สานพลัง ‘ประชารัฐ’ขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพฯ หยุดไข้เลือดออกทุกพื้นที่ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   สช. ผนึกกำลังกรมควบคุมโรค เร่งขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ สานพลังปราบยุงลายทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เตรียมเสนอ ครม. หลังประเมินปีนี้คนไทยเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออกทะลุ ๘ หมื่นคน เน้นโรงพยาบาล โรงเรียน วัด และที่อยู่อาศัย เร่งเผยแพร่องค์ความรู้สู่ระดับท้องถิ่นและชุมชน ไม่ปล่อยสภาพแวดล้อมเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย
 
   เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐ กรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สถาบันบำราศนราดูร ร่วมกันแถลงข่าวโครงการ “ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก และรณรงค์วันไข้เลือดออกอาเซียน 2017” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น ๑ สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี โดยมีนิทรรศการและสาธิต ๑๐๐ วิธีปราบยุงลาย พร้อมรณรงค์โรงพยาบาลสะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย: Clean and Green Hospital
 
   นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทย โดยในช่วง ๕ เดือนแรกของปี ๒๕๖๐ พบผู้ป่วยแล้ว ๑๑,๐๖๒ ราย เสียชีวิต ๒๑ ราย และคาดว่าจะเพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ ซึ่งเป็นฤดูฝน คาดว่าตลอดทั้งปีจะพบผู้ป่วยคนไทย ๗๕,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ ราย
 
   “การป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ จึงได้มีมติเรื่อง การสานพลังปราบยุงลายโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ที่ให้ความสำคัญกับความร่วมแรงร่วมใจของคนในพื้นที่ระดับชุมชน ที่อยู่อาศัย วัด โรงเรียน และที่ทำงานของตนเอง ช่วยกันจัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงสถานพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งด้วย”
 
   นอกจากนั้น กลุ่มอาเซียนซึ่งพบปัญหาผู้ป่วยไม่ต่ำกว่าปีละ ๒๐๐,๐๐๐ ราย กำหนดให้วันที่ ๑๕ มิถุนายนของทุกปี เป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” (ASEAN Dengue Day) โดยปีนี้ ได้กำหนดประเด็นสารการรณรงค์ คือ “United Fight Against Dengue หรือ “ประชารัฐร่วมใจปราบยุงลายป้องกันโรคไข้เลือดออก”
 
   ด้าน นางอรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกจากยุงลายในประเทศไทย ยังคงเป็นปัญหาระดับชาติ กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอประเด็นนี้เข้าสู่กระบวน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับนโยบาย ภาคราชการ ภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ นำไปสู่มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ สานพลังปราบยุงลาย โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน เกิดรูปธรรมของมาตรการและความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง
 
   โดยมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ผ่านความเห็นชอบจาก คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ แล้ว อยู่ระหว่างเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี มีแนวทางสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ ๑.การบูรณาการแผนงานระดับนโยบาย โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติงานปราบยุงลายแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ๒.หน่วยงานส่วน กลางสนับสนุนพื้นที่เรื่ององค์ความรู้ด้านวิชาการและกระบวนการปราบยุงลายอย่างมีส่วนร่วม รวมถึงพัฒนาการเรียนการสอน ๓.ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานองค์กรในพื้นที่ร่วมมือปราบยุงลายอย่างครบวงจร
 
   “มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ได้ช่วยให้เกิดความร่วมมืออย่างเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตอบโจทย์ในการจัดการยุงลายในพื้นที่ เป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่เพียงแค่ประชารัฐร่วมใจ แต่ทุกหน่วยงานด้านสุขภาพจะผนึกกำลังกัน เน้นความสุขประชาชนเป็นตัวตั้ง”
 
   รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ สช. จะร่วมกับกรมควบคุมโรค จัดประชุมขับเคลื่อนมติและกระตุ้นการทำงานระดับจังหวัดในเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม ๒๕๖๐ ใน ๔ ภาคทั่วประเทศ และใช้เครื่องมือกระบวนการทำงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัด ธรรมนูญสุขภาพตำบล และระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System: DHS) เป็นต้น
 
   นพ.ชยนันน์ สิทธิบุศย์ รองผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบาย Green and Clean Hospital เพื่อให้พื้นที่โรงพยาบาลทุกแห่งปลอดยุงลาย และปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ ป้องกันการแพร่กระจายไปยังผู้ป่วยอื่นๆ ญาติ และบุคลากรในโรงพยาบาล ทาง รพ.บำราศนราดูร ได้จัดการสิ่งแวดล้อมภายในและสำรวจแหล่งน้ำขังทุกสัปดาห์ รวมทั้งติดมุ้งลวดหอผู้ป่วยทั้งหมด โดยโรงพยาบาลได้รับผู้ป่วยไข้เลือดออกประมาณปีละ ๒๖๘ ราย ซึ่งในปี ๒๕๖๐ นี้ มีผู้ป่วยรับการรักษาแล้ว ๑๑๙ ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ