สช. เดินหน้า ‘ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ’ เปิดเวทีระดมความเห็น ๔ ภูมิภาค | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เวทีรับฟังความคิดเห็นร่างธรรมนูญสุขภาวะพระสงฆ์แห่งชาติคึกคัก ทุกฝ่ายหนุนแก้ปัญหาสุขภาวะทั้งพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศก่อนวิกฤต สช. เตรียมจัดใหญ่ ๔ ภาค ก่อนเสนอมหาเถรสมาคม และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ปลายปีนี้
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ โดยมี ผศ.ดร.ภก.นพ.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนพระสงฆ์จากทั่วประเทศ และนักวิชาการเข้าร่วม เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๖๐ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   ผศ.ดร.ภก.นพ.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า เวทีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาสุขภาวะพระสงฆ์อย่างจริงจัง โดยทาง มหาเถรสมาคม ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินงานเรื่องนี้แล้ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการขับเคลื่อนมติสมัชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๕ พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่อง “พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ”
 
   ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จะเป็นกรอบและแนวทางปฏิบัติที่สำคัญในการสร้างสุขภาวะให้กับพระสงฆ์ในปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาท้าทายหลายเรื่อง ทั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ความเครียด พฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิต และสภาพแวดล้อมในวัด ฯลฯ โดยเนื้อหาหลักๆ มี ๕ หมวดสำคัญ ได้แก่ บททั่วไปและคำนิยาม, การดูแลและเสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์ตามพระธรรมวินัย (ทางกาย จิต สังคม ปัญญา), การดูแลและเสริมสร้างสุขภาวะพระสงฆ์โดยชุมชนและสังคม, พระสงฆ์กับการดูแลและเสริมสร้างสุขภาวะของชุมชนและสังคม และการขับเคลื่อนธรรมนูญสู่การปฏิบัติ
 
   “ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติไม่ใช่เป็นแค่หลักปฏิบัติของมหาเถรสมาคมหรือพระสงฆ์ทั่วไปเท่านั้น แต่ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมก็สามารถนำธรรมนูญไปใช้อ้างอิงในการปฏิบัติ ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปวางแผนปรับใช้ในพื้นที่ หรือ สปสช. ใช้วางกรอบและทิศทางการทำงานได้”
 
   ด้านความคิดเห็นของพระสงฆ์ที่เข้าร่วมเวที พระดุษฏี เมธงฺกุโร วัดทุ่งไผ่จังหวัดชุมพร แนะว่า เนื้อหาในธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติควรเขียนด้วยถ้อยคำที่เข้าใจง่าย เพราะผู้ปฏิบติคือพระสงฆ์และสามเณรทั่วประเทศซึ่งมีพื้นฐานความรู้แตกต่างกัน
 
   “ใจความสำคัญคือ ต้องสะท้อนความห่วงใยต่อสุขภาพ และกระตุ้นให้พระหันมาดูแลสุขภาวะของตนเองด้วย”
พระครูอมรชัยคุณ เจ้าอาวาสวัดสุชัยคณาราม จังหวัดนครราชสีมา หรือ หลวงตาแชร์ เสนอว่า ควรนำแผนดำเนินงานที่ได้ทำไปแล้ว เช่น โครงการพระสงฆ์ไทยไกลโรคเข้ามาอยู่ในธรรมนูญฯ นี้ด้วย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบจากทางมหาเถรสมาคมต่อไป

 
   พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโรค วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาที่พบขณะนี้คือเรื่องคุณภาพของอาหารใส่บาตรและผลิตภัณฑ์ถวายสังฆทานในพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นเครือข่ายผลประโยชน์ทางธุรกิจ แต่ประชาชนยังไม่รับรู้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมแก้ปัญหาเพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพพระสงฆ์
 
   หน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงาพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ก็เห็นด้วยกับเนื้อหาและแนวทางของร่างธรรมนูญฯ ฉบับนี้ โดยขั้นตอนต่อไปนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง และขยายเวทีไปสู่ทั้ง ๔ ภูมิภาค ก่อนรายงานให้มหาเถรสมาคมรับทราบ และนำเข้ารับฟังความคิดเห็นทางวิชาการอีกครั้ง ในเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๑๐ ปลายปีนี้
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ