‘คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ’ วางกำหนดการ คัดเลือก ‘เลขาธิการ’ พร้อมสรรหา ‘คสช.’ ชุดใหม่ เพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกับรัฐบาลใหม่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบกำหนดการคัดเลือก “เลขาธิการ คสช.” คนใหม่ แทน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ที่จะครบวาระในวันที่ 19 ก.ย. นี้  พร้อมเริ่มกระบวนการสรรหา “คสช.” ชุดใหม่ ใน 3 กลุ่ม “ผู้แทนท้องถิ่น-ผู้ทรงคุณวุฒิ-องค์กรภาคเอกชน”  สานต่อภารกิจขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพร่วมกับรัฐบาลใหม่

ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2566 ซึ่งมี    นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) เป็นประธานแทน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะประธาน คสช. และที่ประชุมมีมติรับทราบกำหนดการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. คนใหม่ แทน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. คนปัจจุบันที่จะครบวาระในวันที่ 19 ก.ย. 2566 พร้อมทั้งรับทราบกำหนดการสรรหา คสช. ชุดใหม่ เพื่อทำหน้าที่แทน คสช. ชุดปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดวาระลงในวันที่ 6 ธ.ค. 2566
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


สำหรับคุณสมบัติของ เลขาธิการ คสช. จะต้องเคยเป็นผู้บริหารของหน่วยงานรัฐหรือองค์กรเอกชน และมีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสุขภาพและสังคม มีผลงานที่ประสบความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้ทำหน้าที่ในการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ตามที่ คสช. หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) มอบหมาย โดยกำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี และไม่เกินสองวาระติดต่อกัน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คบ.) เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ได้กำหนดให้ คบ. ซึ่ง คสช. เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ จำนวน ๘ คน มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. โดยล่าสุดที่ประชุม คบ. ได้กำหนดการคัดเลือกเลขาธิการ คสช. คนใหม่ ซึ่งจะเริ่มประชาสัมพันธ์รับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นไป และเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 3-14 ก.ค. 2566
 

วิชัย โชควิวัฒน


“หลังเปิดรับสมัครผู้สนใจเข้ารับการคัดเลือกแล้ว ทาง คบ. ทั้ง ๘ คน จะพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร และให้ผู้สมัครแต่ละคนได้แสดงวิสัยทัศน์ เสนอแผนดำเนินการ และคัดเลือกให้เหลือผู้ที่เหมาะสมที่สุด ในช่วงวันที่ 1-31 ส.ค. 2566 ก่อนที่จะเสนอ คสช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบผู้ที่ได้รับการคัดเลือก ในวันที่ 11 ก.ย. 2566 และเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นเลขาธิการฯ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มปฏิบัติงานได้ประมาณวันที่ 1 ต.ค. 2566” นพ.วิชัย กล่าว

ขณะที่กลไก คสช. ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ได้กำหนดให้มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี โดยเมื่อครบวาระ ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการแทนก่อนวันครบวาระไม่น้อยกว่า 90 วัน ซึ่งจะมีการสรรหาใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 4 คน 2. ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่งต้องไม่เป็นผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข โดยเลือกกันเองจำนวน 6 คน และ 3. ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ ซึ่งเลือกกันเองจำนวน 13 คน
 

ธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล


นายธงชัย วชิรโรจน์ไพศาล ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ คสช. แต่งตั้ง กล่าวว่า ทางคณะกรรมการสรรหาฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบให้ออกประกาศ กำหนดเวลา และขั้นตอนการสมัครเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ของกรรมการทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมถึงแผนการประชาสัมพันธ์การรับสมัครเข้ารับเลือกเป็นกรรมการสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2566 ซึ่งจะมีการเผยแพร่ประกาศรับสมัครตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. นี้ เป็นต้นไป พร้อมเปิดรับสมัครในระหว่างวันที่ 1-30 มิ.ย. 2566 ในส่วนกำหนดการของกลุ่มต่างๆ ได้แก่

1. กลุ่มผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นายกเทศมนตรี หรือนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 24 ก.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 1 ส.ค. 2566

2. กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ซึ่งมีการแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มบริหาร นโยบายสาธารณะ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ 2) กลุ่มธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ 3) กลุ่มการศึกษา การจัดการความรู้ 4) กลุ่มสื่อสารมวลชน เทคโนโลยีสารสนเทศ 5) กลุ่มพัฒนาประชาชนกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ 6) กลุ่มการพัฒนาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในวันที่ 27 ก.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 1 ส.ค. 2566

3. กลุ่มผู้แทนองค์กรภาคเอกชน ประกอบด้วย องค์กรที่มีการดำเนินงานไม่แสวงหากำไร ไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานของรัฐ แบ่งตามลักษณะกิจกรรมที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพ และมีประสบการณ์ด้านการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ ได้แก่ 1) ด้านการแพทย์ หรือสาธารณสุข 2) ด้านเศรษฐกิจ หรือการศึกษา 3) ด้านสังคม หรือสิ่งแวดล้อม 4) ด้านกลุ่มประชาชนเฉพาะ 5) ด้านการสื่อสาร หรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ ) จะมีการประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อเลือกกันเองในวันที่ 17 ก.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมทางไกลเพื่อเลือกกันเองผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในระหว่างวันที่ 1-25 ส.ค. 2566 และจะประกาศผลในวันที่ 29 ส.ค. 2566

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า คสช. นับเป็นกลไกการดำเนินงานระดับชาติ ที่มีองค์ประกอบมาจาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ ภาคการเมือง/ราชการ ภาควิชาการ/วิชาชีพ และภาคประชาชน/สังคม พร้อมมีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน เพื่อมีบทบาทหน้าที่ให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการที่คำนึงถึงสุขภาวะของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


“ในทางหนึ่ง คสช. เปรียบเสมือนกับ ครม. ด้านสุขภาพ เป็นกลไกสำคัญของประเทศที่ช่วยเสริมให้การทำงานของรัฐบาล หน่วยงาน องค์กรและภาคีต่างๆ เดินไปข้างหน้าโดยคำนึงถึงการพัฒนาสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย ใจ สังคม และปัญญา พร้อมยังทำหน้าที่เชื่อมโยงให้ทุกภาคส่วนและทุกฝ่ายในสังคม เข้ามาทำงานเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพร่วมกัน” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 16 ปีของการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คสช. ได้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไปแล้วมากมาย เช่น กระบวนการสมัชชาสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพ ฯลฯ จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่มีความสามารถมาร่วมกันสมัครเข้ารับเลือกเป็น คสช. ในครั้งนี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย สู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ร่วมกับรัฐบาลใหม่ต่อไป

 

รายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม โทร.02-832-9141

 

รูปภาพ
คสช.