- 67 views
สช. สานพลังภาคีเครือข่าย เปิดเวทีนโยบายสาธารณะฯ ถกแนวทางแก้ไขปัญหา “บุหรี่ไฟฟ้า” คุ้มครองเยาวชน “ผู้ช่วย รมต. ประจำ สธ.” เสนอออกกฎหมายเฉพาะจัดการ ด้าน “ศ.บรรเจิด” เห็นด้วย พร้อมชงนายกฯ ใช้มาตรการบริหาร ให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่มีการขายร่วมรับผิดด้วย ขณะที่ สคบ.เปิดข้อมูลปี 2567 จับได้ 1 แสนชิ้น
วันที่ 31 ก.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่าย จัดเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ (Policy Dialogue) ครั้งที่ 5 หัวข้อ บุหรี่ไฟฟ้า ฆ่าเยาวชนไทย “อย่าปล่อยให้...ฆาตกรลอยนวล” เพื่อให้ทุกภาคส่วนในสังคมรับรู้และตระหนักถึงปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ พร้อมร่วมกันวิเคราะห์และเสนอทางออกในการรับมือกับปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมกว่า 150 คน
นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะทำงานบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เปิดเผยว่า ตามนโยบายของ รมว.สาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า จึงมีการตั้งคณะทำงานบูรณาการฯ ขึ้นมาทำงาน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้เป็นการเฉพาะในการจัดการกับเรื่องนี้ ทำให้ต้องบูรณาการหน่วยงานต่างๆ ที่ถือกฎหมายคนละฉบับ เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกันก่อน
นายกองตรี ดร.ธนกฤต กล่าวว่า ยืนยันว่าในปัจจุบันไม่มีหน่วยงานใดที่จะสนับสนุนและยอมรับให้เกิดการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เนื่องจากพิษภัยทั้งในเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และยังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยาเสพติดชนิดอื่นที่จะกลายเป็นภัยสังคมตามมา และที่รับไม่ได้เลยคือภาพเยาวชนอายุไม่เกิน 12 ขวบ ยืนรอซื้อบุหรี่ไฟฟ้าหลังเลิกเรียน จึงขอยืนยันว่าจะต่อสู้กับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะขัดกับผลประโยชน์ของใครก็ตาม
“สิ่งที่เราอยากให้บูรณาการได้จริงคือการบังคับใช้กฎหมาย ที่ขณะนี้มีอยู่หลายฉบับแต่กลับยังไม่สามารถทำให้คนหลาบจำได้ ซึ่งรอยรั่วส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะต้องยอมรับว่าหากเราไปดูในสภา เจ้าหน้าที่บ้านเมือง หน่วยงานต่างๆ ก็มีผู้ที่สูบอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้นเรื่องนี้ต้องอาศัยความจริงใจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน และหากจะมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุมเรื่องนี้ให้ชัดเจนโดยเฉพาะ ก็ควรจะต้องรีบคิด แต่เชื่อว่าหากสังคมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้เป็นพิษภัย การผลักดันกฎหมายก็จะสามารถทำได้ในเวลาไม่นาน” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า หนึ่งในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาต่อการจัดการบุหรี่ไฟฟ้า คือมาตรการทางกฎหมายที่แยกส่วนเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กชิ้นน้อย 4-5 ฉบับ และทั้งหมดมีข้อจำกัดในตัว แม้อาจจะยังไม่เพียงพอแต่ในช่วงจังหวะที่สถานการณ์มีความรุนแรงก็จำเป็นจะต้องใช้ทั้งหมดไปก่อน โดยสิ่งที่จะช่วยเสริมได้คือมาตรการทางการบริหาร ซึ่งนายกรัฐมนตรีอาจใช้ความเด็ดขาดตรงนี้ได้ทันทีโดยที่ยังไม่ต้องมีกฎหมายใหม่ แต่ไปบังคับใช้ในสิ่งที่ผิดกฎหมายอยู่แล้ว เช่น ให้เจ้าหน้าที่มีส่วนต้องรับผิดชอบหากพบการจำหน่ายในพื้นที่ที่ดูแลอยู่ เป็นต้น เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาไปได้พอสมควร
“แม้แต่ยาเสพติดที่ผิดกฎหมายเต็มๆ ถามว่าวันนี้สถานการณ์ยาบ้าในประเทศไทยเป็นอย่างไร นี่เป็นภาพตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาระบบกระบวนการยุติธรรมของไทย นับประสาอะไรกับบุหรี่ไฟฟ้าที่ยังมีช่องว่างช่องโหว่อยู่ ซึ่งเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเรื่องเดียวเท่านั้น แต่ปัญหาคือรากฐาน ดังนั้นหากฝ่ายการเมืองเห็นแก่ลูกหลาน สามารถใช้มาตรการทางการบริหารไปได้ก่อนเลย เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาไปได้พอสมควร ส่วนมาตรการทางกฎหมายระยะยาวในอนาคต เชื่อว่าควรจะต้องมีการห้ามไม่ให้ครอบครองอย่างชัดเจน เพื่อที่ตำรวจจะไม่สามารถมีข้ออ้างในการดำเนินการตามกฎหมายได้” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
นายภูมินทร์ เล็กมณี ผู้อำนวยการฝ่ายเฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าและบริการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ. มีการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้ามานานนับตั้งแต่ที่มีการออกคำสั่งฯ ที่ 9/2558 ซึ่งขณะนั้นยังเป็นของใหม่ แต่เมื่อพบว่าสินค้าชนิดนี้ก่อให้เกิดอันตรายได้มากมาย จึงได้สั่งห้ามจำหน่ายเป็นการถาวร ซึ่งรวมไปถึงบารากู่ และน้ำยาเติมด้วย
อย่างไรก็ตาม ในภายหลังได้มีผู้ประกอบธุรกิจหัวใส แยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ในบุหรี่ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ ดังนั้นล่าสุด สคบ. จึงได้ออกคำสั่งฯ ที่ 9/2567 ที่เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 ซึ่งเพิ่มสาระสำคัญในเรื่องของการผลิตเพื่อจำหน่าย ตลอดจนคำนิยามที่ครอบคลุมถึงอุปกรณ์ที่เป็นส่วนควบทั้งหมดในการนำมาประกอบเป็นบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว
“ทาง สคบ. ยังมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ตั้งขึ้นมา เพื่อร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า แต่ก็ต้องยอมรับว่าจำนวนเจ้าหน้าที่เรามีน้อยมาก ในขณะที่สถิติการจับกุมก็เพิ่มมากขึ้นทุกปี จาก 2.7 หมื่นชิ้น ในปี 2563 กลายเป็น 1 แสนชิ้นในปี 2567 สถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าจึงน่าเป็นห่วงอย่างมาก และยังทราบว่าขณะนี้มีการเจาะลึกในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งจากการสอบถามลูกสาว ก็บอกว่าปัจจุบันมีการสูบกันเกินครึ่งห้องเรียน และในวัยรุ่นผู้หญิงหากใครไม่สูบก็จะไม่ถูกยอมรับให้เข้าร่วมกลุ่มด้วย” นายภูมินทร์ กล่าว
นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความน่าเป็นห่วงของบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชน คือเป็นสินค้าที่ไม่เลือกว่าจะเป็นเด็กดีหรือไม่ดี เด็กรวยหรือจน เด็กที่มีการศึกษาสูงหรือต่ำ ซึ่งจะแตกต่างจากบุหรี่มวนในอดีตที่มักพบในเด็กกลุ่มเสี่ยง แต่บุหรี่ไฟฟ้ากลับระบาดไปถึงเด็กและเยาวชนในทุกกลุ่ม เนื่องด้วยหน้าตา กลิ่นสี รูปลักษณ์ และยังไม่ได้มีผลกระทบเฉพาะในมิติการสูบเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังพบว่าร้านค้าหลายแห่งมีการจ้างวานให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้นำไปจำหน่าย โดยให้ค่าจ้างราววันละ 400-600 บาท
“บุหรี่ไฟฟ้ามีการพัฒนามาหลาย generation แต่ที่น่ากลัวคือปัจจุบันมีการทำออกมาเลียนแบบผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกล่องลูกอม ถุงยางอนามัย อุปกรณ์การเรียน หรือแม้แต่กล่องนม ฉะนั้นแม้จะไม่ต้องหลบซ่อน แต่พ่อแม่ก็อาจไม่มีทางรู้เลยว่าลูกหลานของเขาแอบพกบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ และอยากเทียบว่าบุหรี่ไฟฟ้าก็เป็นเหมือนกับสินค้าทดลองในห้าง เพราะอุตสาหกรรมยาสูบเขาก็ไม่ได้ต้องการให้สูบเพียงแค่บุหรี่ไฟฟ้า แต่บุหรี่มวนก็ยังผลิตอยู่ และการที่จะข้ามไปสูบแบบมวนหรือสูบไปด้วยกันทั้งคู่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ไม่ยาก” นายพชรพรรษ์ กล่าว
น.ส.ประวีณมัย บ่ายคล้อย ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 กล่าวว่า หากสรุปบทบาทสื่อมวลชนกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าอาจสรุปได้เป็น 8F ตั้งแต่ การจัดการกับข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่มากมาย (Full of information) โดยใช้สื่อรณรงค์ที่ลงลึกและเข้าถึงถูกที่ไปยังกลุ่มเป้าหมาย (Fragmentation) เพื่อสื่อสารถึงข้อเท็จจริง (Fact) ที่เป็นอันตรายให้คนรับรู้ และเท่าทันกับข้อมูลหลอกลวง (Fake) จากกลุ่มผลประโยชน์ ด้วยความรวดเร็ว (Fast) เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ ไม่ให้เกิดความล้มเหลว (Fail) ไม่ให้เด็กและเยาวชนมองบุหรี่ไฟฟ้าว่าเป็นเพื่อน (Friend) แต่ให้มองว่าสิ่งนี้คือศัตรู (Foe) ของพวกเขา
“ปัจจุบันช่องทางการรับสื่อของกลุ่มเด็กและเยาวชนเปลี่ยนไปมาก ฉะนั้นเราอาจหายุทธศาสตร์ในการใช้ Creator หรือ Influencer ต่างๆ ในโลกออนไลน์ มามีส่วนในการรณรงค์และสื่อสารถึงความจริงในมุมที่เป็นอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า เพราะหากเราทุ่มเม็ดเงินไปกับการโฆษณารณรงค์งบประมาณก็อาจหมดไปสักวัน แต่หากกลุ่มเหล่านี้เขามีความตระหนัก ก็อาจมีส่วนในการช่วยเรารณรงค์ได้ตามสไตล์ของเขา เป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยให้องค์ความรู้เข้าไปถึงเด็กและเยาวชนได้” น.ส.ประวีณมัย กล่าว
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งนี้ เป็นเวทีวิชาการที่ช่วยนำความเห็นที่หลากหลายในประเด็นเชิงนโยบายที่สังคมสนใจและให้ความสำคัญ มาแลกเปลี่ยนแบบเปิดกว้างทางความคิดและมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งเชื่อว่าเวทีในวันนี้จะทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดความตื่นตัว ตระหนักถึงปัญหา และเกิดทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสมสำหรับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อรับมือกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสังคมไทยต่อไป
พร้อมกันนี้ ภายในเวทียังได้มีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้สอบถาม แลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงให้ข้อเสนอแนะต่างๆ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคการเมือง ภาควิชาการ ตลอดจนกลุ่มเยาวชน นักเรียน นักศึกษา ได้มาร่วมกันสะท้อนถึงข้อห่วงกังวลกับสถานการณ์ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าในปัจจุบัน พร้อมทั้งเรียกร้องและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เดินหน้ามาตรการเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังและยั่งยืนต่อไป
อนึ่ง สำหรับหน่วยงานองค์กรภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดเวทีในครั้งนี้ ประกอบด้วย ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สภาองค์กรของผู้บริโภค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ