ความมุ่งมั่นเพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นวาระสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะ ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ ในวันที่ ๑๖ ก.พ. ๒๕๖๗
ด้วยชื่อของประธานคณะกรรมการฯ อย่าง นพ.โสภณ เมฆธน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผู้มากประสบการณ์ที่ผ่านการบริหารมาแล้วทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง จึงนับเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะมาร่วมกำกับกระบวนการดำเนินภารกิจที่สำคัญครั้งนี้
--- สู้แบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว ---
จากประสบการณ์ยาวนานของแพทย์ที่ผ่านงานปฏิบัติทั้งในโรงพยาบาล ข้ามผ่านเส้นทางของการบริหารในรั้ว สธ. มาถึงวันนี้เขายืนยันว่าโรค NCDs เป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพคนไทยมาโดยตลอด และแนวโน้มยังมีแต่จะมากขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าจะเคยมีมาตรการ แผนงาน หรือโครงการของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนเพียงใด แต่ก็ต้องยอมรับว่าไม่ได้เกิดความต่อเนื่อง และยังไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้
นพ.โสภณ ระบุว่าต้นตอหลักของปัญหาขณะนี้ยังคงเป็นเรื่องของ ‘พฤติกรรม’ ด้วยสภาพสังคมที่ทำให้คนเราเนือยนิ่งกันมากขึ้น ไม่ค่อยออกกำลังกาย แม้แต่เวลาในการทำอาหารรับประทานเองก็น้อยลง ต้องไปเลือกซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ทานง่าย ในอีกทางหนึ่งก็เป็นผลจาก ‘สภาวะแวดล้อม’ เช่น ร้านค้าหรือร้านอาหารต่างๆ ที่ทำรสชาติออกมาเค็ม หวาน หรือให้พลังงานแคลอรี่มากเกินไป จนกลายกันเป็นความเคยชิน
ฉะนั้นเมื่อสู้ด้วยมาตรการแบบเดิมไม่ได้ผล ก็ต้องนำมาสู่การเปลี่ยนกลวิธีใหม่ ซึ่งในครั้งนี้มาด้วยรูปแบบกลไกของการ ‘สานพลัง’ ที่จะดึงเอาบทบาทจากทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผ่าน มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ
นพ.โสภณ อธิบายว่า สิ่งที่ต้องการจากมติดังกล่าว คือให้ทุกคนตระหนักว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ และออกมาช่วยกันขับเคลื่อนได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรอ สธ. เพียงฝ่ายเดียว หากแต่ใครมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นในเชิงของกฎระเบียบ (Regulations) หรือการให้ความรู้ (Health Literacy) เช่น กระทรวงการคลัง ออกมาตรการภาษีความเค็ม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ใช้ระบบแคลอรี่เครดิตมาหนุนให้คนออกกำลังกาย ฯลฯ
ไปจนถึงภาคธุรกิจ เอกชน ร่วมออกมาตรการที่จะดูแลให้พนักงานในองค์กรสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น มีเงินส่วนหนึ่งให้ไปเข้าฟิตเนสได้เป็นสวัสดิการ หรือไปปรับสภาพแวดล้อมสถานที่ทำงาน ตลอดจนในระดับชุมชนท้องถิ่น ก็อาจดูแลสภาพแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง เช่น เพิ่มสวนสาธารณะออกกำลังกาย กำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าอาหาร เป็นต้น
“อย่างปัจจุบันที่มีกระแสเรื่องของการรักษาโรคเบาหวาน จากเดิมที่คนคิดว่าหากเป็นแล้วจะต้องเป็นไปตลอดชีวิต มาวันนี้บอกว่าเป็นแล้วสามารถหายได้ หยุดยาได้ แต่คุณก็จะต้องออกกำลังกาย ลดน้ำหนักให้ได้ พวกนี้ก็เป็นกระแสที่ดีที่เราสามารถเกาะเกี่ยว และสร้างการมีส่วนร่วมให้คนหันมาดูแลตัวเองกันได้มากขึ้น” นพ.โสภณ เสริมมุมมอง
--- เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย 3 หลักการ ---
ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ยังลงรายละเอียดไปถึงมาตรการใหม่ๆ ภายใต้มตินี้ เช่นที่มีการพูดถึงใน ๓ หลักการอย่าง เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม กลไกเครดิตทางสังคม และ กลไกการคลังสร้างแรงจูงใจ ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบเสริมที่เข้ามาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางกายภาพและสังคม ให้เอื้อต่อการลดโรค NCDs ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแบบเดิมที่มีอยู่ได้
“เช่นเวลาเราไปซื้อกาแฟแล้วสั่งว่าไม่หวาน เมื่อร้านค้าไม่ได้ใส่น้ำตาล ต้นทุนลดลง ทำไมราคายังเท่าเดิม เหมือนที่นำแก้วไปเองแล้วบางร้านมีลดราคาให้ ถ้าเราสั่งไม่หวานแบบนี้ลดราคาได้ไหม หรืออย่างการซื้ออาหารเพื่อสุขภาพ ทำไมกลายเป็นของราคาแพง พวกนี้คือเรื่องที่มีกลไกการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องมาพูดคุยและหาทางช่วยกัน”
“หรือในเรื่องของเครดิต ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับคาร์บอนเครดิตในการลดโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จูงใจให้หน่วยงานต่างๆ มาปลูกต้นไม้เพิ่ม ปัจจุบันเราเองก็มีเครื่องมือที่ดีอย่างแคลอรี่เครดิต ที่จูงใจให้คนออกกำลังกาย สะสมคะแนนมาแลกเป็นของรางวัลต่างๆ ได้ ก็อาจต่อยอดไปเพิ่มแรงจูงใจในแง่ของสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แต่ละบุคคลด้วยได้”
“เช่นเดียวกับการกระตุ้นในระดับหน่วยงาน องค์กร ถ้าเขามีมาตรการที่ช่วยส่งเสริมพฤติกรรมด้านสุขภาพของคนในองค์กร ช่วยดูแลบุคลากรของตนให้มีสุขภาพที่ดี เราจะให้ความดีความชอบเพื่อจูงใจเขาได้หรือไม่ เช่นนำไปใช้ลดหย่อนภาษี หรือหากเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีการกำกับดูแลเรื่องของธรรมาภิบาล เราก็อาจให้คะแนนเขาเพิ่มในเรื่องเหล่านี้ได้ด้วยหรือไม่ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม” นพ.โสภณ อธิบายแนวคิดในภาพรวม
เขาให้ทรรศนะอีกว่า เมื่อมีการดำเนินงานในส่วนต่างๆ ประกอบกันแล้ว ทั้งหมดก็จะกลายเป็นระบบนิเวศของการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการลดโรค NCDs เช่น เมื่อมีมาตรการทั้งในเชิงบังคับหรือแรงจูงใจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการลดความหวาน ความเค็ม ลงไปได้หมดแล้ว ท้ายที่สุดความคุ้นชินลิ้นของผู้คนในสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงตาม หรือตัวอย่างเรื่องของสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตเมื่อกลายเป็นกติกาสากลที่เข้มงวดขึ้น สุดท้ายผู้ผลิตก็ต้องไปปรับเปลี่ยนกระบวนการวิธีของตนเพื่อให้ขายสินค้าได้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ ยังได้ระบุถึงอีกส่วนสำคัญ คือความเป็นผู้นำของแต่ละองค์กร รวมไปถึงภาครัฐที่จะต้องมองเห็นให้ได้ว่าปัญหานี้เป็นเรื่องใหญ่ และสร้างความเสียหายให้กับประเทศไปมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นในมิติเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ หรือผลิตภาพของแรงงานที่ลดลง
นอกจากผู้นำที่ให้การสนับสนุนแล้ว ยังมีปัจจัยของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่นการจะทำระบบเครดิตก็ต้องมีเครื่องมือที่สามารถวัดผลได้จริง พร้อมกันนั้นยังมีปัจจัยในแง่ของบุคคล สร้างคนที่สนใจเรื่องนี้ในแต่ละหน่วยงาน องค์กร เพื่อมาช่วยกันขับเคลื่อน ตลอดจนการติดตามวัดผลข้อมูลเพื่อนำมาประเมินและปรับเปลี่ยนมาตรการที่มีความเหมาะสมได้ต่อไป
“พอเราทำไปนานๆ แล้วยังต่อสู้กับปัญหาไม่ได้ ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีที่มีมากขึ้น เราจึงต้องปรับกลยุทธ์ในการต่อสู้ ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพครั้งนี้ก็น่าจะเป็นอีกช่วงจังหวะหนึ่งที่ช่วยให้เราเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเราก็จะมาติดตามร่วมกันต่อไป และถ้ามีปัญหาติดขัดอะไรตรงไหนก็ปรับเปลี่ยนด้วยกันต่อไป” นพ.โสภณ ทิ้งท้าย
- 18 views