- 23 views
เปิดวงหารือจัดทำ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3” นัดแรก “ดร.สุวิทย์” ตั้งเป้าเปลี่ยนประชาชนจาก Passive Citizen ให้เป็น Active Citizen พร้อมทั้งดึง “เอกชน-ชุมชน-เยาวชน” เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะ “ผู้รับ-ผู้ร่วม” กำหนดนโยบายสาธารณะ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เท่าทันพลวัตโลก
ประชุมคณะกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 นัดแรกเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 ซึ่งมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นประธาน ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดทำข้อเสนอ และยกร่างธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ที่จะใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนระบบสุขภาพของประเทศไทย
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากระบวนทัศน์ในการพัฒนาของประเทศไทยยังเป็นไปในลักษณะคุณพ่อรู้ดี คือการที่ภาครัฐหรือภาคประชาสังคมเป็นผู้คิดและลงมือทำให้ แต่หลังจากนี้จำเป็นต้องหันกลับมามองที่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง ว่าเขาเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงผู้รอรับผลประโยชน์จากนโยบายเท่านั้น แต่จะต้องเป็น Prosumer คือเป็นทั้งผู้รับประโยชน์และผู้ร่วมสร้างนโยบาย เพื่อร่วมเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะกับกลุ่มเป้าหมายหลัก 3 กลุ่ม คือภาคเอกชน ชุมชน และเยาวชน ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ฉบับที่ 1 และ 2 นั้น มีเนื้อหาสาระสำคัญที่ดีอยู่แล้ว ประเด็นหลังจากนี้จะเป็นการถักทอต่อยอดจากของเดิม ด้วยการสรุปบทเรียนและค้นหาข้อต่อที่หายไปในการสร้างให้เกิดพลังของการเปลี่ยนแปลงได้จริง บนพื้นฐานของกระบวนการประชาธิปไตย ที่จะเปลี่ยนประชากรจาก Passive Citizen ให้เป็น Active Citizen ด้วยการรับรู้ว่าเรื่องเหล่านี้เป็นสิทธิและหน้าที่ของตน เพราะพลังจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคนส่วนใหญ่เอาด้วย
“โจทย์ใหญ่ที่จะต้องมองคือการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะประเด็นของความเหลื่อมล้ำ เพราะเราไม่ได้ต้องการแค่ให้เกิด Well-being กับคนเพียงบางกลุ่ม แต่ต้องการกระจายระบบสุขภาวะที่ดีให้ทั่วถึงและยั่งยืนด้วย ฉะนั้นทำอย่างไรให้เกิดเครือข่ายพันธมิตรทางสังคมที่ช่วยเหลือกันได้ รวมถึงสร้างการสื่อสารที่จะทำให้คนเห็นถึงความสำคัญ มองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถจับต้องร่วมไปได้ด้วย นั่นจึงจะสามารถตอบโจทย์การมีส่วนร่วม” ดร.สุวิทย์ กล่าว
ประธานกรรมการจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ กล่าวอีกว่า นิยามคำว่าสุขภาพไม่ได้มองเรื่องในมิติของร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองถึงสุขภาพของสังคมโดยองค์รวม หรือสุขภาวะที่ดี (Well-being) ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ไปจนถึงสุขภาพสังคม และสุขภาพทางปัญญา อันจะเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก เพราะนับจากนี้เราอยู่บนโลกของ One World One Destiny คือมีสุขด้วยกัน มีทุกข์ด้วยกันทั้งหมด
ทั้งนี้ นิยามของสุขภาวะจึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ที่จะเกิดขึ้นก็ต้องมององค์รวมในบริบทของโลกด้วย บนหลักการสำคัญว่าเราจะตีกรอบธรรมนูญฯ อย่างไร เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และจะตอบโจทย์ความยั่งยืนของตัวเขาและสังคมได้
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า หัวใจหลักของการจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 คือ กระบวนการมีส่วนร่วมที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมเป็นเจ้าของอย่างกว้างขวาง ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ องค์กรธุรกิจ เอกชน และประชาชน ซึ่งอาจเป็นความท้าทายในบริบทสังคมปัจจุบันที่มีหลากหลายและขัดแย้งอย่างชัดเจน แต่จะเกิดเครื่องมือในการแสดงเจตจำนง หรือพันธะร่วมทางสังคมได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งเชื่อว่าเรื่องของสุขภาพน่าจะสามารถหาจุดร่วมนั้นได้
ขณะที่ นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ ถูกกำหนดไว้ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ ซึ่งจะต้องมีการทบทวนอย่างน้อยทุก 5 ปี และเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพฯ นี้ ก็จะมีผลผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามหน้าที่ของตน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า จากการถอดบทเรียนธรรมนูญฯ ฉบับที่ 1 และ 2 ซึ่งใกล้จะครบวาระ 5 ปีนี้ ได้พบข้อท้าทายที่เป็นข้อเสนอสู่การจัดทำธรรมนูญฯ ฉบับที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการสร้างกลไกการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินการ การใช้ธรรมนูญฯ ในบริบททางการเมืองแบบต่างๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันได้มีการวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติของธรรมนูญฯ ที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้อำนาจอ่อนกับอำนาจแข็ง ไปจนถึงความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติและสากล เช่น เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) หรือโมเดล Bio-Circular-Green Economic (BCG Model) ด้วย
กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9147