- 952 views
พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ งานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 14 พ.ศ. 2564 ได้ปิดม่านลงไปแล้วอย่างชื่นมื่น ท่ามกลางการมีส่วนร่วมและบรรลุเป้าประสงค์ของการจัดงาน โดยสมาชิกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจากหน่วย องค์กร และผู้แทนของกลุ่มประชาชนต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 3 พันคน ได้ให้ฉันทมติใน 3 ระเบียบวาระ พร้อมกับ “ให้ถ้อยแถลง เป็นพันธะสัญญา” ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ ให้เกิดรูปธรรมอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และงานนี้มีประชาชนที่สนใจเข้าเยี่ยมชมกิจกรรมการประชุมผ่าน FBlive สช. มากกว่า 2 แสนวิว
นอกจากนี้ สมาชิกสมัชชาฯ ยังได้ร่วมกันประกาศวาระแห่งชาติทางสุขภาพ ประจำปี 2565-2566 ซึ่งก็คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ที่จะเป็นประเด็นหลัก (ธีม) ในการจัดสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 15-16 พ.ศ. 2565-2566
ในรอบปี 2564 ที่ผ่านมา เมื่อประเทศเจอวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 สช. ได้ชวนเพื่อนภาคีเครือข่ายทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ขับเคลื่อนแผนงาน “รวมพลังพลเมืองตื่นรู้ ช่วยชาติสู้ภัยโควิด-19” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพราะต้นปี 2564 มีการระบาดระลอกใหม่ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสมุทรสาคร แหล่งอุตสาหกรรมที่มีแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา ติดเชื้อจำนวนมาก ตามด้วยการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่ทั้งเร็วและแรง ระบาดหนักในพื้นที่ชุมชนแออัด และแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑล และได้กระจายไปยังเมืองใหญ่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ครั้งนี้เพื่อนภาคีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในส่วนกลาง ได้ร่วมกับ กขป.ทั้ง 13 เขต รวมทั้งเครือข่ายสมัชชาสุขภาพทุกจังหวัด และองค์กรต่างๆ ในพื้นที่ ขับเคลื่อนทำให้เกิดมาตรการของประชาชน และนวัตกรรมทางสังคมที่หลากหลาย เพื่อหนุนช่วยมาตรการหลักของรัฐทำให้การรับมือกับวิกฤตของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เริ่มจากการเตรียมความพร้อมแกนนำและอาสาสมัคร ออกเคาะประตู รณรงค์ให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และจัดหาปัจจัยการดำรงชีวิตให้กับกลุ่มเป้าหมาย การจัดตั้งศูนย์พักคอยใกล้บ้านใกล้ใจ เกิด “คลองเตยโมเดล” เป็นต้นแบบในการตั้ง Community Isolation (CI) และ Home Isolation (HI) ในกรุงเทพฯ และต่อมาขยายเป็นนโยบายของรัฐให้มีการจัดตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งการจัดระบบการบริหารจัดการโควิด-19 แบบมีส่วนร่วมที่สานพลังทุกภาคส่วนภายในจังหวัดต่างๆ จนเกิดเป็น “นครปฐมโมเดล” ที่ กขป. หลายเขตพื้นที่ และสมัชชาสุขภาพหลายจังหวัดได้นำไปต่อยอดในพื้นที่ และเกิดดอกผลอื่นๆ เกิดนวัตกรรมทางสังคมจำนวนมาก และเป็นต้นทุนทางสังคมที่ประชาชนจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ใช้รับมือกับการระบาดระลอกที่ 5 ของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังเทศกาลหยุดยาวปีใหม่อีกครั้ง
วิกฤตโควิด-19 ที่แพร่ระบาดมาเป็นเวลา 2 ปีเต็ม และมีแนวโน้มจะยังอยู่อีกนาน ได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากตกอยู่ในความยากลำบาก ขาดโอกาส ขาดรายได้ โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย แรงงานนอกระบบ ประชากรกลุ่มเฉพาะ ฯลฯ ที่เข้าไม่ถึงระบบสุขภาพและหลักประกันทางสังคม ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และเพิ่มช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญสุดของความขัดแย้งเรื้อรังทางสังคมและได้แสดงออกมากขึ้นในขณะนี้
สิ่งที่ท้าทายพวกเราในปี 2565 นี้ ก็คือ การออกแบบ “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของไทย” ที่สามารถรองรับสถานการณ์ข้างหน้าหลังวิกฤตโควิด-19 ได้ และช่วยพลิกฟื้นประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพของประชาชน หนึ่งในรูปธรรมที่สอดคล้องกับโจทย์ข้างต้นก็คือ การจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ที่ สช. และภาคีสุขภาพทั่วประเทศกำลังจัดทำอยู่
เป้าหมายของธรรมนูญฯ ฉบับที่ ๓ คือ “การสร้างความเป็นธรรมด้านสุขภาพ และให้เกิดระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งสอดคล้องกับเป้าประสงค์หลักของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 15 และ 16 ที่กำหนดไว้ว่า “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ความหวัง และโอกาสอนาคตประเทศไทย”
เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ของไทย” ซึ่งจะถูกบรรจุอยู่ในเนื้อหาของ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” ผมขอเชิญชวนพวกเราจากทุกองค์กร ทุกภาคส่วน มาร่วมเป็นกำลังสำคัญในการออกแบบและเป็นเจ้าของธรรมนูญฯ ฉบับนี้ ที่จะใช้เป็นกรอบและแนวทางการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ รวมทั้งของหน่วยงาน องค์กร และประชาชนในอีก 5 ปีข้างหน้า
พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ปี 2565 จะเป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ผมจึงขอใช้พื้นที่แห่งนี้อำนวยพรและส่งมอบความปรารถนาดีให้ทุกท่านพานพบแต่ความสุข ความสำเร็จ มีสุขภาพจิตเบิกบาน สุขภาพกายแข็งแรง มีพลังที่จะร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างสังคมสุขภาวะและก่อกำเนิดสิ่งดีงามขึ้นในประเทศไทย ... สวัสดีปีใหม่ครับ