สช.เช็กความพร้อม ‘สมัชชาจังหวัด’ ทั่วปท. ก่อนเข้าร่วม ‘คกก.ควบคุมโรคฯ’ สู้โควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
สช.เช็กความพร้อม ‘สมัชชาจังหวัด’ ทั่วปท. ก่อนเข้าร่วม ‘คกก.ควบคุมโรคฯ’ สู้โควิด-19


สช.ถกเครือข่าย ‘สมัชชาจังหวัด’ ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมก่อนเข้าร่วม ‘คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด’ วางมาตรการสู้โควิด-19 พร้อมทั้งสานพลังการทำงานระหว่างภาครัฐ-ประชาชน หนุนเสริมการควบคุมโรคระดับพื้นที่

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมทำความเข้าใจผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดในการเข้าร่วมที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทของผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ต่อการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ภายหลังที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติเห็นชอบให้ผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัดเข้าร่วมประชุม

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาภาคประชาชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมรับมือกับโรคโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงระยะแรกของการระบาด ที่เกิดข้อตกลงร่วมของชุมชนเพื่อหนุนเสริมมาตรการหลักของภาครัฐ จนเมื่อสถานการณ์รุนแรงขึ้นในระยะหลัง ก็ได้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ขึ้น และพัฒนาจนกลายมาเป็นนโยบายที่ใช้ไปในทั่วประเทศ
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


นพ.ประทีป กล่าวว่า ในเวลาต่อมา สช. ได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประสานให้จังหวัด และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) พิจารณาให้มีผู้แทนสมัชชาสุขภาพจังหวัด ร่วมในคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของแต่ละจังหวัด เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้ และร่วมดำเนินการให้มาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็ได้รับความเห็นชอบจากมติคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในวันที่ 23 ส.ค. 2564

“ช่วงการระบาดระลอกหลังที่ผู้ติดเชื้อเริ่มกระจายจาก กทม.และปริมณฑล ออกไปสู่ภูมิภาค ทำให้ท้องถิ่นกลายเป็นฐานสำคัญในการจัดการโรค ซึ่งจะเห็นได้ว่าการดูแลผู้ติดเชื้อปัจจุบัน กว่า 2 ใน 3 นั้นอยู่ในระบบ HI หรือ CI คือชุมชนและประชาชนที่เข้ามามีส่วนเข้ามาดูแลกันเองมากขึ้น นี่จึงเป็นจุดที่ตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่จะต้องเข้ามาร่วมรับรู้การเคลื่อนไหว และทำงานร่วมกันกับรัฐให้มากขึ้น” นพ.ประทีป กล่าว

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ของไทยเองมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ ซึ่งตรงนี้มีความสำคัญมากที่ภาคประชาชน รวมไปถึงภาคเอกชน จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยบรรเทาสถานการณ์ปัญหา และทำให้การควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงมาตรการ นโยบาย รวมถึงแนวปฏิบัติต่างๆ จากระดับชาติ ลงไปดำเนินงานในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
 

โสภณ เอี่ยมศิริถาวร


“จะเห็นได้ว่าการควบคุมโรคนั้น ประชาชนเป็นส่วนสำคัญ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจไม่ได้มีตัวแทนของประชาชนมาอยู่ในการดำเนินงานอย่างเต็มรูปแบบ ภายในกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่เดิมจะมีองค์ประกอบของส่วนราชการในด้านการแพทย์และสาธารณสุขเป็นหลัก แต่หากมีส่วนขยายที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการอื่น รวมถึงประชาชนเข้ามา ก็จะทำให้การดำเนินงานครบสมบูรณ์แบบมากขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว

นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผวจ.นครปฐม กล่าวว่า ในบางครั้งมาตรการปกติหรือแนวทางที่มาจากส่วนกลาง อาจไม่สอดคล้องกับแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันทางบริบท หรือแม้แต่ภายในจังหวัดเองที่แต่ละอำเภอก็มีความแตกต่างกัน ฉะนั้นมาตรการบางอย่างก็อาจไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องมีตัวแทนจากภาคประชาสังคมที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่ง จ.นครปฐม ได้เล็งเห็นและเชิญเข้ามาร่วมประชุมหารือตั้งแต่ต้น บนเป้าหมายร่วมกันคือทำอย่างไรให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
 

สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ


“ตัวแทนจากสมัชชาสุขภาพจังหวัดที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน จะมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในการเข้ามาร่วมให้ความเห็น ช่วยสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งในบางครั้งข้อมูลที่ได้จากรายงานอย่างเดียวอาจไม่ครบถ้วน เพื่อให้คณะกรรมการหรือฝ่ายบริหารใช้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องในการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็จะเป็นประโยชน์ในการประสานงานต่างๆ ซึ่งลำพังการทำงานของเจ้าหน้าที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่เข้าใจได้ แต่เวลาชาวบ้านคุยกับชาวบ้านเอง จะเข้าใจได้ง่ายกว่าทางราชการเป็นคนไปคุย” นายสุรศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ นางกัลยาทรรศน์ ติ้งหวัง สมัชชาสุขภาพจังหวัดสตูล กล่าวว่า จุดเริ่มต้นที่เครือข่ายภาคประชาชน จ.สตูล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด มาจากคำเชิญของ ผวจ.สตูล ที่ได้เห็นและรับฟังข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากเครือข่ายภาคประชาชน ซึ่งได้มาจากการเก็บข้อมูล และเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้ให้หน่วยงานเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเดียว แต่เป็นการเอาเครือข่ายภาคประชาชนทั้งหมดมาร่วมปฏิบัติด้วย
 

กัลยาทรรศน์ ติ้งหวัง


“อีกส่วนหนึ่งคือช่วงที่เกิดปัญหาตอนปิดเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งเครือข่ายประชาชนและชาวบ้านทั้งหมดไม่เคยรับรู้ว่าทางจังหวัดได้ทำงานไปแค่ไหนอย่างไร เมื่อผู้ว่าฯ เปิดใจให้โอกาส ภาคประชาสังคมจึงเข้าไปมีส่วนร่วม และเราเองก็ไม่ได้รีรอให้เขาเชิญเข้าไปนั่งอย่างเดียว แต่ระหว่างนั้นเราก็ได้ทำข้อมูลรวมถึงข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำเข้าไปด้วย โดยส่วนหนึ่งที่เราเสนอคือการเป็นข้อต่อ ขอเป็นสื่ออีกช่องทางที่จะตอบคำถามว่าคณะกรรมการ หรือหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัดได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขปัญหาไปแล้วบ้าง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนมักไม่รับรู้” นางกัลยาทรรศน์ กล่าว

ด้าน ศ.พิเศษ นพ.สำเริง แหยงกระโทก ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า โควิด-19 ได้คุกคามและคร่าชีวิตผู้คนมานาน และจะคงอยู่ไปอีกนาน ซึ่งยังจะมีปัญหาตามมาอีกมาก ฉะนั้นเมื่อเราเห็นปัญหาร่วมกันแล้ว จากนี้คือจะต้องนำกลไกส่วนต่างๆ เช่น สช.เองที่มีทั้งสมัชชาสุขภาพ มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) หรือจังหวัดที่มีทั้งคณะกรรมการโรคติดต่อ หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) จังหวัด นำมารวมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน
 

สำเริง แหยงกระโทก


ศ.พิเศษ นพ.สำเริง กล่าวว่า ในส่วนของภาคประชาชนที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อาจมีส่วนร่วมได้ใน 4 ระดับ คือ 1. เข้าไปเป็นกรรมการ 2. เข้าไปเป็นที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการจังหวัด 3. ได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมเป็นประจำทุกครั้ง 4. ได้รับเชิญไปประชุมเป็นบางครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเข้าไปได้มากน้อยในระดับใด แต่เมื่อเข้าไปมีส่วนร่วมแล้วก็สิ่งที่ต้องทำก็คือการเดินหน้าหาแนวทางทำในสิ่งต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการ ตรวจหาเชื้อให้ไว รักษาชีวิตให้ทัน สร้างภูมิคุ้มกันให้ครบ รวมไปถึงเรื่องของเศรษฐกิจที่จะต้องเพิ่มความสำคัญเข้ามาหลังจากนี้
 

คกก.ควบคุมโรคฯ

 

book_nha_ddc


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141


 

รูปภาพ
สช. สมัชชาจังหวัด คกก.ควบคุมโรค