- 746 views
งานแถลงข่าว "เจาะลึก ข้อดีข้อเสีย 3 แนวทางของอนุกรรมาธิการกฎหมายบุหรี่ไฟฟ้า" ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ทั้งนี้มี นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และ น.ส.ฐิติมา สุวัตถิ เข้าร่วมงาน
ประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มข้นในการห้ามนำเข้าและจำหน่าย ซึ่งเป็นประเทศแรกๆในโลก จนปัจจุบันมีราว 40 ประเทศที่เดินตามมาในแนวทางนี้ ทว่าประเทศไทยกลับกำลังจะถอยหลังเข้าคลอง เมื่อมีความพยายามที่จะ “ปลดล็อก” การแบนบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถนำเข้า หรือจำหน่ายได้แบบไม่ผิดกฎหมาย
มีการตั้งอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยมีการสรุปออกมา 3 แนวทาง คือ แบนบุหรี่ไฟฟ้าเหมือนปัจจุบัน อนุญาตนำเข้าเฉพาะ HTP และยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการ ศจย. ได้วิเคราะห์ ข้อดีข้อเสียของ 3 แนวทางมาตรการด้านกฎหมายเพื่อควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ดังนี้
แนวทางที่ 1 การกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย (แบนบุหรี่ไฟฟ้าเด็ดขาด) ข้อดี
1.กฎหมายปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันทั้ง 3 ฉบับ เป็นกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและของโลก ที่มีการเพิ่มจำนวนประเทศที่แบนเป็น 40 ประเทศ อย่างรวดเร็ว
2. ตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารเสพติด และเป็นช่องทาง (gateway) นำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ
3.สามารถป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อไม่ให้เข้าสู่การเสพติดนิโคติน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 จากประสบการณ์ของต่างประเทศที่พบว่าประเทศที่แบนจะมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนต่ำกว่าประเทศที่ไม่แบน
แนวทางที่ 2 คงกฎหมายห้ามนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ยกเว้น Heat not burn Tobacco Product (HTP) ข้อดี
1. HTP เป็น Electronic Nicotine Delivery Device ชนิดที่เป็น solid คือ นำใบยาสูบมาหั่นฝอย โดยจะใช้ความร้อนจากอุปกรณ์มากกว่า 300 องศาเซลเซียส แต่ไม่เกิน 600 องศาเซลเซียสเหมือนการเผาไหม้บุหรี่ทั่วไป
2.มีการเผาไหม้เป็นไอ ไม่มีเถ้า ไม่มีควัน (น้ำมันดิน) ไม่มีน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ใช้ใบยาสูบซึ่งให้นิโคตินธรรมชาติ
ข้อเสีย 1.ยังคงมีนิโคติน ผลิตภัณฑ์ HTP จะต้องมีคำเตือนว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีนิโคติน ซึ่งเป็นสารเสพติด และองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) ยังไม่อนุญาต ซึ่งผู้ผลิต IQOS ก็ยอมรับว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และไม่ได้ลดความเสี่ยงเมื่อเปลี่ยนมาใช้ HTP
แนวทาง 3 ยกเลิกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าข้อดีที่กล่าวอ้าง
1.ทันสมัย เทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว
2.จะได้ควบคุมอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนไทย
3.จัดเก็บรายได้จากการเก็บภาษีได้เพิ่ม
4. เป็นการให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกเสพ
ข้อเท็จจริง 1.ในประเทศที่เคยแบน แล้วควบคุมได้ดี เปลี่ยนมาเป็นอนุญาตให้ขายได้ เกิดการระบาดเพิ่ม 2-5 เท่า เช่น แคนาดา นิวซีแลนด์
2.ในประเทศที่อนุญาตให้ขายได้ถูกกฎหมาย โดยห้ามขายในเยาวชน 18-21 ปี ยังระบาดหนักในเยาวชน เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา
นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผช.รมต.กระทรวงสาธารณสุข กล่าวปิดท้ายว่า หลังจากนี้จะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าหายากขึ้น ขายยากขึ้น ผู้ขายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ยากขึ้น โดยคณะกรรมการบูรณาการเพื่อปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ายังมีข้อจำกัดในการทำงานอยู่บ้างทั้งเรื่องกฎหมายที่มีหลายฉบับและแยกส่วนกันอยู่ บุคลากรที่ทำงานด้านนี้มีน้อย และงบประมาณที่มีจำกัด จากที่ลงไปจับกุมที่ จ.จันทบุรี ที่ผ่านมามูลค่าการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าประมาณ 3-4 ล้านบาท ได้จับกุม/ดำเนินคดี และนำบุหรี่ไฟฟ้าที่จับกุมได้ไปตรวจสารยาเสพติดเพิ่มเติมที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หากมียาเสพติดอื่นๆ จะแจ้งข้อหาเพิ่มและทำการยึดทรัพย์ผู้ค้ารายใหญ่ต่อไป
สรุป 3 แนวทางของกรรมาธิการฯ แนวทางที่ 1 การคงกฎหมายห้ามนำเข้าและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทยลงได้ แนวทางที่ 2 และแนวทางที่ 3 ข้อดีไม่ชัดเจน แต่จะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนระบาดมากขึ้น