เดินหน้าพัฒนา ๔ ประเด็นนโยบายสาธารณะ จัดเวิร์คชอป ระดมสมอง คล้องแขนภาคีเครือข่าย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   ถือว่าเริ่มต้นได้อย่างสวยงาม สำหรับกระบวนการพัฒนาร่างระเบียบวาระ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๙ พ.ศ.๒๕๕๙ ในช่วงปลายปีนี้ โดยล่าสุด การประชุมเชิงปฏิบัติการกับหน่วยงาน/องค์กร เครือข่ายผู้เสนอประเด็นนโยบาย เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสานใจ ชั้น ๖ อาคารสุขภาพแห่งชาติ คราคร่ำไปด้วยผู้คนจากหลากหลายองค์กรภาคี ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร ประธานอนุกรรมการวิชาการ เริ่มต้นด้วยการเล่าให้ผู้เข้าร่วมประชุม เข้าใจถึงคำว่า “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” (Healthy Public Policy) ว่าจะต้องเป็นนโยบายที่มีผลกระทบต่อมหาชน ที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี และช่วยให้ประชาชนมีทางเลือก ที่จะก่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีได้
 
   ขณะที่ กระบวนการ “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ” เป็นการใช้ อำนาจอ่อน ไม่ใช่การใช้ อำนาจแข็ง สั่งการแบบท็อปดาวน์ เหมือนระบบที่เคยคุ้นชินกันทั่วไป แต่เปิดให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ กันอย่างสมานฉันท์ นำไปสู่การเสนอแนะ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ โดยการจัดประชุมอย่างเป็นระบบและมีส่วนร่วม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต้องการประสานสามพลัง คือภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ มาพูดคุยกันโดยใช้ข้อมูล ร่วมกันพัฒนา และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม เป็นประชาธิปไตย ที่รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่มีใครมีอำนาจเหนือกัน เป็นเป้าหมายร่วมในการแก้ไขปัญหา” สิ่งที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย ย้ำก็คือ ทุกคนต้องร่วมกัน เป็นเจ้าของเรื่อง แล้วก็ต้องหาเพื่อน หาเครือข่าย ผูกมิตร มาทำงาน ให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด เมื่อมีอุปสรรคก็ร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ และร่วมกันปฏิบัติ “ทุกท่านที่นำเสนอประเด็น ต้องมีความพร้อมในด้านข้อมูลอย่างเพียงพอ สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่มีการมุบมิบ แต่ต้องเปิดให้ทุกคนและสาธารณชน ได้รับรู้รับทราบทั้งหมดทั่วประเทศ เพื่อเกิดการตื่นตัว การมีส่วนร่วม จะช่วยทำให้การขับเคลื่อนทำได้ง่ายขึ้น”
 
   สำหรับการพัฒนาข้อเสนอเพื่อบรรจุเป็นร่างระเบียบวาระการประชุมฯ ในปีนี้นั้น ประธานอนุกรรมการวิชาการ ระบุว่า สามารถดำเนินการจนกระทั่งมีความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่ง คจ.สช.จะประกาศร่างระเบียบวาระไม่เกินวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๕๙แต่ถ้าไม่ทันจริงๆ ก็ยังพัฒนาทางวิชาการได้ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า แล้วค่อยนำเข้าเสนอประเด็นมาใหม่ได้อีกครั้ง
 
   ด้าน รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา กล่าวเสริมว่า กระบวนการสมัชชาสุขภาพเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ กำหนดจัดขึ้นในเดือนธันวาคม ซึ่งเรียกกระบวนการส่วนนี้ว่า “ขาขึ้น” แต่หลังจากนั้น จะเป็นมติ “ขาเคลื่อน” คือต้องดำเนินการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม โดยคาดว่า ปีนี้จะพัฒนานโยบายสาธารณะ ได้ประมาณ ๕-๖ เรื่อง
 
   “สมัชชาสุขภาพ มีหลักการสำคัญคือต้องใช้ความรู้ คู่ความรัก ประเด็นตรงไหนขัดแย้งกัน ต้องใช้ความรู้เป็นตัวนำ และเข็มทิศมุ่งไปข้างหน้าเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ทุกประเด็นจะได้เป็นระเบียบวาระเสมอไป และเมื่อเป็นระเบียบวาระแล้ว ต้องประกาศต่อสาธารณะ หากยังไม่สมบูรณ์ ก็ไม่สามารถเป็นมติได้ แนวทางนี้สอดคล้องกับเวทีประชุมสมัชชาอนามัยโลก”
 
   เมื่อมีการอภิปรายกันพอ หอมปากหอมคอ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีการแบ่งการประชุมเป็นกลุ่มย่อย ตามประเด็น ได้แก่ ประเด็น “นโยบายที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ห่วงใยสุขภาพ”นำเสนอโดยเครือข่ายพัฒนาชุมชนเมืองนครสวรรค์ โดยมีเครือข่ายที่สนับสนุนประเด็นนี้ คือ เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดนครสวรรค์ , องค์กรชุมชนภาคกลางและตะวันตก , สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ เป็นต้น ประเด็นเรื่อง “การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน” มีผู้เสนอประเด็น คือสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมด้วย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล , กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข , กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยเป็นต้น
 
   ประเด็น “การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” นำเสนอโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น ประเด็น “น้ำดื่มปลอดภัย” มี กรมทรัพยากรน้ำ เป็นผู้เสนอหลัก ร่วมด้วย สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมีเครือข่ายสนับสนุนประเด็น ได้แก่ การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กรมอนามัย เป็นต้น ห้องประชุมย่อยทั้ง ๔ ประเด็น มีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในหลากหลายแง่มุม เพื่อกำหนดขอบเขตของประเด็นที่ต้องการนำเสนอเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และขับเคลื่อนให้เป็นนโยบายสาธารณะ ปฏิบัติให้เกิดรูปธรรมต่อไป “ประเด็นที่เสนอมาวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่ไม่ใช่ภาระงานประจำของหน่วยงานที่ทำตามปกติ แต่เป็นประเด็น ซึ่งต้องการให้หลายภาคส่วนมาร่วมกันแก้ปัญหา มาเป็นเจ้าของ เป็นเจ้าภาพร่วม และเปิดใจให้เกิดการรับฟังความคิดเห็น โดยใช้หลัก สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ดึงคนเข้ามาทำงานด้วยกัน ถือเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญ ที่เราต้องฟันฝ่าไปด้วยกัน” กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจ
 
   “วันนี้หลายหน่วยงาน ยังทำโครงการที่อยู่อาศัยแบบปัจเจก คือตัวใครตัวมัน ต่างคนต่างทำ ต่างวาระ จะทำอย่างไร ให้เกิดบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงาน แม้จะไม่เอื้อเรื่องงบประมาณ แต่เอื้อความรู้ ในการจัดการสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ” อร่ามศรี จันทร์สุขศรี แกนประสานงานและผู้นำเสนอประเด็น “นโยบายที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ห่วงใยสุขภาพ” เล่าถึงสถานการณ์ในขณะนี้ว่า โครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น บ้านมั่นคง หรือบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ ยังไม่ได้คำนึงถึงเรื่องสุขภาวะและสุขภาพ ในการอยู่อาศัย โดยเฉพาะหลังจากที่ได้ไปสัมผัสและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับชาวบ้านพบว่า เกิดปัญหาทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม สุขภาวะ และสุขภาพ เช่น คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ ไม่ได้รับความสะดวกในการดำรงชีพ อีกทั้งมีข้อจำกัดเรื่องการใช้ที่ดิน จึงไม่มีพื้นที่ส่วนกลางให้เด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่ มาทำกิจกรรมร่วมกัน
“การออกแบบส่วนใหญ่ มุ่งเน้นไปที่โครงสร้าง และตอบสนองคนระดับกลางๆ มากกว่า แต่ไม่ได้มองถึงคนอายุ ๗๐-๘๐ ปี ว่าเขาจะอยู่อย่างไร”
 
   ในเรื่องระบบสาธารณูปโภคก็เช่นเดียวกัน บางครั้งหน่วยงานรัฐ ไม่ได้สร้างที่จอดรถอย่างเพียงพอ ถนนจึงแออัดเบียดเสียดกันอย่างมาก เวลามีรถพยาบาลเข้าไปช่วยคนป่วย หรือไฟไหม้ ก็ทำได้ไม่สะดวก อีกเรื่องคือระบบบริหารจัดการน้ำเสีย การจัดการขยะ ยังไม่ครอบคลุมอย่างดีพอ
วันนี้ จึงอยากเห็น กระบวนการพัฒนาชุมชน ให้ตระหนักเรื่องที่อยู่อาศัยที่ห่วงใยสุขภาพด้วย และให้สถาบัน องค์กรต่างๆ มาทำงานร่วมกัน ดำเนินการตามเสียงเรียกร้องชาวบ้าน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ในประเด็นเรื่อง “การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน แบบมีส่วนร่วม”ได้รับความสนใจจากภาคีเครือข่าย เข้าร่วมจำนวนมาก เพราะปัญหาขยะที่ตกค้างในชุมชนสูงขึ้น บางส่วนถูกคัดแยกเพื่อนำไป รีไซเคิลใหม่ แต่บางส่วนยังตกค้าง หรือถูกกำจัดไม่ถูกหลักสุขาภิบาล สร้างกระทบต่อสุขภาวะของประชาชน
 
   น.ส.ชฎาพร พร้อมพอชื่นบุญ เลขาธิการมูลนิธิพร้อมใจพัฒนา กล่าวว่า แนวทางสำคัญในประเด็นนี้ คือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะของตัวเอง ตั้งแต่ ต้นทาง ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการใช้ หลักเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่นในเรื่องของ “รายได้” เพื่อให้คนในชุมชนตื่นตัว หรือผู้ที่ไม่เคยสนใจคัดแยกขยะเลย หันมาตระหนัก และหนุนเสริมการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากขึ้น “ภาครัฐได้ดำเนินการแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจัง มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ และชุมชนต่างๆ ก็มีส่วนร่วมมากขึ้นเรื่อยๆแต่ปัญหาขยะในขณะนี้มีมากขึ้น จำเป็นต้องผนึกกำลังทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน เทศบาล โรงเรียน วัด เข้ามาร่วมกันแก้ไขอย่างยั่งยืน”
 
   ประเด็น“การจัดการขยะมูลฝอยชุมชนอย่างยั่งยืน แบบมีส่วนร่วม”จะประชุมหารือกันอีกครั้งในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๙ เพื่อกำหนดขอบเขตประเด็น และแนวทางที่ชัดเจนต่อไป นพ.อาคม ชัยวีระวัฒนะ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ในฐานะแกนประสานงาน ประเด็น “การคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” นำเสนอความสำคัญของเรื่องนี้ว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ พบมากเป็นอันดับสามในเพศชาย และอันดับสี่ในเพศหญิง โดยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตประมาณ ๓,๐๐๐ คน และมีผู้ป่วยใหม่ประมาณ ๘,๐๐๐ คน “แนวโน้มของโรคยังสูงขึ้นทุกปี เกิดจากการที่คนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีไขมันและเนื้อแดงเพิ่มขึ้น ขาดการออกกำลังกาย รวมถึงโครงสร้างประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น” ทั้งๆ ที่ มะเร็งลำไส้ สามารถตรวจพบระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ และปัจจุบันมีการคัดกรองด้วย ชุดตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ สามารถใช้บริการได้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ทุกแห่งทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมา เคยมีโครงการนำร่อง การคัดกรองประชาชนจำนวน ๘ หมื่นรายในจังหวัดลำปาง แต่ยังไม่เพียงพอ จึงเห็นว่าควรขยายไปยังจังหวัดอื่นด้วย เพื่อให้เป็น นโยบายระดับชาติ โดยมุ่งเน้นการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่อายุ ๕๐-๗๐ ปี ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคค่อนข้างสูง
 
   “ประเด็นสำคัญคือการดำเนินงานคัดกรอง ในเขตสุขภาพทุกแห่งทั่วประเทศ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคประชาสังคม อสม. และหน่วยบริการสุขภาพทุกระดับของจังหวัด ต้องจัดบริการให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความจำเป็นในการคัดกรองโรคด้วย” ยุพเยาว์ จันทร์เทศ จากกรมทรัพยากรน้ำกล่าวว่าวัตถุประสงค์ที่เสนอประเด็น“น้ำดื่มปลอดภัย”นี้ คือต้องการให้ประชาชนทั้งในชนบทและเมืองเข้าถึงน้ำที่สะอาดและมีคุณภาพ เพราะปัจจุบันคุณภาพน้ำในชนบทยังไม่สามารถเทียบเท่าในส่วนกลางหรือตามเมืองใหญ่ได้ รวมไปถึงคุณภาพน้ำประปาที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพียงพอที่จะอุปโภคบริโภค “ถ้าเราขับรถไปในตำบลหนึ่ง เห็นโรงงานทำน้ำแข็ง เกิดคำถามว่าในตำบลนั้นใช้น้ำจากตรงไหน ใช้น้ำประปาจาก อบต. นำมาผลิตน้ำแข็ง ซึ่งตรงนี้มีใครไปตรวจสอบหรือไม่ ว่าได้คุณภาพเพียงพอจะบริโภค สุดท้ายนำมาบรรจุเป็นถุงขายในพื้นที่”
 
   ด้าน สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ร่วมเสนอประเด็นนี้เข้ามาเห็นว่าปริมาณตู้น้ำอัตโนมัติมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น และการบริโภคน้ำจากตู้อัตโนมัตินี้ ก็มีสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันพบว่าตู้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มาตรฐาน และมีช่องโหว่ทางกฎหมาย “การเจริญเติบโตของเมืองทั้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือตามคอนโดมีเนียม ชุมชน จะมีตู้น้ำหยอดเหรียญเยอะมาก ซึ่งการควบคุมคุณภาพของน้ำ รวมถึงความสะอาดของตู้ การเปลี่ยนไส้กรอง เกิดปัญหา ปกติคนส่วนใหญ่ก็จะไม่ดื่มน้ำจากก็อกน้ำอยู่แล้ว นอกจากจะใช้เครื่องกรอง ประกอบกับตู้น้ำหยอดเหรียญเข้าถึงง่าย และมีราคาถูก คือ ๑ ลิตร/๑ บาท” รษิกา ชาญณรงค์ จากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระบุ ทั้งนี้ในที่ประชุม ได้แลกเปลี่ยนถึงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งกลไกการผลิตน้ำ(น้ำประปา, น้ำบาดาล) และส่วนของการเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบ คุณภาพน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพ รวมไปถึงข้อกฎหมายที่ยังเป็นช่องโหว่ต่างๆ โดยจะมีการประชุมภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาขอบเขตความชัดเจนของประเด็นนี้อีกครั้ง ในวันที่ ๑๔ มิถุนายนนี้ ณ อาคารสุขภาพแห่งชาติ
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ