ธันวาคมเดือนแห่ง ‘สมัชชาสุขภาพ’ ส่งท้ายปี ๒๕๖๕ ‘สังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม เราสร้างได้’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

          สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ช่วงรอยต่อของปีเก่า ๒๕๖๕ เข้าสู่ปีใหม่ ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ผ่อนคลาย และสนุกสนาน ถือเป็นห้วงเวลาที่ค่อนข้าง “เปราะบาง” ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังกลับมาปะทุซ้ำอีกครั้ง และพิษเศรษฐกิจข้างหน้า

          แต่ทุกวิกฤตมักมีโอกาสอยู่เสมอครับ เหมือนครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี ๒๕๔๐ ก็ทำให้เกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นในไทย และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๕ นี้ เรื่องหลักประกันรายได้ถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ จะเป็นนโยบายสำคัญเข้าสู่การหาฉันทมติและขับเคลื่อนเป็นของขวัญในวันข้างหน้าสำหรับคนไทยทุกคนครับ

          พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน เดือนธันวาคมของทุกปี นอกจากจะมีวันสำคัญของชาวไทย และเป็นช่วงการทำงานโค้งสุดท้ายก่อนจะถึงเทศกาลหยุดยาวแล้ว เรามีนัดหมายสำคัญที่จะมาพบปะกันใน งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะ ให้พันธะสัญญาที่จะสานพลังสร้างสังคมสุขภาวะ ตลอดจนเฉลิมฉลองให้กับรูปธรรมความสำเร็จของพื้นที่ต่างๆ เป็นประจำมากว่า ๑๕ ปี

          และในวันที่ ๒๑-๒๒ ธ.ค. ๒๕๖๕ ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ก็จะเป็นอีกครั้งที่มีการจัดงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งใหญ่ โดยเป็นปีที่ ๑๕ เท่ากับอายุการก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ด้วยเช่นกัน ส่วนรายละเอียดและสาระสำคัญภายในงานจะเป็นอย่างไร ทุกท่านสามารถอ่านได้จาก “คอลัมน์นโยบายสร้างได้” ซึ่ง คุณเม้ง - สมเกียรติ พิทักษ์กมลพร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะระดับชาติ สช. ได้เล่าไว้อย่างครบถ้วนน่าสนใจมากครับ

          ตลอดปี ๒๕๖๕ ที่กำลังจะผ่านพ้นไปในไม่อีกกี่วันข้างหน้า สช. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะจำนวนมาก โดยในปีนี้มี “หุ้นส่วนการพัฒนา” มากหน้าหลายตาเข้ามามีส่วนร่วม และได้มีการหยิบยก “กระบวนการสมัชชาสุขภาพ” ไปเป็นเครื่องมือในการคลี่คลายปัญหาตามบริบทของพื้นที่กันอย่างคึกคักเป็นอย่างมาก

         เมืองที่มีความสลับซับซ้อนอย่าง “กรุงเทพมหานคร” (กทม.) ที่ผ่านมามีการจัดงานสมัชชาสุขภาพ มาแล้ว ๒ ครั้ง และเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย. ที่ผ่านมา งานสมัชชาฯ กทม. ครั้งที่ ๓ ก็จบลงไปอย่างชื่นมื่นด้วย ๒ ฉันทมติคนกรุง ประกอบด้วย ๑. พื้นที่เศรษฐกิจปลอดภัย ภายใต้ความหลากหลาย ๒. สุขภาพดีทุกช่วงวัยด้วยระบบบริการสุขภาพเขตเมืองที่เน้นคุณค่า ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้อยู่ภายใต้แนวคิด “กรุงเทพฯ เมืองแห่งสุขภาวะ ปลอดภัย เศรษฐกิจดี ... สร้างได้” สอดคล้องกับนโยบายหลักของท่านผู้ว่าฯ กทม. คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่มาจากการเลือกตั้งของชาวกรุงเทพฯ

         ขณะที่เมืองใหญ่อย่าง “พัทยา” ท่านนายกฯ เบียร์ - ปรเมศวร์ งานพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา ต้องการที่จะกรุยทางพัทยาไปสู่ “เมืองที่น่าอยู่-น่าเที่ยว-น่าลงทุน ของคนทั้งโลก” และในฐานะที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็น คสช. ด้วยแล้ว จึงอยากใช้โอกาสนี้เชื่อมร้อยนโยบายระดับชาติเข้ากับการบริหารงานท้องถิ่น จึงได้หารือกับ สช. จนเกิดเป็น สมัชชาสุขภาพสากลเมืองพัทยา ครั้งที่ ๑ ซึ่งจะจัดขึ้นภายในวันที่ ๒๖ ธันวาคมนี้ ซึ่งจะร่วมกันรับรองธรรมนูญสุขภาพเมืองพัทยา และแสวงหาฉันทมติเรื่องการจัดการพื้นที่สาธารณะทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมร่วมกัน ตลอดจนจะมีการประกาศเจตนารมณ์การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ โดย ๙ กงสุลต่างประเทศ ในเมืองพัทยาด้วย

         และกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัด ภาคีเครือข่ายในพื้นที่หลายจังหวัด ได้ร่วมกันขึ้นยกระดับสมัชชาสุขภาพจังหวัดใหม่ ขยายการมีส่วนร่วมให้กว้างขวางและครอบคลุมในหลายระดับ โดยมีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนราชการ สถาบันวิชาการ ผู้แทนภาคธุรกิจเอกชน ผู้แทนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม เยาวชนคนรุ่นใหม่ ฯลฯ เข้ามาทำงานร่วมกัน ภายใต้เป้าหมายที่จะใช้กระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดไปออกแบบอนาคตของจังหวัด และสอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๓ ซึ่งจะยิ่งหนุนเสริมให้แผนพัฒนาจังหวัดของหน่วยงานต่างๆ มีประสิทธิภาพ และมีผลต่อการปฏิบัติภายใต้งบประมาณและการกระจายอำนาจที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

         นอกจากนี้ สช. ยังได้ชักชวนภาคีเครือข่ายยุทธศาสตร์ระดับชาติ นำกระบวนการ “สมัชชาเฉพาะประเด็น” ไปใช้หาทางออกประเด็นที่ต้องการการแก้ไขปัญหา “เชิงระบบ” ตัวอย่างหนึ่งคือเรื่องการป้องกันและลดปัญหาความรุนแรงในสังคมไทย โดยเฉพาะความรุนแรงจากอาวุธปืนและอื่นๆ ซึ่ง คสช. เห็นชอบและมอบหมายให้ สช. ประสานภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการพัฒนาเป็นนโยบายและขับเคลื่อนเชิงระบบต่อไป

         พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ สำหรับปี ๒๕๖๖ หมุดหมายที่ สช. ปักเอาไว้คือการเป็นเพื่อนร่วมทางช่วยถักทอ-สานพลังการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา เพื่อสร้างภาพฝันของสังคมที่เราอยากเห็น ตามเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ นั่นก็คือการสร้าง "ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

จึงอยากเชิญชวนทุกท่านร่วมกันทำให้ภาพอนาคตที่เราอยากเห็น “สังคมสุขภาวะที่เท่าเทียม” เกิดขึ้นจริง และขอสวัสดีปีใหม่ ๒๕๖๖ ล่วงหน้าครับ

รูปภาพ