เปิดพื้นที่เสนอวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ อนุกรรมการฯ ดีเดย์ ๒๐ กันยายนนี้ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   กว่าจะพัฒนาเป็น “ข้อเสนอเชิงนโยบาย” เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ ปลายปีนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการและคณะทำงานแต่ละประเด็น ต้องใช้เวลาศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ สังเคราะห์ข้อมูล กลั่นกรองความถูกต้อง ระดมสมอง ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ระเบียบวาระเกิดความสมบูรณ์มากที่สุด
 
   ล่าสุดมี การประชุมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ ระหว่างประธาน-เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นและคณะอนุกรรมการวิชาการ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๙ ณ ห้องประชุมสานใจ ๒ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 
   อ.เรืองยุทธ์ ตีระวนิช คณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น “การจัดการและพัฒนาที่อยู่อาศัย ชุมชน เมืองเพื่อสุขภาวะของทุกคน” ได้รายงานความก้าวหน้าการจัดทำเอกสารหลัก เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยกำหนดนิยามที่ชัดเจน เช่น คำว่า “บ้าน” กับคำว่า “ชุมชน” หรือ “เขตเมือง” หมายถึงพื้นที่ใดและต้องมีประชากรจำนวนเท่าไหร่ เป็นต้น
 
   ขณะเดียวกันก็อัพเดทเนื้อหา แนวทาง หรือเป้าหมาย ที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับปัจจัยอย่างน้อย ๓ เรื่อง คือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ผ่านประชามติแล้ว , หลักการและพันธกิจสำคัญในการพัฒนาการอยู่อาศัยและเมือง (Habitat 3) โดยโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒
 
   “เราพยายามทำความเข้าใจกับตัวแทนชุมชน และสื่อสารประเด็นเนื้อหาให้เข้าใจง่ายๆ มากขึ้น นอกจากนั้น คณะทำงานฯ จะไปพบกับสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เพื่อนำมุมมองมาปรับปรุงเอกสารให้ได้ข้อสรุปร่วมกันของคณะทำงานฯ และนำไปสู่การรับฟังความคิดเห็นต่อไป
 
   ทั้งนี้ได้ยกร่างมติ ที่แบ่งการดำเนินงานเป็น ๓ ระดับ คือ ระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการกำหนดพื้นที่นำร่อง ๓ แห่ง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ขอนแก่น และอุดรธานี เป็นสร้างต้นแบบให้เห็นความชัดเจนและเป็นรูปธรรม
 
   ขณะที่ระเบียบวาระ “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” มี ผศ.ดร.ภญ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ เลขานุการคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็นว่าด้วยน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน รายงานว่า ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการยกร่างเอกสารหลัก ที่สรุปความเป็นมา ปัญหาของน้ำดื่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์คุณภาพ และผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภค ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้
 
   โดยมีตาราง เปรียบเทียบ ค่ามาตรฐานที่ก้าหนดของน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมอนามัย (กระทรวงสาธารณสุข) พร้อมกันนั้น ได้ยกร่างมติเพื่อเสนอต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อกำหนดแนวทางของนโยบายสาธารณะ และมุ่งให้เกิดการกำหนดค่ามาตรฐานน้ำดื่มแบบเดียวกัน
 
   สำหรับประเด็น “แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่แหล่งกำเนิด” นำเสนอโดย ดร.บุญส่ง ไข่เกษ ประธานคณะทำงานพัฒนาข้อเสนอนโยบายเฉพาะประเด็น ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสถานการณ์ขยะมูลฝอยชุมชนที่เกิดขึ้นในปี ๒๕๕๘ ถึงมาก ๒๙.๑ ล้านตัน แต่กำจัดอย่างถูกต้องเพียง ๘.๔ ล้านตัน ซึ่งคณะอนุกรรมการวิชาการจะพิจารณาเพื่อเสนอ คจ.สช.ประกาศเป็นร่างระเบียบวาระการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ต่อไป
 
   ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีขยะติดเชื้อ ขยะที่เกิดจากซากเครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าจัดการอย่างไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในชุมชน จึงมีข้อเสนอเกี่ยวกับ การจัดการขยะที่แหล่งกำเนิด เริ่มตั้งแต่การผลิตสินค้า การนำเข้า และการจำหน่ายสินเค้าอุปโภคบริโภค โดยขยะมูลฝอยชุมชน ต้องมีการคัดแยกเป็นประเภทต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยมีปัจจัยความสำเร็จที่เรียกว่า ๕R ประกอบด้วย การลด Reduce , การใช้ซ้ำ Reuse , การนำกลับมาใช้ใหม่ Recycle , การซ่อมแซม Repair และการปฏิเสธ Reject
 
   ดร.บุญส่ง ไข่เกษ รายงานว่า นโยบายการกำจัดขยะของหน่วยงานต่าง ๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป จึงควรหันกลับมาทบทวนแนวคิดและแนวทางใหม่ ด้วยการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม โดยการดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วม ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือต้องอาศัยภาคประชาชน ชุมชน ผู้ที่ก่อให้เกิดขยะ เข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนคติและเป็นภาคีขับเคลื่อนด้วย
 
   สำหรับการจัดการเชิงพื้นที่ มีปัจจัยสำคัญ 5 ประการ คือ ๑. กฎหมายที่ให้ประชาชนคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง ๒. การบริหารจัดการ โดยเฉพาะระดับท้องถิ่น ๓. เทคโนโลยีที่ทันสมัยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ๔. งบประมาณ ที่ต้องอาศัยภาครัฐและเอกชนตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย สุดท้าย ๕. การมีส่วนร่วมของประชาชน
 
   “ขณะนี้ยังไม่เคยมีองค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการอย่างจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชาวบ้าน วัด แต่พอดำเนินการไประยะหนึ่ง แล้วหมดวาระผู้บริหารชุดนี้ นโยบายก็ล้มเลิกไป ดังนั้นดร.บุญส่ง ไข่เกษ จึงมองว่าถ้าสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทยจะเป็นโฟคัลพอยท์ เหมือนที่ไต้หวันมีองค์กรภาคเอกชนและเครือข่าย เป็นแกนนำในการบริหารจัดการ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาก
 
   นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการวิชาการ กล่าวว่า การเสนอระเบียบวาระ เพิ่มเติมในประเด็น “แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนที่แหล่งกำเนิด” ต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาตินั้น ขึ้นกับความพร้อมของคณะทำงาน ว่าจะผลักดันเนื้อหาในเอกสารมติ ได้สมบูรณ์มากน้อยเพียงใด แต่หากปีนี้ยังไม่พร้อมก็สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้ตลอดทั้งปี โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะสนับสนุนเรื่องการจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ภาครัฐ เอกชน ชุมชนท้องถิ่น และนำเสนอเข้ามาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปีหน้าก็ได้
 
   “การพิจารณา ร่างระเบียบวาระเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ พ.ศ. ๒๕๕๙ จะพิจารณาในการประชุม คจ.สช.ในวันที่ ๒๐ กันยายนนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐ แต่หลังจากนั้นภาคีเครือข่ายยังสามารถเสนอประเด็นเข้ามาได้ตลอดเวลา
 
   นพ.กิจจา เรืองไทย อนุกรรมการฯ เห็นว่า ควรมีเวลาให้ภาคีเครือข่ายในต่างจังหวัดทั่วประเทศ ได้พิจารณาว่าเนื้อหาสาระในร่างเอกสารแต่ละประเด็นว่ามีข้อดี ข้อด้อย อย่างไร และมีผลเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้นทุกคนจะบอกว่าตนเองไม่ได้รับผิดชอบเกี่ยวกับมตินี้
 
   ในส่วนของประเด็น “การป้องกันและควบคุมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอย่างมีส่วนร่วม” ประธานอนุกรรมการวิชาการ มอบให้คณะทำงานฯ ใช้เวลาประชุมหารือ เพื่อจัดทำเนื้อหาสาระอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหากพัฒนาข้อมูลไม่ทันกำหนดเวลา ก็ยังสามารถนำประเด็นนี้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ได้
 
   ขณะเดียวกันที่ประชุมเวิร์คช้อปครั้งนี้ ยังได้รับทราบประเด็นข้อเสนอ “การสร้างเสริมและพัฒนาวิถีสุขภาวะเด็ก ๐-๓ ปีด้วยหนังสือและการอ่าน” โดย สสส. ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มาก แต่หากยังไม่พร้อมในการพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะที่สมบูรณ์ ก็สามารถนำไปรับฟังความคิดเห็น หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ก่อนก็ได้
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ