สงฆ์ไทยไกลโรค-เข้าพรรษา-อย่าลืมตักบาตรถาม(สุขภาพ)พระ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   พบพระสงฆ์ กทม. และเขตเมืองกว่าครึ่งเสี่ยงโรคอ้วน เหตุฉันอาหารโปรตีนต่ำ-ไขมันสูง ขยับน้อยกว่าชายไทย “สสส.-สช.-สธ.-สำนักพุทธ-จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” ผนึกกำลังคณะสงฆ์-สายสุขภาพ ส่งเสริมสุขภาวะสงฆ์ไทย เตรียมคลอดธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ เครื่องมือปฏิบัติที่ถูกต้องระหว่างสงฆ์และฆราวาส ด้านพระราชวรมุนีชี้พระเลือกฉันได้อย่างพิจารณา-เลือกออกกำลังกายที่เหมาะสม
 
   เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ใน งานแถลงข่าว “สงฆ์ไทยไกลโรค เข้าพรรษานี้ อย่าลืมตักบาตร ถาม(สุขภาพ)พระ” โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
 
   รศ.ดร.ภญ.จงจิตร อังคทะวานิช ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนสงฆ์ไทยไกลโรคเพื่อการดูแลโภชนาการพระสงฆ์ในระดับประเทศ (สสส.) กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ใน กทม. และในภาคอีสานพบว่า พระสงฆ์ใน กทม. และในเขตเมืองกว่าครึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน โดยพระสงฆ์ใน กทม. 48% ของกลุ่มตัวอย่างมีภาวะอ้วนลงพุงมากกว่าชายใน กทม. (39%) และชายทั่วประเทศ (28%) ทั้งยังเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง และความดันโลหิตสูง และจากการเก็บข้อมูลพระสงฆ์ในภาคอีสาน พบว่า พระสงฆ์ในเขตเมืองเสี่ยงต่อภาวะน้ำหนักเกินสูงกว่าในเขตนอกเมือง สาเหตุสำคัญมาจากอาหารใส่บาตรที่มีโปรตีนต่ำหรือได้รับเพียง 60% ของปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับ ปริมาณใยอาหารมีระดับต่ำ จึงชดเชยด้วยการดื่มน้ำปานะที่มีน้ำตาลสูงถึง 7 ช้อนชาต่อวัน
 
   รศ.ดร.ภญ.จงจิตร กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลฝั่งฆราวาสพบว่า อาหารส่วนใหญ่ในการถวายพระมาจากการซื้ออาหารชุดใส่บาตร โดยมีหลักการเลือกอาหารคือ ความสะดวกและราคา เลือกเมนูที่ผู้ล่วงลับชอบบริโภค ซึ่งเมนูหลักที่แม่ค้านิยม เช่น ไข่พะโล้ แกงเขียวหวาน หมูทอด และขนมหวาน ทำให้พระสงฆ์จำเป็นต้องฉันเพื่อให้ญาติโยมได้บุญ ไม่เสียศรัทธา นอกจากนี้ยังพบว่า พระสงฆ์ออกกำลังกายน้อยเพราะกลัวผิดพระธรรมวินัย โดยพบว่า ใน 1 วัน พระสงฆ์เดินเบาประมาณ 30 นาที ซึ่งน้อยกว่าชายไทยที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 100 นาที พระสงฆ์จึงเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสในการส่งเสริมสุขภาพต่ำ ได้แก่ ขาดการบริโภคอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ ขาดการตรวจสุขภาพประจำปี และมีข้อจำกัดในการออกกำลังกาย ที่ผ่านมาจึงได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เพื่อร่วมกันออกแบบชุดความรู้สงฆ์ไทยไกลโรคในการให้ความรู้ความเข้าใจถึงการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์
 
   พระราชวรมุนี รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า แม้อาหารบิณฑบาตจะเลือกไม่ได้ แต่สามารถพิจารณาฉันอาหารที่ดีต่อร่างกายตนได้ โดยพระธรรมวินัย พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ฉันอาหารพอสมควร และพระสงฆ์ไม่สามารถออกกำลังกายเหมือนฆราวาส เพราะพระภิกษุต้องประพฤติตนสำรวม โดยเฉพาะในละแวกบ้านหรือเขตชุมชนตามหลักเสขิยวัตร แต่มีหลักกิจวัตร 10 ประการที่พระพุทธเจ้าอนุญาต ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกาย เช่น การเดินบิณฑบาต กวาดลานวัด ทำความสะอาดวัด เดินจงกลม ตัดต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ เพื่อขยับร่างกาย รวมถึงแกว่งแขนลดพุงลดโรค ซึ่งทำได้ในพื้นที่วัด ในช่วงจำพรรษาจึงอยากให้พระสงฆ์หันมาดูแลสิ่งของภายในวัด ซึ่งถือเป็นการออกกำลังกายในลักษณะการทำความสะอาด ดูแลงานสาธารณูปการในวัด และฉันอย่างพิจารณา
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลให้เกิดมติมหาเถรสมาคม เรื่อง พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ โดยจะมีการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป คือ ความร่วมมือในการพัฒนาธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ เพื่อเป็นเครื่องมือปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ ฆราวาส และหน่วยบริการสุขภาพในการสร้างเสริมสุขภาพที่นำเอาหลักพระธรรมวินัยเป็นตัวนำ และใช้ความรู้ทางสุขภาพเป็นตัวเสริม ซึ่งในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์จะมี 3 มิติที่เกี่ยวข้อง คือ 1.พระสงฆ์กับการสร้างเสริมและดูแลสุขภาพตนเอง 2.ฆราวาส ชุมชนและบุคลากรทางสุขภาพ ควรมีข้อปฏิบัติในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างไรที่เหมาะสมตามหลักพระธรรมวินัย และ 3.บทบาทพระสงฆ์ในการเป็นผู้นำของชุมชนด้านสุขภาพ โดย สช. จะร่วมสนับสนุนการจัดทำและขับเคลื่อนธรรมนูญฯ โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งในเดือน ส.ค. และ ก.ย. นี้ วางแผนไว้ว่าจะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ก่อนเสนอต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อเห็นชอบ และประกาศให้ภาคีเครือข่ายรับทราบในสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 10 ในเดือน ธ.ค. นี้
 
   นายบุญเชิด กิตติธรางกูร ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกและเป็นมิติใหม่ในการขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์อย่างเป็นรูปธรรม หลังจากธรรมนูญสุขภาพแห่งชาติประกาศใช้แล้วจะมีการเสนอไปยังที่ประชุมมหาเถรสมาคมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในพระสงฆ์ร่วมกันทั่วประเทศเพื่อให้พระสงฆ์ตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเอง หลักปฏิบัติที่ถูกต้องของฆราวาส รวมถึงการส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นผู้นำทางสุขภาพ ซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างโลกของสงฆ์และหน่วยบริการสุขภาพในพื้นที่ในการดูแลสุขภาพพระสงฆ์อย่างเป็นระบบ
 
   นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. กล่าวว่า สสส. มีตัวอย่างการทำงานที่เป็นรูปธรรมเชิงพื้นที่ และทำงานเชิงรุกในมหาวิทยาลัยสงฆ์ โดยทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ให้พระนิสิตมีความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาพระในฐานะนักสร้างเสริมสุขภาพ (Health Promoter) ด้วยการพัฒนาขีดความสามารถของคณะสงฆ์เพื่อเป็นแกนนำเสริมสร้างสุขภาวะตามแนวพระพุทธศาสนา ปัจจุบันมีพื้นที่เรียนรู้ระหว่างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยและคณะสงฆ์ทั้งสิ้น 20 จังหวัด ทำให้เกิดชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพของพระสงฆ์ที่ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย รวมถึงร่วมกับกลุ่มพระสังฆะในการจัดการความรู้ให้ฆราวาสเรื่องสุขภาวะพระสงฆ์ ผ่านโครงการสร้างพระธรรมทายาทนักพัฒนาสร้างเสริมสังคมสุขภาวะ เป็นต้น
 
   นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษากระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทุ่งตะโกโมเดล จ.ชุมพร ถือเป็นตัวอย่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์ในพื้นที่ จากปัญหาสุขภาพพระสงฆ์ทำให้ชาวบ้านมาพูดคุยกันและเกิดกติกาปิ่นโตสุขภาพ เวลาใส่บาตรจะต้องเอาเมนูสุขภาพใส่ในปิ่นโตถวายพระ และพระในชุมชนก็เป็นนักส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง รวมทั้งการออกกำลังกายของพระสงฆ์เพื่อให้เกิดความรู้ร่วมกัน
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ