พระสงฆ์และศาสนสถาน เสาค้ำยันทางจิตวิญญาณ หนุนเสริม ‘ชุมชน’ สู้ภัยโควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

     “ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดซึ่งก่อให้เกิดความหวาดหวั่นครั่นคร้ามกันทั่วหน้า ทุกคนมีหน้าที่แสวงหาหนทางเพิ่มพูน “สติ” และ “ปัญญา” พร้อมทั้งแบ่งปันหยิบยื่นให้แก่เพื่อนร่วมสังคม อย่าปล่อยให้ความกลัวภัยและความหดหู่ท้อถอย คุกคามเข้าบั่นทอนความเข้มแข็งของจิตใจ ในอันที่จะอดทน พากเพียร เสียสละ และสามัคคี

    เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานคติธรรมเป็นกำลังใจในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๓


    สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่าน เป็นไปตามที่ได้พูดคุยกันไว้ในนิตยสารสานพลัง ฉบับเดือนกรกฎาคมว่า ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ของไทยได้ทะลุหลัก ๒ หมื่นคน เสียชีวิตมากกว่า ๒๐๐ ศพต่อวันแล้ว และติดเชื้อสะสมกำลังเดินหน้าสู่ ๑ ล้านคน คาดว่าจะสูงสุดในช่วงกลางสิงหาคมถึงกันยายนนี้ และการระบาดได้ขยับออกจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล กระจายตัวจนใกล้เป็น “วิกฤตระดับพื้นที่” ทั่วประเทศไปแล้ว โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ระบุว่า สถานการณ์เตียง รพ. ทั่วประเทศ ยกเว้น กทม. มีเตียงรวม ๑.๗ แสนเตียง ใช้ไปแล้วกว่า ๑.๒ แสนเตียง หรือคิดเป็นร้อยละกว่า ๗๐ นั่นหมายความว่า ขณะนั้นทั่วประเทศเหลือเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยรายใหม่ไม่ถึง ๕ หมื่นเตียงเท่านั้น และหากพิจารณาตัวเลขประชาชนที่ทยอยเดินทางออกจาก กทม. กลับไปรักษาตัวตามภูมิลำเนาที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามนโยบายกระจายผู้ติดเชื้อเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระเตียงของ รพ. ใน กทม. อีกไม่นานสถานการณ์ของแต่ละจังหวัดก็ไม่ต่างจาก กทม. ที่ผ่านมา

    สถานการณ์เช่นนี้ตอกย้ำว่า เป้าหมายและกลยุทธ์รับมือโควิด-19 ระลอกสี่จะอยู่ที่ “ตำบลและชุมชน โดยมีการดูแลรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) และศูนย์พักรักษาที่ชุมชน หรือ Community Isolation (CI) ที่จัดการโดยประชาชนในพื้นที่ จะเป็นระบบบริการหลัก” โดยมีจังหวัดและอำเภอเป็นฐานอำนวยการ สนับสนุน และรับรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่มีอาการหนัก รวมทั้งมีพระและวัดเป็นที่พึ่งด้านจิตใจของครอบครัวผู้เสียชีวิต

    เป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๓ “การบริหารจัดการวิกฤตสุขภาพแบบมีส่วนร่วม กรณีโรคระบาดใหญ่” ได้สานพลังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อสร้างระบบ สร้างการมีส่วนร่วม สร้างบทบาทและมาตรการของประชาชนในพื้นที่ทั่วประเทศรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ของประเทศ

    ตัวอย่างพลังภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาคธุรกิจ ภาคสังคม และจิตอาสาของจังหวัดนครปฐม ได้เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้การสนับสนุนของผู้ว่าราชการจังหวัด และนายก อบจ. เกิดมาตรการของชาวนครปฐม จนเป็นต้นแบบการจัดระบบการจัดการโควิด-19 ระดับจังหวัด เกิดเป็น “นครปฐมโมเดล” ที่มีรูปธรรมการจัดการ กิจกรรม และนวัตกรรมทางสังคมระดับพื้นที่ที่หลากหลาย ล่าสุด ๔ จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ หรือ “นครชัยบุรินทร์” และ ๕ จังหวัดของ กขป. เขต ๑๐ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร มุกดาหารและอำนาจเจริญ ได้นำโมเดลดังกล่าวไปต่อยอดแล้ว

    หากถอดบทเรียนเรื่องมาตรการประชาชนในการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ จาก “นครปฐมโมเดล” จะพบว่ามีอยู่ ๔ ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ๑. การตั้งศูนย์ประสานงานภาคประชาชนสู้ภัยโควิด-19 ประจำจังหวัด ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานและทำงานร่วมกับภาครัฐ ซึ่ง จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการแล้ว ๒. การจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมปัจจัยสนับสนุน ซึ่งมีตัวอย่างจาก “กองทุนลมหายใจ” ของ จ.นครปฐม ๓. การบริหารสิ่งสนับสนุนทั้งทางการแพทย์และทางสังคมเข้าไปสู่ HI และ CI ในชุมชนพื้นที่ ๔. การสร้างและพัฒนาทักษะการจัดการ HI และ CI ของแกนนำ และอาสาสมัครในชุมชน ภายใต้การเป็นพี่เลี้ยงของระบบบริการสาธารณสุขในพื้นที่รับผิดชอบ

     นอกจากมาตรการของประชาชนแล้ว บทบาทของพระสงฆ์และวัดที่มีอยู่ทุกพื้นที่ภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก็มีความสำคัญมากในการเป็น “ผู้นำชุมชน และสถานที่พักพิง” รับมือกับวิกฤตครั้งนี้ ดังที่ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ได้แสดงพระธรรมเทศนา ไว้เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๖๔ ตอนหนึ่งว่า ...

“ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ทุกภาคส่วนล้วนนำเอาความดีและความเชี่ยวชาญมารวมเป็นพลังสำคัญช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คณะสงฆ์ได้จัดตั้งโรงทาน ตามพระราชดำริของสมเด็จพระสังฆราชฯ สนับสนุนให้ใช้พื้นที่วัดเป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อผู้ป่วยสีเขียว คณะสงฆ์ทั่วสังฆมณฑล ร่วมประสานหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จัดตั้งโรงพยาบาลสนามทั่วประเทศเพื่อรองรับและสงเคราะห์ผู้ประสบภัยโควิด-19”

     สำหรับบทบาทของวัดและพระสงฆ์ในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ภายใต้การขับเคลื่อนธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ อาจแบ่งออกเป็น ๔ ด้าน ได้แก่  ๑. การดูแลด้านสุขภาพกันเองของพระสงฆ์ และการร่วมดูแลชุมชน  ๒. การสนับสนุนให้เกิดการจัดตั้ง CI ซึ่งเป็นได้ทั้ง CI ของพระด้วยกันเอง หรือการใช้พื้นที่วัดเป็นฐานเพื่อจัดตั้ง CI ของชุมชน  ๓. การระดมปัจจัยและสิ่งสนับสนุนในพื้นที่  ๔. การช่วยเหลือญาติโยมในช่วงท้ายของชีวิต และการ “ปลุก-ปลอบ” เยียวยาจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย

พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ โควิด-19 ได้สร้างบาดแผลฉกรรจ์ในจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสีย ทั้งจากการเสียชีวิตอย่างโดดเดี่ยวโดยที่ญาติไม่มีโอกาสได้ดูใจ การประกอบพิธีศพและการฌาปนกิจที่ต้องรวบรัดกระบวนความ ฯลฯ ซึ่งที่จริงแล้วก็มีส่วนคล้ายคลึงกับเหตุการณ์สึนามิ เมื่อปี ๒๕๔๗ แต่ขณะนั้นมีการบริหารจัดการศพและจัดเก็บศพผู้เสียชีวิตไว้อย่างเป็นระบบ จนเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลงจึงนำศพเหล่านั้นมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งก็ช่วยเยียวยาจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสียได้

แตกต่างกับโควิด-19 ที่อาจมีข้อจำกัดเรื่องการจัดเก็บศพ ดังนั้นพระภิกษุสงฆ์และวัดจึงมีบทบาทเป็น “เสาหลักทางจิตวิญญาณ” ในการดูแลครอบครัว-ญาติผู้สูญเสีย เพื่อให้ทุกคนก้าวผ่านความยากลำบากครั้งนี้ไปได้ด้วยกัน

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา