หนุนผลักดัน ‘บำนาญถ้วนหน้า’ สู่ภาคการเมือง สช.ชวนภาคีใช้จังหวะ ‘การเลือกตั้ง’ สร้างพันธสัญญา-เคลื่อนให้สำเร็จแบบ ‘บัตรทอง’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการบอร์ดสุขภาพฯ ชวนภาคการเมืองขับเคลื่อน “ระบบหลักประกันรายได้” หรือ “บำนาญถ้วนหน้า” เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ชี้หากเดินหน้าสำเร็จจะเป็นที่จดจำตามหลัง “ระบบบัตรทอง” พร้อมชวนคนไทยร่วมสร้างเจตนารมณ์ทางสังคมในวาระของการเลือกตั้ง เพื่อผลักดันสู่การเป็นพันธสัญญาของฝ่ายการเมือง
 

บำนาญ


นพ.ประทีป
ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมในการแถลงข่าวหัวข้อ ร่วมผลักดันบำนาญถ้วนหน้า สู่นโยบายสำคัญพรรคการเมือง ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และภาคีเครือข่าย เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2566 ระบุว่า เรื่องของสวัสดิการ ระบบบำนาญ หรือหลักประกันรายได้ของผู้สูงวัยนี้ กำลังจะเป็นโอกาสทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะต้องรีบตัดสินใจและนำไปบรรจุไว้เป็นนโยบายสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้าที่กำลังจะมาถึง เพราะสิ่งนี้กำลังเป็นความต้องการของสังคม

 

ประทีป ธนกิจเจริญ


สำหรับเรื่อง หลักประกันรายได้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เป็นหนึ่งในมติสำคัญของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 15 ที่หลายภาคส่วนร่วมกันให้การรับรองไปเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2565 ซึ่งได้มีข้อเสนอภายใต้ 5 เสาหลักที่จะต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน ประกอบด้วย 1. การพัฒนาผลิตภาพประชากร การมีงานทำ และมีรายได้จากการทำงานที่เหมาะสมตลอดช่วงวัย 2. การออมระยะยาวเพื่อยามชราภาพที่ครอบคลุม เพียงพอ และยั่งยืน 3. เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากรัฐ 4. การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพโดยเฉพาะบริการสุขภาพระยะยาว (Long-term care) 5. การดูแลโดยครอบครัว ชุมชน และท้องถิ่น

นพ.ประทีป กล่าวว่า แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ มีความซับซ้อน และต้องทำในหลายมิติ จึงทำให้บางฝ่ายอาจมองว่าเป็นไปได้ยาก หรือเกิดข้อสงสัยมากมาย เช่นว่าประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน การมีระบบประกันสังคมหรือเบี้ยยังชีพที่ดูแลคนเฉพาะส่วนน่าจะเพียงพอแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ภาพรวมของประเทศจนลง แต่หากมองย้อนกลับไปถึงประสบการณ์ของการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ประสบผลสำเร็จมาถึงปัจจุบันนี้ ก็เกิดขึ้นภายหลังวิกฤตด้วยเช่นกัน

“ระบบบัตรทองที่ตั้งขึ้นในปี 2545 ก็เคยเจอปัญหาคล้ายกัน คือการตั้งคำถามว่าจะสร้างระบบหลักประกันถ้วนหน้าให้กับทุกคนได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน จะเอาเงินมาจากไหน โดยเฉพาะหลังประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 อย่างไรก็ตามเมื่อมีการผลักดัน ศึกษาความเป็นไปได้และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น จนเกิดการสร้างเจตนารมณ์ร่วมกันของสังคม และนำไปสู่การเป็นเจตจำนงทางการเมือง ก็ทำให้เกิดการขับเคลื่อนจนประสบผลสำเร็จได้” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.ประทีป ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการสานพลังทุกภาคส่วนเพื่อผลักดันนโยบายสาธารณะ ได้มองว่าขณะนี้เป็นโอกาสและมีความพร้อมในหลากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่แสดงออกถึงความต้องการและพร้อมให้การสนับสนุน ขณะที่ภาควิชาการเอง ก็มีผลการศึกษาและหาทางออกให้กับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน รวมไปถึงภาครัฐ หน่วยงานต่างๆ ที่หลายแห่งก็มีประสบการณ์และวางระบบย่อยๆ เหล่านี้ไปแล้วพอสมควร แต่ยังขาดเพียงการรวมพลังของทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกัน

“ตอนนี้เราเห็นแนวโน้มความเป็นเอกภาพ และความต้องการที่คล้ายกันของทุกฝ่ายแล้วว่าต้องการให้ระบบนี้เกิดขึ้น ดังนั้นจังหวะของการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่สุด ในการที่จะทำให้เกิดเจตนารมณ์ทางสังคม ที่นำไปสู่พันธสัญญาของฝ่ายการเมืองในการผลักดัน และอยากฝากถึงผู้นำทางการเมืองว่าเรื่องหลักประกันรายได้นี้ จะเป็นโอกาสที่พรรคต้องรีบตัดสินใจ เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องขับเคลื่อนสร้างระบบเพื่อความมั่นคงให้กับชีวิตของประชาชน ทำให้เป็นที่น่าจดจำเหมือนระบบบัตรทอง” นพ.ประทีป กล่าว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า จังหวะของการหาเสียงเลือกตั้ง จะเป็นจังหวะที่ดีในการผลักดันระบบบำนาญถ้วนหน้าให้เกิดขึ้น ซึ่งประชาชนสามารถออกคำสั่งให้นักการเมืองหรือพรรคการเมืองทำเรื่องนี้ได้ ด้วยการเข้าคูหาและเลือกพรรคที่มีนโยบายในการผลักดันเรื่องนี้ ขณะเดียวกันหากจะให้สำเร็จ ก็ต้องประเมินว่าเป็นพรรคที่เหมาะสมและสามารถทำได้จริง
 

นิมิตร์ เทียนอุดม


“เราต้องย้อนดูด้วยว่ารอบที่แล้วพรรคการเมืองไหนหลอกเรา ทบทวนว่าแต่ละพรรคที่เป็นรัฐบาลอยู่เคยมีนโยบายเรื่องบำนาญว่าอย่างไรบ้าง แล้วเขาได้ทำ หรือมีความพยายามที่จะทำตามนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้ทำแล้วเราจะปล่อยให้เขาหลอกอีกรอบหรือไม่ นี่คือบทบาทของภาคประชาชนที่กำลังจะมีอำนาจขึ้นมาใหม่ และเป็นหน้าที่ของเครือข่ายฯ ที่เราจะช่วยฉายภาพว่าพรรคไหนมีหรือไม่มีนโยบายเรื่องนี้ หรือมีข้อสังเกตอย่างไร” นายนิมิตร์ กล่าว

ด้าน นางหนูเกณ อินทจันทร์ ตัวแทนผู้สูงอายุ เครือข่ายสลัมสี่ภาค กล่าวว่า เมื่อพูดถึงระบบสวัสดิการหรือบำนาญถ้วนหน้า แล้วมีข้อถกเถียงจากฝ่ายราชการเกี่ยวกับเรื่องการเงิน ว่าจะนำงบประมาณจากไหนมาจ่าย หรือกระทั่งอาจทำให้ประเทศล่มจมได้ เป็นต้น ในฐานะประชาชนมีความเจ็บปวดที่ถูกมองเช่นนั้นจากข้าราชการ ที่มีเงินเดือนและสวัสดิการเยอะกว่าชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านทั่วไป ในวัยหนุ่มสาวก็ต่างล้วนเป็นผู้ที่ทำงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ และเมื่อถึงวัยเกษียณแล้วก็จำเป็นที่เขาจะต้องได้รับการดูแลจากประเทศ ที่เขามีส่วนร่วมสร้างมาด้วย
 

หนูเกณ อินทจันทร์


“ปัจจุบันเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้กันอยู่ 600-900 บาท มันไม่เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ผู้สูงอายุหลายคนจึงยังต้องดิ้นรนทำงานหาเงินเลี้ยงชีพ ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้คิดว่าต้องอย่างน้อย 3,000 บาท จึงจะเพียงพอ ในฐานะประชาชนธรรมดาจึงอยากฝากให้นักการเมืองเห็นความสำคัญ และผลักดันระบบบำนาญถ้วนหน้านี้ให้เป็นจริง อย่าลืมว่าเงินเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะสุดท้ายมันก็ต้องถูกนำไปซื้อสิ่งของ เครื่องใช้จำเป็น และหมุนเวียนกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากอีก” นางหนูเกณ กล่าว

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
บำนาญถ้วนหน้า