ข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ ของเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในบุรีรัมย์ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

1

 

วุฒิสภาชุดพิเศษ ประเทศไทย เห็นชอบกฎหมายสมรสเท่าเทียมไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา และส่งให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกใน ASEAN ที่มีกฏหมายฉบับนี้ และจะส่งผลให้บุคคลไม่ว่าเพศใดก็มาสามารถที่จะสมรสกันได้ แต่ก็ยังมีความท้าทายในการดำเนินการตามกฏหมายหรือการสร้างนโยบาย มาตรการเพื่อสุขภาวะสำหรับกลุ่มนี้ โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน

เครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่ (คนส.) รุ่นที่ 2, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) คณะทํางานบุรีรัมย์ไพรด์ และภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัดร่วมกันจัดเวทีเสวนาเพื่อจัดทําข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อ “การสร้างสุขภาวะของเด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์” ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2567 ณ โรงแรมแอวาเรซ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้นับว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดแรกที่มีการจัดงานลักษณะนี้ของประเทศไทยนับจากที่มีกฏหมายสมรสเท่าเทียม

โดยผู้เข้าร่วมประชุมมาจากหลากหลายกลุ่ม เช่น นักเรียน นักศึกษา ตำรวจ ครู หมอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด เครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ สื่อ นักการเมือง

คุณจำเริญ แหวนเพ็ชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่างานนี้เป็นการเปิดพื้นที่ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เด็ก เยาวชน มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังข้อเสนอแนะกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสังเคราะห์ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย จากหลากหลายภาคส่วนให้กับผู้บริหารบ้านเมืองของบุรีรัมย์ และประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ ดังจะเห็นได้จากการที่นายกรัฐมนตรีเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้และจะให้เรื่องนี้เป็นการขับเคลื่อนประเทศไทย

คุณธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ รองประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าการที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้รับคัดเลือกเข้าไปอยู่ในกลไกสภาผู้แทนราษฎร แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการยอมรับในเรื่องนี้มากขึ้น และเป้าหมายของการขับเคลื่อนให้เกิดความหลากหลายทางเพศของประเทศไทยควรมุ่งไปสู่  Gender justice

คุณอนันตชัย โพธิขํา ผู้แทนเครือข่ายนักสานพลังสร้างสุขภาวะในพื้นที่ (คนส.) รุ่นที่ 2 และผู้ร่วมกรรมการมูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) กล่าวว่าประเทศไทยมีการขับเคลื่อนให้เกิดการยอมรับของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศมากว่า 40 ปี และรูปธรรมที่เห็นได้ชัดว่าเกิดการยอมรับคือ 1) การมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม 2) การกำหนดให้มี PRIDE Month ในทุกปี ทั้งนี้ปัญหาของเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ สาเหตุหลักจะมาจากความคิดที่ยอมรับเพียง 2 เพศ คือ ชายและหญิง ทั้งนี้ข้อสรุปจากเวทีนี้จะนำไปผลักดันในกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดบุรีรัมย์ และกลไกอื่ยที่เกี่ยวข้อง

2

 

โดยที่ประชุมได้ระบุปัญหาสำคัญที่พบ เช่น ความรุนแรงในครอบครัวจากการไม่ยอมรับ การพูดส่อเสียด ล้อเลียน ดูหมิ่น (Bully) ทั้งในโรงเรียนและสถานที่สาธารณะ การที่มีมายาคติบางเรื่องกดทับ เช่น เด็กและเยาวชนที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องเป็นคนเก่ง กล้าแสดงออก สภาพห้องน้ำไม่เหมาะสม การขาดการเรียนการสอนที่ทำให้นักเรียน นักศึกษาเข้าใจบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

 

3

 

ทั้งนี้ในส่วนของข้อเสนอสำคัญที่เกิดจากการระดมความเห็นคือ 1) การให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ผ่านการจัดกิจกรรมหรือผ่านช่องทางการสื่อสารของรัฐ 2) การอบรมทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ใหญ่ คนในสังคม โดยเฉพาะคนในครอบครัว ผ่านกลไกการสื่อสารของภาครัฐ 3) การจัดทำห้องน้ำสำหรับเพศทางเลือก (All Genders Rest Rooms) 4) เพิ่มหลักสูตรเรื่องความเป็นธรรมหรือสิทธิมนุษยชนในระดับการศึกษาทุกระดับ 5) การส่งเสริมโอกาสให้ได้ค้นหาตัวเอง รวมถึงเรื่องตัวตนทางเพศ ชมเทปบันทึกการเสวนาได้ที่ https://www.facebook.com/ThaiPBSEsan/videos/1208882900549018

https://youtu.be/zz-5ypS03VQ 

เขียน: น.ส.ขนิษฐา แซ่เอี้ยว, น.ส.รัตนา เอิบกิ่ง, น.ส.ชลาลัย จันทวดี

รูปภาพ