ทุกฝ่ายหนุน สนช.ออกกฎหมายคุมการตลาดนมผง คืนสิทธิสุขภาพ-ส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วย ‘นมแม่’ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   เวที สช. ชูธงสนับสนุนขับเคลื่อน ร่าง ‘พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ...’ หลังพบธุรกิจนมผงใช้สารพัดกลยุทธ์การตลาดและโฆษณาสรรพคุณเกินจริงสร้างแรงจูงใจ ให้ควักกระเป๋าซื้อนมผงเลี้ยงลูกแทนการให้นมแม่โดยไม่จำเป็น ส่งผลมูลค่าตลาดพุ่ง ๒.๕ หมื่นล้าน ย้ำชัดต้องสกัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมผงช่วงวัย ๑-๓ ปี ซึ่งเด็กยังจำเป็นต้องกินนมแม่ ตั้งคำถามแพทยสภาควรทำหน้าที่ปกป้องสุขภาพเด็กหรือไม่
 
   สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีการให้ข้อมูลสาธารณะ “สิทธิแม่ลูก VS นมผงหมื่นล้าน : ได้เวลาผ่านกฎหมายคุมการตลาดนมผง?” เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ ห้องแซฟไฟร์ ๒๐๑ อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อสะท้อนความคิดเห็นและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสื่อมวลชนและผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก
 
   นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องจากนานาชาติในเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ในเรื่อง การควบคุมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมีผลต่อการให้นมแม่ในช่วง ๑-๓ ปีแรกกลับอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ ทั้งๆ ที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้วิจัยและมีข้อแนะนำที่ชัดเจนมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ แล้วว่า เด็กทุกคนควรรับประทานนมแม่อย่างเดียวถึง ๖ เดือน หลังจากนั้น ควรได้รับนมแม่ควบคู่กับอาหารตามวัยถึง ๒ ปีหรือนานกว่านั้น แต่สิ่งนี้กลับยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยดำเนินการล่าช้าไปถึง ๒๕ ปี
 
   นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ถือเป็นรูปธรรมความสำเร็จจากการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๕๕๓ ในเรื่อง “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยอย่างแท้จริง แต่ขณะนี้กลับมีภาคธุรกิจนมผงและองค์กรวิชาชีพบางแห่งพยายามกดดันและเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ จึงอยากให้ สนช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาสุขภาพเด็กไทยและนมแม่อย่างแท้จริง
 
   ดร.บวรสรรค์ เจี่ยดำรง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎรำไพพรรณี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา ๓๐ ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีข้อบังคับควบคุมการตลาดของอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก มีเพียง หลักเกณฑ์สากลว่าด้วยเรื่องการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ (International Code of Marketing of Breast-milk Substitutes) ขององค์การยูนิเซฟและองค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยใช้อยู่ แต่ก็มีสถานะเพียงการขอความร่วมมือ ไม่มีบทลงโทษใดๆ ทำให้เกิดการละเมิดจำนวนมาก
 
   ข้อมูลจากงานวิจัยของ ดร.บวรสรรค์ พบว่า ปัจจุบันมูลค่าทางการตลาดนมผงในประเทศไทยสูงถึง ๒๕,๐๐๐ ล้านบาท และมีบริษัทนมผงทั้งสิ้น ๖ บริษัท ซึ่งแต่ละแห่งก็มีรูปแบบกลยุทธ์การตลาด ประชาสัมพันธ์ และโฆษณาที่แตกต่างกันไป โดยหลักๆ จะใช้ ๕ เครื่องมือ ประกอบด้วย ๑.การโฆษณาแบบข้ามชนิดระหว่างนมเด็กเล็กและอาหารเสริมเด็กโต ๒.การเปลี่ยนบุคลากรสาธารณสุขให้กลายเป็นพนักงานแนะนำนมผง ๓.การลดแลกแจกแถม ๔.การตลาดทางตรงเพื่อสร้างความประทับใจ เช่น การจัดกิจกรรมการตลาดทุกประเภท และ ๕.การใช้สื่อสังคมออนไลน์
 
   โดยทุกวันนี้บริษัทนมผงใช้กลยุทธ์การสื่อสารที่หลากหลาย อาทิ ทำบรรจุภัณฑ์นมเด็กทารกให้คล้ายกับเด็กโต แล้วเลือกสื่อโฆษณานมเด็กโตที่กฎหมายเปิดช่องให้แทน ทำให้แม่เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องสารอาหาร รวมถึงมีการใช้ภาพทารกในสื่อโฆษณา พร้อม ลด แลก แจก แถม จัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในหัวเมืองใหญ่ทุกภาคทั่วประเทศ มีการติดต่อกับแม่และครอบครัวโดยตรงเพื่อสร้างความประทับใจให้เกิดการซื้อสินค้าซ้ำ ทำให้คนในสังคมเข้าใจผิดไปว่านมผงมีประโยชน์เท่ากับนมแม่ ซึ่งทั้งหมดเป็นการละเมิดหลักเกณฑ์ฯการตลาดอาหารทดแทนนมแม่ ทั้งสิ้น
 
   “ขณะนี้บริษัทนมเลือกใช้การสื่อสารการตลาดเชิงรุกผ่านทางออนไลน์ เช่น ทำแฟนเพจ ซึ่งจากการเก็บข้อมูล พบว่าจะโพสต์ข้อความ ๓ ครั้ง ต่อ ๑ วัน โดยเนื้อหาที่โพสต์ก็คือ คุณค่าสารอาหารเพิ่มเติม เชิญชวนร่วมกิจกรรม และให้ความรู้วิธีการดูแลลูก จากนั้นจะค่อยๆ ใส่ข้อมูลการดูแลลูกด้วยนมผงเข้าไป มากไปกว่านั้น บางบริษัทมีแอพพลิเคชั่นให้แม่สามารถปรึกษาการเลี้ยงลูกได้โดยตรง กลายเป็นที่ปรึกษาประจำตัวของแม่ไป” ดร.บวรสรรค์ กล่าว
 
   ประเด็นถัดมา เมื่อไม่มีการส่งเสริมการตลาดเกิดขึ้น โดยตรรกะแล้ว แน่นอนว่า ราคานมผงจะต้องถูกลง เพราะปัจจุบันราคาที่คุณแม่ซื้อไปได้รวมค่าส่งเสริมการตลาดบวกในต้นทุนขายต่อกล่องด้วย
 
   ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. .. มีวัตถุประสงค์ที่ต้องการแก้ปัญหาการใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขาย การโฆษณา และให้ข้อมูล ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดของแม่ว่านมผงดีกว่านมแม่ หรือมีประโยชน์เทียบเท่ากับนมแม่ โดยกฎหมายห้ามบริษัทนมผงทำการส่งเสริมการตลาด โฆษณา มอบของขวัญหรือสิ่งจูงใจแก่แม่โดยตรงหรือบุคลากรสาธารณสุข ห้ามสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนการบริจาคอุปกรณ์ต่างๆ แก่หน่วยบริการสาธารณสุขยังสามารถทำได้ แต่ต้องไม่มีตราสัญลักษณ์ และความเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ฉบับนี้ ไม่ได้ห้ามผู้ประกอบการจำหน่ายนมผง หรือพัฒนาคุณภาพนมผง
 
   ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวถึงการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมกฎหมายลักษณะนี้ใช้ในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น และอาจทำให้ประเทศไทยล้าหลัง ซึ่งขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะบริษัทนมในประเทศไทย ๖ บริษัท ล้วนแต่มีบริษัทแม่ ตั้งอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซึ่งแม้ไม่ออกกฎหมายควบคุมเช่นนี้เพราะเกรงจะกระทบกับอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนเองได้ แต่ข้อแตกต่างสำคัญ คือ ประเทศพัฒนาแล้วจะมีกลุ่มผู้บริโภคที่เข้มแข็งและควบคุมผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างอุตสาหกรรมกับบุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด
 
   ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ เป็นสิ่งที่ดีและมีความจำเป็น เนื่องจากที่ผ่านมาสังคมไทยให้โอกาสธุรกิจนมผงในการควบคุมกันเองด้วยหลักจรรยาบรรณมานานแล้ว แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ดังนั้น เมื่อมีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. ... ในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรสนับสนุนให้เกิดการควบคุม กำกับดูแล การใช้กลยุทธ์ทางการตลาดและโฆษณาของผู้ประกอบธุรกิจนมผงให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ซึ่งประเทศไทยควรดำเนินการเรื่องนี้มานานแล้ว เพราะถือเป็น การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค อย่างหนึ่ง โดยเฉพาะ สิทธิของเด็กเล็ก ที่ควรได้รับการเลี้ยงดูอย่างดีตั้งแต่แรกเกิดด้วยน้ำนมแม่ เพราะในต่างประเทศ จะให้ความสำคัญเรื่องนี้อย่างมาก
 
   “ถ้าเรายอมให้กฎหมายควบคุมการตลาดนมผงได้ไม่ถึง ๓ ปี ก็เท่ากับว่าเรายอมปล่อยให้บริษัทนมผงมีอิทธิพลจนทำให้แม่ไม่มีความสามารถเลี้ยงลูกได้ด้วยนมของตัวเองหรือไม่ จึงขอตั้งคำถามว่า องค์กรวิชาชีพบางแห่งติดอยู่กับผลประโยชน์หรืออยู่กับวัฒนธรรมเลี้ยงดูปูเสื่อจนเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เมื่อสังคมไทยกำลังจะมีการกำกับการตลาดผลิตภัณฑ์นมผง จึงไม่ยินยอม ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ สะท้อนว่าถึงเวลาต้องปฏิรูปสภาวิชาชีพ โดยเฉพาะสภาวิชาชีพที่มุ่งปกป้องประโยชน์ธุรกิจเอกชนมากกว่าประชาชน” น.ส.สารี กล่าว
 

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ