได้” ดร.สัมพันธ์ ให้มุมมอง
ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจ ที่เข้าไปมีบทบาทร่วมอยู่ในกลไกทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาควิชาการ หลากหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ ดร.สัมพันธ์ จึงได้ให้ข้อมูลสถิติหนึ่งถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบัน ที่มีความแตกต่างระหว่าง ‘อายุคาดเฉลี่ย (LE)’ กับ ‘อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (HALE)’ อยู่ราว ๖ - ๗ ปี
เขาอธิบายว่า ในขณะที่อายุขัยเฉลี่ยของคนเราสามารถอยู่ได้ยืนยาวขึ้น แต่นั่นยังสวนทางกับช่วงเวลาของการมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพที่ดี ซึ่งช่องว่างที่แตกต่างกันอยู่ ๖ - ๗ ปีนี้ คือระยะเวลาช่วงบั้นปลายสุดท้ายที่เต็มไปด้วยความเจ็บป่วยก่อนที่คนๆ หนึ่งจะเสียชีวิต และต้องได้รับการดูแลรักษา อันจะตามมาด้วยภาระทางค่าใช้จ่ายของครอบครัว สังคม ประเทศ ตลอดจนการสูญเสียวัยแรงงานที่ถูกใช้ไปกับการดูแลด้วย
ตัวเลขดังกล่าวยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์สังคมสูงวัย ผนวกกับอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลลัพธ์จากสมการดังกล่าว คือจำนวนแรงงานที่จะสร้างผลิตภาพและเม็ดเงินให้กับประเทศกำลังลดน้อยลง สวนทางกับค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่จะทะยานสูงขึ้น ฉะนั้นแล้วปลายทางของเรื่องนี้จึงกลายเป็นวิกฤตปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว
- บทบาท ‘เศรษฐกิจ’ ในเวทีสมัชชาสุขภาพฯ
ดังนั้นแล้วบทบาทของภาค ‘เศรษฐกิจ’ ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาได้นั้น คือการเข้ามาหนุนเสริมภาค ‘สุขภาพ’ ได้มากขึ้น โดยเขายกตัวอย่างถึงสินค้าเครื่องดื่มหลายชนิดในปัจจุบันที่มีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ก็อาจใช้ยุทธศาสตร์ทางราคาสร้างแรงจูงใจเพื่อให้คนเลือกซื้อมาบริโภคได้มากขึ้น หรือห้างสรรพสินค้าซึ่งส่วนใหญ่ใช้พื้นที่มุ่งเน้นไปในเชิงของเศรษฐกิจ ก็อาจสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการสละพื้นที่ภายในห้าง ให้เป็นพื้นที่เพื่อสุขภาวะของผู้คนได้มากขึ้น
นอกจากนี้เขามองว่าในปัจจุบัน ตามบริษัท สถานประกอบการ หรือโรงงานต่างๆ หลายแห่งเอง ก็มีตัวอย่างของการให้ความสำคัญ มีความห่วงใยต่อสุขภาพของพนักงาน เช่น ระบบวิธีการทำงานที่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือสุขภาพของพนักงาน ระเบียบเวลาการทำงาน ข้อกำหนดการทำงานล่วงเวลา (OT) ที่ไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพของพนักงานตามมาในภายหลัง เป็นต้น
“เราอยากเห็นสังคมที่ขับเคลื่อนด้วยการมีทัศนคติ มีมุมมองที่เชื่อมโยงเรื่องของเศรษฐกิจและสุขภาพไปด้วยกัน พร้อมดึงตัวอย่างดีๆ ในสังคมเหล่านี้ออกมาบอกเล่า แบ่งปัน แนะนำเป็นวิธีคิดในการทำธุรกิจ ให้เกิดการต่อยอดขยายไปสู่วงกว้าง”
“พร้อมกันนั้นอยากให้ภาคเอกชน เจ้าของธุรกิจมีทัศนคติที่ยั่งยืน มองในระยะยาว นั่นจะทำให้เขาเห็นเองว่าการทำเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงมิติทางสุขภาพ สังคม หรือสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะปัจจุบันระบบการค้าของโลกเอง ก็กำลังใช้เรื่องเหล่านี้มากดดันภาคธุรกิจที่ดำเนินกิจการโดยไม่คำนึงถึงคนรอบข้างมากขึ้น” ดร.สัมพันธ์ ระบุ
ในส่วนกระบวนการที่จะเข้ามาใช้แก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่าง ‘สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ’ ดร.สัมพันธ์ มองว่านี่เป็นแพลตฟอร์มที่ดี ด้วยการดำเนินงานที่มีมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี มีทีมงานที่เข้มแข็ง มีภาคีที่เหนียวแน่น แต่โจทย์สำคัญที่ คจ.สช. ครั้งที่ ๑๗ – ๑๘ ได้หารือกัน คือจะทำอย่างไรให้เรื่องราวและข้อเสนอดีๆ จากสมัชชาสุขภาพฯ นี้ สามารถสร้างให้เกิดความสำเร็จในการขับเคลื่อนเชิงนโยบายได้มากขึ้น
เขาระบุว่า ส่วนหนึ่งของวิธีการดังกล่าว คือการให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าในเชิงประเด็นหรือเชิงพื้นที่ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนานโยบายตั้งแต่ต้น ซึ่งจะทำให้เกิดพันธสัญญา และความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของประเด็น นอกจากนี้ยังจะมุ่งเน้นในเรื่องของการทำงานข้ามภาคส่วน ที่ต้องใช้พลังและความแตกต่างระหว่างภาคส่วนที่หลากหลายเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนด้วย
พร้อมกันนั้นภายใต้สถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว เขายังมองไปถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ รวมถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการสมัชชาสุขภาพฯ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น โดยเน้นย้ำถึงประเด็นสำคัญคือเรื่องของ ‘ผลิตภาพ (Productivity)’ เพราะว่าเมื่อจำนวนคนในประเทศไม่ได้เพิ่มขึ้น เราก็จำเป็นจะต้องเพิ่มผลิตภาพของแต่ละบุคคลให้มากขึ้น เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นได้
- ๔ ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ ๑๗ - ๑๘
สำหรับประเด็นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อให้เป็นระเบียบวาระในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ ดร.สัมพันธ์ ให้ข้อมูลว่าขณะนี้มี ๒ มติที่แน่นอนแล้วว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณา ได้แก่ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ” และ “การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจไทยยั่งยืน”
ในประเด็นแรก ดร.สัมพันธ์ ระบุว่า จะเป็นการขยายมุมมองต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระบบสุขภาพ ซึ่งกว้างกว่าแพทย์หรือพยาบาลที่เราคุ้นเคย แต่หากเราสามารถเสริมพลังและความเข้มแข็งทางด้านสุขภาพให้กับคนที่อยู่นอกภาคสาธารณสุข รวมถึงคนในสังคมได้มีองค์ความรู้ มีความเข้าใจ มีแรงจูงใจ และเห็นประโยชน์ของการเข้ามาร่วมมีบทบาทในการดูแลสุขภาพแนวใหม่ ก็จะมีส่วนช่วยให้ประเทศเกิดผลิตภาพที่สูงขึ้นได้
“ตามหลักของการดูแลสุขภาพ ต้องเริ่มจากความแข็งแรงของตัวเราเองก่อน จากนั้นจึงมองไปถึงคนรอบข้าง สร้างการดูแลร่วมกันในครอบครัว ชุมชน สังคม สิ่งเหล่านี้สามารถพัฒนาต่อให้เกิดเป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ที่สร้างมูลค่าได้ด้วย เช่น สถานที่ดูแลผู้สูงวัย Care Center เล็กๆ ในระดับชุมชน เป็นต้น ขณะเดียวกันการดูแลให้คนมีสุขภาวะที่ดี ก็จะช่วยลดช่องว่าง ๖ - ๗ ปีในอายุคาดเฉลี่ยกับการมีสุขภาพดีให้น้อยลง ส่งผลลัพธ์ที่ตอบโจทย์ในด้านเศรษฐกิจไปได้ด้วย” ดร.สัมพันธ์ อธิบาย
ส่วนประเด็นถัดมา ดร.สัมพันธ์ ระบุว่าเรื่องของการท่องเที่ยวนั้น แน่นอนว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเรื่อยมา ซึ่งการหนุนเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเข้าไปมากขึ้น ก็จะช่วยให้จุดแข็งที่มีอยู่นี้เกิดความยั่งยืนต่อไปอย่างยาวนาน
ประธาน คจ.สช. กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง ๒ ระเบียบวาระกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนา ที่ทั้งหมดจะได้ออกมาเป็นร่างมติเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในช่วงเดือน ต.ค. ๒๕๖๗ ก่อนที่ภาคีเครือข่ายต่างๆ จะได้มาให้การรับรองร่วมกันบนเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ - ๒๘ พ.ย. ๒๕๖๗ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
ดร.สัมพันธ์ กล่าวว่า นอกจากการรับรองระเบียบวาระทั้ง ๒ มติแล้ว ภายในเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ยังได้มีการจัดกิจกรรม “ตลาดนัดนโยบายสาธารณะ” เป็นพื้นที่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอ แลกเปลี่ยนกระบวนการนโยบายสาธารณะ และประเด็นทางสังคมต่างๆ ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรมการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์แนวใหม่ ที่จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ออกไปให้เกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างมากขึ้นด้วย
“หลักๆ แล้วในสมัชชาสุขภาพฯ ครั้งนี้ เราอยากชวนให้ทุกคนมาดูว่าจริงๆ แล้วเศรษฐกิจกับสุขภาพจะจับมือเดินหน้าไปด้วยกันได้ไหม และเชื่อว่าเมื่อเราผูกสองเรื่องนี้เข้าด้วยกัน ก็จะทำให้ได้เห็นหน้าตาของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมากขึ้นพอสมควร ที่จะมาร่วมขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลง ซึ่งการทำงานในเชิงของประเด็นช่วง ๒ ปีนี้ เราก็จะทำการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มากขึ้นตั้งแต่ต้น เพราะไม่อยากให้เกิดเป็นภาพของนโยบายที่ส่วนกลางคิด คนในพื้นที่ทำ แต่เราอยากดึงประเด็นที่คนทั้งประเทศได้ช่วยกันคิดออกมา เพื่อให้ส่วนกลางเข้าไปตอบสนอง ซึ่งนี่ก็คือสิ่งที่เข้มแข็งของกระบวนการสมัชชาฯ นั่นคือการรวมพลังจากพื้นที่ขึ้นมา เป็นพลังใหญ่ให้เกิดการขับเคลื่อนเชิงนโยบาย” ดร.สัมพันธ์ ระบุ
นอกจาก ๒ วาระข้างต้นแล้ว ประธาน คจ.สช. เผยว่ายังมีอีก ๒ ประเด็นที่กำหนดไว้อยู่ในขอบเขตเตรียมที่จะพัฒนาเป็นระเบียบวาระในปีถัดไป ได้แก่ “การเข้าถึงและการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างมีส่วนร่วมและสร้างสรรค์” และ “การสร้างโอกาสและมูลค่าร่วมใน silver economy” อย่างไรก็ตามจะยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกระแสสังคม ที่สามารถมีเรื่องใหม่ที่มีความพร้อมมากกว่าเข้ามาแทน โดยขณะนี้ทาง คจ.สช. ยังคงเปิดกว้างพร้อมรับประเด็นต่างๆ ที่จะเข้ามาสอดรับกับสถานการณ์ได้ต่อไป
- 29 views