ผู้แทน WHO ชี้ ‘ไทย’ ยืนหนึ่งในภูมิภาค มีการประเมินผลกระทบสุขภาพทุกระดับ ‘วีระศักดิ์’ แนะใช้ ‘HIA’ แก้ไขปัญหาหมอกควัน | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

ผู้แทน WHO ประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก ปาฐกถาพิเศษในงาน “HIA FORUM 2567” ชี้ “ไทย” เป็นประเทศเดียวในภูมิภาค ที่มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ สอดคล้องทิศทาง ‘เมืองสุขภาพดี’ ขององค์การอนามัยโลก ด้าน ‘วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ ชี้ ใช้ HIA หนุนหาทางออกจากปัญหาหมอกควันภาคเหนือได้

 

เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA FORUM) ประจำปี 2567 “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA เพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) ตลอดจนประเด็นปัญหาสุขภาพสำคัญของพื้นที่ภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ทั่วประเทศ

 

2

 

ดร.สุวจี กู๊ด ที่ปรึกษาระดับภูมิภาคด้านการสร้างเสริมสุขภาพและปัจจัยทางสังคมกำหนดสุขภาพ องค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เมืองสุขภาพดีตามนโยบายขององค์การอนามัยโลก” ตอนหนึ่งว่า เมืองสุขภาวะเป็นกรอบแนวคิดขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งหมายถึงเมืองที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชน สังคม ความเป็นธรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหัวใจของนโยบายท้องถิ่น รวมไปถึงยุทธศาสตร์และโครงการต่างๆ ที่มีหลักแนวคิดเคารพสิทธิทางสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งในเวลานี้ ประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในภูมิภาค ที่มีการทำการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ HIA ครอบคลุมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ

ดร.สุวจี กล่าวว่า นโยบายสาธารณะเป็นสิ่งที่ WHO ให้ความสำคัญมาก และได้เน้นย้ำเรื่องนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 2015 โดยนำเสนอวิธีการทำงานในระดับท้องถิ่น ให้มีการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยเน้นย้ำการมองประเด็นทางสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวม เมืองสุขภาวะจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาว่าเมืองควรจะมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสภาพให้เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน ผ่านความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาคประชาชน บนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง วิเคราะห์ปัญหาด้วยข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ จนนำมาสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน

 

3

 

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีต รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และ อดีต สว. ในฐานะคณะทำงานพิจารณาศึกษา ร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “มลพิษกับ พ.ร.บ.อากาศสะอาดกับการมีส่วนร่วมของสังคมไทย” ตอนหนึ่งว่า ความคืบหน้าของการเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ฉบับ ได้มีการเสนอเข้าไปยังสภาผู้แทนราษฎรแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดย พ.ร.บ.อากาศสะอาด อาจเทียบเคียงเป็นกระบวนการ HIA ได้รูปแบบหนึ่ง แต่อยู่ในระดับเบื้องต้น เพราะในกระบวนการยังเต็มไปด้วยระบบระเบียบราชการอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีการใส่เครื่องมืออื่นๆ เช่น เครื่องมือทางการปฏิบัติ เครื่องมือในการประเมิน เครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน มาใช้ในการขับเคลื่อนภารกิจอากาศสะอาดด้วย

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า หัวใจหลักของร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด คือกลไกการแก้ปัญหาเพื่อ ‘ดับไฟในใจผู้จุด’ ด้วยการการสร้างแรงจูงใจไม่ให้จุดไฟ โดยอาจใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์สร้างแรงจูงใจว่า บุคคลใดไม่จุดไฟจะได้ผลตอบแทนอะไร รวมไปถึงการบริหารจัดการในพื้นที่ที่มีอำนาจทับซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน เพื่อไม่ให้เกิดพื้นที่เกรงใจในการปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการลดต้นทุนในการผลิตของตนเองด้วยการเผาแทนวิธีการอื่นๆ ซึ่งเชื่อว่างานศึกษาที่ใช้ฐานวิทยาศาสตร์เป็นที่ตั้ง และใช้ HIA เป็นเครื่องมือประเมิน จะช่วยให้เรามีทางออกและมีความหวังเกี่ยวกับเรื่องอากาศสะอาดในประเทศไทย

 

4

 

ภายในงานเดียวกัน ยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหาหมอกควัน ทางออกอยู่ที่ไหน” โดย น.ส.ลักขณา ไชยคำ ผู้ใหญ่บ้านบ้านปางยาง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า หมู่บ้านปางยางมีลักษณะพื้นที่เป็นหุบเขาล้อมรอบ จึงได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่นควันทุกครั้งในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. จนทำให้มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเกิดการเสียชีวิตในทุกปี จึงอยากขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกในการช่วยสนับสนุนเครื่องกรองอากาศ รวมถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพของชาวบ้าน เพราะส่วนใหญ่มักพบต่อเมื่ออาการหนักแล้วและเสียชีวิตในเวลาไม่นาน

 

3

 

น.ส.ลักขณา กล่าวว่า สิ่งที่อยากบอกคนในเมืองคือบางครั้งคนที่อยู่บนดอยนั้นไม่ได้อยากเผา และพยายามช่วยทุกวิถีทางแล้วเพื่อไม่ให้เกิดไฟ แต่ก็ยังมีกลุ่มคนที่อยากเผาและแอบลักลอบอยู่ ทำให้การเข้าถึงและไปตามดับนั้นทำได้ยาก จึงมองว่าการใช้มาตรการอย่างแอปพลิเคชัน FireD น่าจะช่วยให้การจัดการด้านไฟป่าทำได้ดีขึ้น เข้าไปช่วยกันเผาในแต่ละจุดและทำให้จบภายในวันเดียวเลย ดีกว่าให้ไปแอบเผาและต้องตามไปดับทีหลัง

นายสุภพ กันธิมา ปลัดเทศบาลตำบลแม่นะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ ต.แม่นะ มีประชากรเกือบ 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ประสบปัญหาหมอกควันไฟป่าในทุกปี การเผาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากพื้นที่ภายนอก ทางตำบลก็ใช้วิธีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนช่วยดูดซับ บรรเทาความรุนแรงของปัญหาลง ขณะเดียวกันก็มีการเฝ้าระวังประชาชน จัดทำห้องปลอดฝุ่น แจกหน้ากากอนามัย ด้านสุขภาพก็มีพันธมิตรจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยงานด้านสุขภาพต่างๆ มาบูรณาการดำเนินงาน ใช้งบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามาช่วยสนับสนุน

 

4

 

รศ.ดร.สมพร จันทระ ประธานคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า มช. มีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนผ่านการพัฒนานวัตกรรม เช่น Low Cost Censor อุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นอย่างง่าย ที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและเฝ้าระวังสถานการณ์ได้ละเอียดขึ้น หรือเครื่องฟอกอากาศอย่างง่ายที่ใช้กล่องลังกระดาษ

นอกจากนี้ มช. ยังได้ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน FireD เพื่อเป็นทางออกของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง จัดระเบียบการขออนุญาตจุดไฟเผา แทนการดำเนินมาตรการแบบเดิมที่ห้ามเผาโดยเด็ดขาด ซึ่งอาจไม่ประสบผลสำเร็จและยังพบการละเมิดอยู่ แต่การจัดระเบียบการเผาอย่างถูกต้องจะช่วยให้สามารถควบคุมได้ดีขึ้น โดยใช้เกณฑ์จากการพยากรณ์สภาพอากาศ อนุญาตในช่วงที่อากาศระบายตัวได้ดี อย่างไรก็ตามจุดอ่อนคือเมื่อกระจายอำนาจการอนุญาตเผาลงไปในมือท้องถิ่นแล้ว ก็จะต้องเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่ให้มีองค์ความรู้เพียงพอต่อการพิจารณาไม่ให้กระทบกับคนในพื้นที่ด้วย

 

4

น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย สธ. กล่าวว่า สธ. ได้ดำเนินงานเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันทั้ง 3 ระยะ ตั้งแต่ต้นทาง มีความพยายามร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อหาแนวทางลดการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิด การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Healthy Cities) ส่วนกลางทาง จะดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง สื่อสารแจ้งเตือน สร้างความรอบรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง (Health Literacy) และปลายทาง เมื่อมาถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ก็จะจัดบริการด้านสาธารณสุข รักษาฟื้นฟู ดูแลสุขภาพกลุ่มเสี่ยงต่อไป (Health Care)

น.ส.นัยนา กล่าวว่า อยากเรียกร้องคือการนำดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพ (AQHI) มาใช้ในการแจ้งเตือนป้องกันสุขภาพประชาชน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาตรฐานที่เหมาะสมกับบริบทของไทย จากนั้นจะนำไปทดลองใช้เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับ ก่อนที่จะสามารถพัฒนาเป็นเครื่องมือและระบบรายงานที่นำมาใช้ในการปกป้องสุขภาพประชาชนได้ต่อไป

 

5

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา เลขานุการคณะทำงานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า สภาลมหายใจเชียงใหม่ เป็นขบวนการภาคประชาสังคมที่รวมตัวกัน ร่วมกันออกแบบแนวทาง แก้ไข เผชิญหน้า ประเมินผล และสรุปบทเรียนไปด้วยกัน ซึ่งก็มีความสำเร็จที่ทำให้จุดความร้อนในช่วงหลังลดลง โดยทุกวันนี้ก็ไม่มีใครบอกว่าจะเลิกการเผาให้เหลือศูนย์ เพราะเราเข้าใจดีถึงความจำเป็นของการใช้ไฟในวิถีชีวิตของการอยู่กับเกษตร การอยู่กับป่า แต่ส่วนที่ไม่จำเป็นก็ต้องช่วยกันลดให้ได้มากที่สุด และส่วนอื่นที่ยังต้องการร่วมกันทำให้เกิดขึ้น คือการแก้ไขปัญหาสิทธิชุมชน การเพิ่มศักยภาพทั้งทักษะและเครื่องมือของเจ้าหน้าที่ดูแลป่า รวมถึงการทำให้ประชาชนเข้าถึงการคัดกรองสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องของมะเร็งปอด ที่หากพบเร็วก็มีโอกาสรักษาหายได้มากกว่า

 

รูปภาพ