เตรียมประกาศพื้นที่ต้นแบบ’เกษตร-อาหารปลอดภัย’ พร้อมถอดบทเรียนขยายผลทั่วประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   การประชุม “ผู้เชี่ยวชาญ” เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อมูลจังหวัด ที่เสนอเข้าร่วม การคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบเกษตรและระบบอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีทางการเกษตร ภายใต้ คณะทำงานขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มประเด็นเกษตรและอาหารปลอดภัย ที่มี รศ.ภก.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธานฯ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ถือว่ามีความคืบหน้าไปมาก
 
   โดยผู้เชี่ยวชาญ ที่คณะทำงานฯ ได้เชิญมาจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคม ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานระดับพื้นที่ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร คณาจารย์จากสาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สภาเกษตรกรแห่งชาติ มูลนิธิชีววิถี และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ร่วมกันวิเคราะห์และสังเคราะห์ กลุ่มเกษตรกร และเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดต่างๆ ได้นำเสนอรายชื่อเข้ามา
 
   ประกอบไปด้วย พื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบเกษตรที่ปลอดภัย มีผู้เสนอมาจำนวน ๓๙ จังหวัด ๖๓ พื้นที่ และ พื้นที่ต้นแบบการจัดการระบบอาหารที่ปลอดภัย มีผู้เสนอมา ๓๔ จังหวัด ๕๒ พื้นที่
 
   โดยคณะผู้เชี่ยวชาญ ได้วางเงื่อนไข หลักเกณฑ์ ในการพิจารณา ประกอบด้วย การเป็นพื้นที่ต้นแบบที่สามารถขยายผลดำเนินงานได้ในวงกว้าง มีความยั่งยืนในการทำเกษตรและอาหารปลอดภัย รวมทั้งมีความหลากหลายในเชิงพื้นที่ วัฒนธรรม ภูมินิเวศ ชนิดของพืช เป็นต้น
 
   “เราเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยพิจารณา ดูข้อมูลและข้อเท็จจริง ในฐานะที่มี ประสบการณ์การทำงาน กับกลุ่มอาหารและเกษตรปลอดภัยในระดับพื้นที่ โดยประเด็นหลักๆ ที่เราให้ความสำคัญในการคัดเลือกต้นแบบ คือต้องเป็นกลุ่มที่เห็นความสำคัญ ของ การทำงานแบบเครือข่ายชุมชน ไม่ใช่เป็นโครงการของรัฐ หรือนโยบายที่ลงไปทำให้ชุมชน” รศ.ภก.ดร.จิราพร กล่าว
 
   สำหรับ พื้นที่ต้นแบบระบบเกษตรปลอดภัย ผู้เชี่ยวชาญได้โฟกัสไปยังพื้นที่ทำ “เกษตรอินทรีย์” มีระบบการผลิตผสมผสาน มีการจัดกิจกรรมที่โดดเด่น ซึ่งมีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมมากพอสมควร
 
   ส่วน พื้นที่ต้นแบบระบบอาหารปลอดภัย เน้นพิจารณากลุ่มที่มีระบบอาหารปลอดภัย เชื่อมโยงตั้งแต่การผลิต ต้นทาง จนถึงผู้บริโภคปลายทาง มีจำนวนสมาชิกและเครือข่าย ได้รับผลประโยชน์จากการผลิตอาหารปลอดภัยเหล่านี้ และมีความยั่งยืนในการทำงาน รวมถึงมีกระบวนการขับเคลื่อนงานไปสู่ชุมชนและผู้บริโภคในวงกว้าง
 
   วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า พื้นที่ต้นแบบระบบเกษตรและอาหารปลอดภัย จะดำเนินการต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ดังนั้น ในปีนี้ซึ่งถือเป็นครั้งแรก บางพื้นที่ๆ ได้รับการเสนอชื่อ แต่อาจไม่ถูกคัดเลือก ก็อาจจะมีพัฒนาการในปีถัดๆ ไป และนำไปสู่การเป็นพื้นที่ต้นแบบได้อีกครั้ง
 
   ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้คัดเลือกพื้นที่ต้นแบบแล้วเสร็จ พร้อมนำเสนอต่อคณะทำงานฯ ที่มีรศ.ภก.ดร.จิราพร เป็นประธานในวันที่ ๓๐ สิงหาคมนี้ จากนั้น จะมีการประกาศต่อสาธารณชน นำไปสู่การ ถอดบทเรียน เพื่อขยายผลเป็นพิมพ์เขียวให้พื้นที่อื่นๆ นำไปเป็นแบบอย่าง ปรับใช้ ภายใต้บริบทของตนเองได้ต่อไป
 
   โดยที่ประชุมมอบหมายให้ รองเลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา “กฤษฎา บุญชัย” รับผิดชอบในการ ถอดบทเรียน พื้นที่ต้นแบบระบบเกษตรและอาหารปลอดภัย เพื่อทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในอนาคต
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ