สงกรานต์ : ฉากทัศน์ : โรคประจำถิ่น | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

         สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน เมษายน ๒๕๖๕ เดือนแห่งเทศกาลสงกรานต์และวันหยุดยาว ซึ่งพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่เขตเมือง รวมถึงกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะได้มีโอกาสพักผ่อน-เดินทางกลับภูมิลำเนา เพื่อเยี่ยมเยียนและพบปะครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา

         ในปีนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประกาศให้วันพุธที่ ๑๓ ถึงวันศุกร์ ๑๕ เม.ย. เป็นวันหยุดราชการ ซึ่งเมื่อบวกกับวันเสาร์-อาทิตย์ที่อยู่ติดกันด้วยแล้ว เท่ากับว่าเทศกาลสงกรานต์ปี ๒๕๖๕ จะได้หยุดยาวมากถึง ๕ วันติดต่อกัน

         การเคลื่อนย้ายประชากรในช่วงวันหยุดยาว ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดนั้น ยังคงเป็นความท้าทายต่อการควบคุมโรคในระดับประเทศ โดยล่าสุด (๗ เม.ย.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินฉากทัศน์การระบาดในช่วงสงกรานต์ว่า ในกรณีที่คงมาตรการต่างๆ เอาไว้ และประชาชนให้ความร่วมมือในระดับปัจจุบัน คาดว่าในวันที่ ๑๙ เม.ย. ๒๕๖๔ จะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราววันละ ๕ หมื่นราย

         มากไปกว่านั้น ก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่วัน สธ. และ ศบค. ได้เคยคาดการณ์เอาไว้ว่า หากประชาชนย่อย่อนมาตรการป้องกันโรค ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์อาจเพิ่มขึ้นไปถึง ๑ แสนราย และช่วงต้นเดือน พ.ค. จะมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงวันละ ๒๕๐ คน

         ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า นอกเหนือจากการปฏิบัติตัวตามมาตรการของภาครัฐอย่างเข้มข้นแล้ว การเข้ารับวัคซีนเข็มที่ ๓ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งสัดส่วนการฉีดวัคซีนเข็ม ๓ ต่ำ และอัตราการเสียชีวิตสูง ซึ่งจากข้อมูลของ สธ. ตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค. – ๓๑ มี.ค. ๒๕๖๕ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวม ๒,๗๐๑ ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปี คิดเป็น ๗๘% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

         อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะยังเป็นภัยคุกคามด้านสุขภาพของประเทศและของโลก แต่ชีวิตของทุกคนก็ยังต้องเดินต่อไปครับ ซึ่งประเทศไทยได้ประกาศนโยบาย “อยู่ร่วมกับโควิด” และปักหมุดเอาไว้ว่า ภายในวันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๖๕ จะประกาศให้โควิด-19 กลายเป็น “โรคประจำถิ่น” โดยคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้มีมติเห็นชอบแผนรองรับการเข้าสู่โรคประจำถิ่น แบ่งออกเป็น ๔ ระยะดังนี้

         ระยะที่ ๑ (มี.ค.-ต้น เม.ย.) เรียกว่า Combatting เป็นระยะต่อสู้เพื่อกดตัวเลขไม่ให้สูงขึ้น ระยะที่ ๒ (เม.ย.-พ.ค.) เรียกว่า Plateau คือการคงระดับผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น ให้เป็นระนาบจนลดลงเรื่อยๆ ระยะที่ ๓ (ปลาย พ.ค.-๓๐ มิ.ย.) เรียกว่า Declining การลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้เหลือ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คน และ ระยะที่ ๔ ตั้งแต่วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๖๕ เรียกว่า Post pandemic หรือการออกจากโรคระบาด เข้าสู่โรคประจำถิ่น

         อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านก็คือ การอยู่ร่วมกับโควิดและการประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นนั้น ไม่ได้หมายความเราทุกคนจะปลอดภัยจากโควิด-19 หรือโควิด-19 จะสิ้นฤทธิ์ไม่มีอันตรายแล้ว ในทางกลับกันแม้ว่าจะประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่เชื้อก็ยังมีการกระจายอยู่ และจะยังมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ ฉะนั้นการยกการ์ดสูงในระยะยาวจึงยังเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ

         ที่สำคัญ เมื่อโควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว การปูพรมตรวจคัดกรองหาเชื้อคงลดน้อยลง เช่นเดียวกับการสืบสวนโรคในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่จะลดลงหรือถูกยกเลิกในที่สุด ส่วนการรักษาก็จะเป็นไปตามอาการ ผู้ที่ป่วยหนักก็จะส่งต่อไปโรงพยาบาลต่อไป ดังนั้นสิ่งที่อยากเน้นย้ำคือ ความเข้มงวดในการป้องกันตัวเองและการใช้ชีวิตวิถีใหม่

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา