เดินหน้าจัดเวทีปรึกษาสาธารณะ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพขานรับ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ภาคประชาชน นำโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เข้าหารือสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนุนเปิดเวทีปรึกษาสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันที่ ๒๑ มิ.ย.นี้ วาง ๓ เงื่อนไข วอนไร้เงากองกำลังทหารตำรวจ และไม่เร่งรัดจำกัดเวลาในการแสดงความเห็น แนะใช้กลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นหาฉันทมติยุติข้อขัดแย้ง
 
   เมื่อวันที่ ๒๐ มิ.ย. ๒๕๖๐ กลุ่มแกนนำคนรักหลักประกันสุขภาพนำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม, นางสาวสารี อ๋องสมหวัง, นางสาวกรรณิการ์ กิตติเวชกุล ได้เข้าพบ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพ (สช.) ในฐานะหน่วยงานร่วมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... เพื่อสอบถามถึง กระบวนการจัดประชุมปรึกษาสาธารณะ (Public Consultation) ที่จะมีขึ้นวันที่ ๒๑ มิ.ย. ๒๕๖๐ ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
 
   นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะ ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ... กล่าวว่า กลุ่มแกนนำคนรักหลักประกันสุขภาพพร้อมที่จะเข้าร่วมการแสดงความคิดเห็นในเวทีปรึกษาสาธารณะ วันที่ ๒๑ มิ.ย.นี้ แต่ขอไม่ให้มีกองกำลังทหารตำรวจเหมือนวันที่มีการรับฟังความเห็นภาคกลางเมื่อวันที่ ๑๘ มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งตนเองรับที่จะประสานงานให้ เพราะต้องการให้ทุกภาคส่วนมาร่วมถกเถียงหาทางออกที่ “วินๆ” กับทุกคน ทั้งกลุ่มคนรักหลักประกันฯ ที่ได้ศึกษาและเตรียมข้อเสนอมาเป็นอย่างดี กลุ่มผู้ให้บริการคือกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คาดว่า จะมีตัวแทนทุกภาคส่วนประมาณ ๑๐๐ คน
 
   ในเวทีครั้งนี้จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยประมาณ ๗-๑๐ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงาน องค์กรต่างๆ และภาคประชาชน เพื่อปรึกษาหารือกัน โดยไม่เร่งรัดให้ต้องได้ข้อสรุปเพื่อทุกฝ่ายได้ถกแถลงหาทางออกร่วมกันในประเด็นต่างๆ โดย สช. จะสรุปเวทีรับฟังความเห็นทั้งเวที ๔ ภูมิภาค ผู้ส่งผ่านออนไลน์ และประมวลผลจากเวทีปรึกษาสาธารณะครั้งนี้ จัดทำเป็นรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่) พ.ศ.....ที่มี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน ภายใน ๓๐ มิ.ย.นี้
 
   สำหรับประเด็นที่ยังเห็นไม่ตรงกันและต้องการมีเวทีหารือเพิ่มเติมนั้น สามารถใช้กลไกสมัชชาสุขภาพเพื่อหาฉันทามติ โดยทั้งภาคประชาชน กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สามารถเสนอเรื่องมาที่ สช. เพื่อขอให้เป็นผู้จัดกระบวนการ นำไปสู่การตั้งประเด็นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมหาทางออกร่วมกัน แต่เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาไตร่ตรองปรึกษากัน
 
   นพ.พลเดช กล่าวว่า หลังจากส่งรายงานรวบรวมความคิดเห็นทั้งหมดแล้ว เป็นเรื่องที่คณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎหมายฯ ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป หรือจะเดินหน้าขั้นตอนออกกฎหมายคู่ขนานไปก่อน เพราะมีหลายประเด็นที่อาจเห็นตรงกันได้เลย หรือจะรอให้ทุกประเด็นได้ข้อยุติเสียก่อน
 
   นายนิมิตร์ เทียนอุดม แกนนำคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ จะมีตัวแทนเข้าร่วมเวทีปรึกษาสาธารณะวันที่ ๒๑ มิ.ย.นี้จำนวน ๑๘ คน และอาจมีคณะทำงานอยู่นอกห้อง ๔-๕ คน อย่างไรก็ตาม ได้วางหลักการ ๓ เรื่อง ประกอบด้วย ๑.ต้องการเห็นกระบวนการพูดคุยที่ให้เวลา และโอกาสมากพอ ที่จะได้ข้อสรุปร่วมกัน แต่ต้องไม่มีกองกำลังทหารตำรวจอย่างในเวทีรับฟังความเห็นเมื่อ ๑๘ มิ.ย.ที่ผ่านมา ไม่เช่นนั้นทางกลุ่มฯ จะถอนตัวออกจากเวทีทันที ๒.ไม่มีการเร่งรัดหรือตัดประเด็นให้พูดคนละ ๓ นาที และ ๓.จะมีการแยกแยะประเด็นออกเป็น ๓ ส่วน คือ ประเด็นที่เห็นร่วมกัน ประเด็นที่เห็นแตกต่าง และข้อเสนอแนะที่จะไปสู่การปฏิรูปสุขภาพที่เป็นธรรม
 
   อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนเห็นร่วมกันว่า กระบวนการหลังจากวันที่ ๒๑ มิ.ย.แล้ว ต้องใช้กลไกสมัชชาสุขภาพมาหาทางออกร่วมกัน โดยในประเด็นเฉพาะที่แต่ละฝ่ายเห็นแตกต่างกัน ซึ่งทางกลุ่มฯ จะเสนอให้มีการเปิดกระบวนการสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นเพื่อดำเนินการขั้นตอนต่อไป ถือเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุดของสังคมอารยะ
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ
เอกสารแนบ