ใช้ชุมชนเป็นฐาน - จัดวาง CI ขนาดเล็กทั่วประเทศ สช.สานพลัง ‘สมัชชาสุขภาพจังหวัด’ สู้โควิด-19 | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file
ใช้ชุมชนเป็นฐาน - จัดวาง CI ขนาดเล็กทั่วประเทศ


...สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)

วิกฤตการณ์โควิด-19 ระลอกล่าสุด ที่เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก่อนจะกระจายตัวออกไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ กำลังก่อให้เกิดปัญหาขนาดใหญ่เกินกว่าที่ส่วนกลางจะใช้อำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จ

นั่นทำให้ทิศทางของการควบคุมโรคในขณะนี้ต้องขยายออกไปสู่ระดับพื้นที่-ชุมชน อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เห็นได้จากการส่งตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับไปรักษาต่อตามภูมิลำเนา หรือการจัดตั้งระบบการดูแลโดยชุมชน (Community Isolation : CI) ซึ่งกลายมาเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์ยากอันลำบาก

เมื่อตำบล-ชุมชน คือพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการสู้รบกับโควิด จำเป็นต้องมีการเชื่อมร้อยทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ซึ่งทุกวันนี้ประเทศไทยมีกลไกที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพจังหวัด” เครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมระดับพื้นที่ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

ท่ามกลางการแพร่ระบาดรุนแรง มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าวันละ 1 หมื่นราย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สานพลังองค์กรภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ตลอดจนภาคียุทธศาสตร์ด้านสังคม-สุขภาพ เพื่อหนุนเสริมมาตรการของส่วนกลางให้นำลงปฏิบัติได้จริงในระดับพื้นที่

ล่าสุด สช. ได้ชักชวนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดทั่วประเทศร่วมกันระดมความคิด วางแผนขับเคลื่อนงานระดับชุมชน โดยมีการนำรูปธรรมของ จ.นครปฐม หรือ “นครปฐมโมเดล” มาเป็นต้นแบบในการพูดคุย เพื่อถอดบทเรียน-แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ก่อนที่จะนำผลสัมฤทธิ์ไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ตามบริบทของแต่ละพื้นที่

หลักการสำคัญของการเดินหน้าคือ “หาเชื้อให้ไว รักษาชีวิตให้ทัน สร้างภูมิคุ้มกันให้ครบ” ด้วยการระดมตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วย Antigen Test Kit (ATK) การจัดตั้งศูนย์พักคอยในชุมชน หรือ Community Isolation ไปจนถึงเรื่องของการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ซึ่งตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้วใน จ.นครปฐม คือการจัดตั้ง “Community Isolation Complex” แบบครบวงจรขึ้น สามารถตรวจหาเชื้อและนำเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า สถานการณ์ขณะนี้ หากจะให้โรงพยาบาลเป็นฐานในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ต่อไปคงไม่ไหว แม้แต่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิก็จะต้องเจอกับภาระหนักหน่วงด้วยเช่นกัน ดังนั้นหัวใจสำคัญนับจากนี้คือการให้ชุมชนเป็นฐาน จัดวาง CI ขนาดเล็กที่กระจายไปในพื้นที่ระดับตำบล เพื่อให้ชุมชนสามารถร่วมดูแลกันเองได้
 

ปรีดา แต้อารักษ์


“พร้อมกันนั้นคือการให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจด้วย ATK และหากพบว่าติดเชื้อก็จะต้องเข้าถึงการรักษา ยา และอุปกรณ์ที่จำเป็นได้อย่างทันท่วงที หากท้องถิ่นเข้ามาร่วมกันเดินหน้ายุทธการนี้ ให้ชุมชนช่วยกันรักษาฐานเอาไว้ให้ได้ ควบคุมสถานการณ์ให้คงที่ แล้วรอเวลาที่วัคซีนเข้ามากระจายได้อย่างทั่วถึง เราก็จะฝ่าวิกฤตนี้ได้” นพ.ปรีดา ระบุ

มุมมองจาก นพ.สำเริง แหยงกระโทก อดีตผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข วิเคราะห์ว่า กลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดแต่ละแห่งก็อาจมีระดับที่แบ่งได้เป็น 3 สี คือ “สีแดง” ที่อาจไม่ได้ให้ความสนใจมากนัก “สีเหลือง” ที่หากบอกแล้วก็จะร่วมมือปฏิบัติ และ “สีเขียว” ที่ตื่นตัวและมีความพร้อมเข้าร่วมดำเนินการ ดังนั้นโจทย์หนึ่งจึงเป็นการชักชวนเพื่อดึงเครือข่ายสมัชชาฯ เหล่านี้ขึ้นมาเพิ่มการมีส่วนร่วมในแต่ละระดับได้อย่างไร
 

สำเริง แหยงกระโทก


ขณะเดียวกัน อีกปัจจัยของสมัชชาสุขภาพจังหวัดในหลายแห่ง คือพบว่าไม่ได้เข้าไปมีบทบาทอยู่ในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่จะสามารถให้ข้อเสนอการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้ ดังนั้นอีกสิ่งสำคัญจึงเป็นการให้สมัชชาสุขภาพ มีบทบาทเข้าไปอยู่ในจุดศูนย์กลางการบริหารของจังหวัดก่อน ดังตัวอย่างของนครปฐมที่กลไกสมัชชาสุขภาพ ขับเคลื่อนไปพร้อมกันกับทั้ง ผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และองค์ประกอบอื่นๆ

หนึ่งในเสียงสะท้อนการดำเนินงานของจังหวัดจาก นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 10 ระบุว่า ในจังหวัดภาคอีสานเองกำลังพบเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาด เนื่องจากการเคลื่อนย้ายของประชากรจาก กทม. ดังนั้นในพื้นที่เขต 10 ก็ได้มีการร่วมกันวางมาตรการระดับพื้นที่ โดยชุมชนที่มาร่วมดำเนินการเฝ้าระวังเชิงรุก ร่วมกับภาคีภาคส่วนต่างๆ
 

นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ


ทั้งนี้ ได้มีการใช้ทุนของสมัชชาสุขภาพจังหวัด มาทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล หรือคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ในกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นการคัดกรอง การทำ Home Isolation, Community Isolation ร่วมกันกับชุมชน เพื่อเสริมระบบสาธารณสุขมูลฐาน

นพ.นิรันดร์ ระบุว่า ส่วนช่องว่างในบางประเด็นอย่างการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพมาใช้ หากเป็นไปได้อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือ สช. มาทำให้เกิดความชัดเจนและเข้าใจร่วมกันว่าจะสามารถนำเงินออกมาใช้ส่วนไหนได้อย่างไร รวมไปถึงการผลักดันเรื่องของธรรมนูญสุขภาพ ให้เชื่อมโยงกับสถานการณ์โควิด-19

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมา สช. ได้เริ่มมีการประสานเพื่อให้กลไกสมัชชาสุขภาพ เข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจังหวัดจะเป็นฐานสำคัญในการรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะ อบจ. ที่จะเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของกลไกการเงินจากงบประมาณและกองทุน
 

ประทีป ธนกิจเจริญ


“สช.จะนำแนวคิดเหล่านี้ไปคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ขยายกฎระเบียบกลไกทางการเงินที่จำเป็น เพื่อนำไปขับเคลื่อนการดำเนินงานระดับประเทศ ให้รับมือกับโควิด-19 โดยมีฐานอยู่ในพื้นที่ ขณะเดียวกันจะจัดทำคู่มือพิมพ์เขียว ที่ให้ข้อมูลเรื่องระเบียบกลไกการเงินทั้งหลายของพื้นที่ รวมถึงประสบการณ์ ตัวอย่างการดำเนินงานของแต่ละจังหวัด เพื่อเผยแพร่ให้แต่ละท้องถิ่นสามารถไปดำเนินการต่อได้” นพ.ประทีป ระบุ


สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
สช.สานพลัง ‘สมัชชาสุขภาพจังหวัด’ สู้โควิด-19