สมัชชาสุขภาพฯ ครั้งที่ ๑๔ กับมาตรา ๔๔ แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

    สวัสดีพี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นวันแรกที่ไทยเริ่มปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ วัคซีนถึงมาไม่ครบตามที่แต่ละจังหวัดต้องการ แต่ก็มาได้ทันเวลา และคงจะทยอยจัดส่งถึงพื้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะรัฐบาลได้ปรับใช้ยุทธศาสตร์แทงม้ามากกว่าหนึ่งตัวและมีแผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมให้ได้ครบ ๑๐๐ ล้านโดส ภายในปี ๒๕๖๔ นี้ ซึ่งถือเป็นสัญญาณดีที่จะนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แม้ข้างหน้ายังจะมีวิกฤตซ้อนวิกฤตรออยู่ แต่ประชาชนก็ต้องสู้ต่อไปครับ

สำหรับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้ร่วมกับเพื่อนภาคีองค์กรต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ให้การหนุนเสริมมาตรการของรัฐเพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตอื่นๆ ที่ตามมา ทั้งในแง่ของการสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดระบบควบคุมและป้องกันโรคในชุมชน ระบบการดูแลฟื้นฟูคุณภาพชีวิต มีหลายชุมชนได้สร้างต้นแบบการรับมือโควิด-19 ด้วยกลไกและการจัดการของชุมชนเป็นหลัก เช่น ชุมชนคลองเตย ได้สร้าง  “คลองเตยโมเดล” ไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันของชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ จังหวัดปริมณฑลและทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว

มากไปกว่านั้น สช.ยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายในการถกแถลงและร่อนตะแกรงความคิด เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินขนาดของปัญหา จนตกผลึกเป็นประเด็นความท้าทายในวิกฤตการณ์โควิด-19 และในวิกฤตการณ์อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมเข้ามาช่วยคลี่คลายหรือรับมือ

นำมาสู่ระเบียบวาระที่เข้าสู่การพิจารณาในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔ ประจำปี ๒๕๖๔ ๓ ระเบียบวาระ ได้แก่

๑. การสร้างเสริมสุขภาวะสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในวิกฤตโควิด-19

๒. การคุ้มครองการเข้าถึงบริการสุขภาพของกลุ่มประชากรเฉพาะในภาวะวิกฤตอย่างเป็นธรรม

๓. การจัดการการสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในวิกฤตสุขภาพ

พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ ขณะนี้ความพร้อมในการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ ๑๕-๑๖ ธันวาคมนี้ ณ ห้องประชุมใหญ่ทีโอที แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เชื่อมกับห้องประชุมย่อยที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือสถานที่อื่นๆ ภายในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ  มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งบุคลากร สถานที่ ระบบการสื่อสาร ฯลฯ  และ พวกเราได้สรุปบทเรียนจากการจัดงานปีที่ผ่านมา ต่อยอดความสำเร็จไปสู่การ “ขยายการมีส่วนร่วม” อย่างกว้างขวางชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่กลางแห่งนี้ร่วมกัน

ในการขยายการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คจ.สช.) ได้นำหลักการสำคัญจาก มาตรา ๔๔ แห่ง พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ เข้ามาเป็นฐานคิดหลัก ด้วยคาดหวังว่าจะดึงประชาชนผู้ที่สนใจ กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบาง เครือข่ายผู้ป่วย นักเรียน นักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ ตลอดจนภาคเอกชน เข้ามาร่วมในกระบวนการเพิ่มเติม

สำหรับบทบัญญัติมาตรา ๔๔ ระบุว่า ผู้ใดประสงค์จะเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในการประชุมครั้งใด ให้สมัครลงทะเบียนสำหรับการประชุมครั้งนั้นต่อเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกำหนด ตามแบบและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกำหนด

นอกจากผู้ลงทะเบียนตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจะกำหนดให้เชิญบุคคล ผู้แทนหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรภาคเอกชนตามที่เห็นสมควรมาร่วมประชุมด้วยก็ได้

เพื่อสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะมาเข้าร่วมในกระบวนการ ทาง คจ.สช. จึงได้จัดทำประกาศ เรื่องหลักเกณฑ์การลงทะเบียนเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๖๔ ออกมา

สาระสำคัญของหลักเกณฑ์ฉบับดังกล่าว คือการกำหนดวิธีการลงทะเบียน และจัดกลุ่มผู้ที่จะเข้าร่วมสมัชชาสุขภาพฯ โดยในปีนี้จะมีทั้งสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ กลุ่มเครือข่าย (M ต่างๆ) จากภายนอก ตลอดจนผู้เข้าร่วมสมัชชาสุขภาพฯ ในฐานะผู้สังเกตการณ์

คาดการณ์ว่าจะมีสมาชิกสมัชชาสุขภาพฯ จากประชาชนที่สนใจและได้ลงทะเบียนล่วงหน้า (สช. จะเปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ถึง ๓๐ กันยายน ผ่านทางระบบ Google form) เข้าร่วมผ่านระบบออนไลน์หลายพันคน และประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมผ่าน Facebook Live อีกนับหมื่นคน

พี่น้องภาคีเครือข่ายครับ อีกหนึ่งสิ่งที่จะเปลี่ยนไปในงานสมัชชาสุขภาพฯ เดือนธันวาคมนี้ คือการเพิ่มจุดเน้นที่มากไปกว่าการแสวงหาฉันทมติเพียงอย่างเดียว โดยในปีนี้ เราจะมุ่งไปสู่การสร้างเวทีแห่งการเฉลิมฉลองและการสร้างพันธะสัญญาร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนมติและนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ในทุกระดับ

เพราะเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เวทีสมัชชาสุขภาพฯ จะทำหน้าที่เชื่อมร้อยการทำงานและถักทอความสัมพันธ์ระหว่าง “ระดับชาติ-ส่วนกลาง” เข้ากับ “ระดับพื้นที่-ชุมชน” อย่างเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมสุขภาวะอย่างแท้จริง

รูปภาพ
หมวดหมู่เนื้อหา