... ปรีชา ปาใจ, บัณฑิต มั่นคง
หลังจากฝนหลงฤดูได้เทเม็ดลงมาทั่วทุกภาคของไทย ท้องฟ้ากลับหม่นลงไปด้วยเมฆเทาและละอองฝุ่นปะปน ไม่เว้นแม้ในเมืองหลวง หัวเมืองปริมณฑล กระทั่งถึงจังหวัดน้อยใหญ่ทั่วทั้งทางภาคเหนือ ภาวะความตื่นตัวเรื่องผลกระทบจากฝุ่นควันก็เริ่มจริงจังและการผลักดันข้อเสนอของการสร้างสภาพแวดล้อมและอากาศสะอาดก็กลับมาอีกครั้งในช่วงนี้
ภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนการลดปัญหาผลกระทบจากปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ ที่ได้รวมกันขยับเป็น “เครือข่ายสภาลมหายใจ” ไปทั่วทั้งภาคเหนือและพากันสานพลังของทุกภาคส่วนในแต่ละจังหวัด ร่วมกันเป็นสภาลมหายใจเพื่อมาหาแนวทางร่วมกันแก้ปัญหา สร้างนวัตกรรมในการจัดการกับปัญหาสุขภาพระดับใหญ่ทั้งของพื้นที่ ประเทศและข้ามประเทศ ต่างก็มีการขยับงานร่วมกันอย่างคึกคัก
ที่จังหวัดลำพูน มีเวทีเสวนา “ลมหายใจหละปูน : ผืนป่า สวน นา ไฮ่ ไฟควัน” ไปเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ โดยมี นายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทั้งมีผู้แทนส่วนราชการ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายสภาลมหายใจจังหวัดลำพูนเข้าร่วม หัวใจสำคัญของเวทีดังกล่าวมีเป้าหมายที่การสร้างความรู้ความเข้าใจและความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นควัน pm 2.5 โดยได้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันมาได้ระยะหนึ่งแล้ว
จังหวัดพะเยา มีการจัดเวทีเสวนา “สร้างอากาศสะอาด ลดฝุ่นควันในจังหวัดพะเยา” จัดโดยสภาลมหายใจพะเยาร่วมกับภาคีพัฒนาต่างๆ ณหอวัฒนธรรมนิทัศน์ วัดศรีโคมคำ เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในการป้องกันฝุ่นควันและไฟป่า สร้างจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อม ลมหายใจสะอาด นอกจากจะนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ ปัญหาฝุ่นควัน ผลการดำเนินงานของสภาลมหายใจ แนวทางการจัดการลดฝุ่นควันภาคเอกชน สภาองค์กรชุมชนกับการจัดการลดการเผาและฝุ่นควัน
ในเวทีที่จังหวัดพะเยาก็มีการจัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อให้นำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน อาทิ ๑. การกระจายอำนาจให้ชุมชน สภาองค์กรชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดทำแผนป้องกันไปและฝุ่นควันจากระดับพื้นที่ ๒. การพัฒนาพื้นที่รูปธรรมที่มาจากนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ทั้งต่อการเผาในพื้นที่เกษตรและการจัดแผน zoning พื้นที่เกษตรพื้นที่สูง ๓. การส่งเสริมพัฒนาอาสาสมัคร การสื่อสารสาธารณะ สร้างการรับรู้ ๔. การจัดหาเครื่องมือวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมทุกพื้นที่ ทำให้ประชาชนตื่นตัว มีข้อมูลที่ชัดเจนและถูกต้อง ที่สำคัญคือยกระดับเป็นวาระร่วมจังหวัด ภูมิภาคโดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
วิกฤตปัญหาและผลกระทบจากภาวะหมอกควันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง การแก้ไขปัญหาจึงต้องอาศัยระบบการบริหารจัดการที่ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว ต้องมีการวางแผนร่วมกัน มีการกำหนดเป็นนโยบายสาธารณะที่นำไปสู่การลุกขึ้นมาร่วมเป็นเจ้าของ อาศัยความรู้ระบบข้อมูล และมีข้อเสนอที่ชัดเจนว่าด้วยการจัดการปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ถือเป็นปัญหาของ “หน้าหมู่” และ “เพราะเรามีลมหายใจเดียวกัน” จึงต้องอาศัยการระดมสรรพกำลังของทุกภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน โดยอาศัยปัญญารวมหมู่ ยกระดับเป็นพลเมืองตื่นรู้ รับมือป้องกันแก้ไข ปัญหาจึงจะคลี่คลายได้
- 259 views