ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ‘กระจายอำนาจ’ ให้ท้องถิ่นและชุมชน มีส่วนร่วมกันจัดการภัยพิบัติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มีแง่งามอีกจำนวนไม่น้อยให้เจาะลึก เมื่อพูดถึงในเรื่องการรับมือวิกฤตการณ์ หากแต่สำหรับการสนทนากับ ไมตรี จงไกรจักร์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) สัดสวนผู้แทนองค์กรเอกชน ผู้ซึ่งอุทิศแรงกายและแรงใจกว่าครึ่งค่อนชีวิต เพื่อเสริมศักยภาพชุมชนให้พร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติได้ด้วยตนเองแล้ว

คงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะพูดคุยกันในเชิงวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เกิดการพัฒนาและแก้ไขปัญหาแบบทะลุทะลวงตรงเป้าประสงค์

 

จากสถานการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ ‘ไมตรี’ เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการทำความเข้าใจ เขาชี้ประเด็นว่า เมื่อพูดถึงการจัดการในประเทศไทย อาจแบ่งหน้างานและความรับผิดชอบออกได้เป็น ๓ ส่วน ได้แก่

๑. น้ำบนฟ้า การคาดการณ์ถึงสถานการณ์พายุ ปริมาณน้ำฝน ฯลฯ โดยหน่วยงานหลักอย่าง กรมอุตุนิยมวิทยา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

๒. น้ำบนดิน การบริหารจัดการน้ำในลำคลอง เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ ฯลฯ โดยหน่วยงานหลักอย่าง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

๓. การแจ้งเตือน โดยหน่วยงานหลักอย่าง ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย

 

จากภาพดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานที่ดูน้ำบนฟ้า น้ำบนดิน มาสู่การแจ้งเตือน ล้วนเป็นคนละหน่วยงาน คนละกระทรวง จึงขาดซึ่งการบูรณาการข้อมูลที่จะนำไปสู่การเตือนภัยถึงประชาชน ส่วนระบบการแจ้งเตือนที่มีก็เพียงแจ้งไปถึงระดับผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ให้เป็นผู้บอกต่อกับประชาชนเท่านั้น ไม่มีการสื่อสารที่เฉพาะเจาะจงไปถึงพื้นที่เกิดภัยว่าเป็นอำเภอ ตำบล หรือหมู่บ้านใด

 

ทั้งนี้ ตามข้อมูลของ ปภ. พบว่าประเทศไทยมีชุมชนที่จัดอยู่ในกลุ่ม “ชุมชนเสี่ยงภัย” อยู่ถึงประมาณ ๔ หมื่นชุมชน แต่ในช่วงตลอด ๑๗ ปีที่ผ่านมา ปภ. ได้มีการของบประมาณจากรัฐบาลเพื่อเข้าไปอบรมให้ความรู้ได้เพียงหลักพันกว่าชุมชนเท่านั้น

 

“แทบไม่มีทางเลยที่จะทำให้คนในประเทศมีความรู้ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้” ไมตรี ระบุ

 

ไมตรี กล่าวอย่างจริงจังว่า ระเบียบกฎหมายที่เรามีอยู่นั้นไม่เอื้อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และชุมชนได้มาร่วมกันจัดทำแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ ส่วนแผนที่มีอยู่ในระดับชาติหรือจังหวัด ก็ถูกเขียนขึ้นโดยไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ท้ายสุดจึงเป็นเพียงแผนบนเอกสารเท่านั้น

 

ดังนั้น เมื่อเราขาดการเตรียมความพร้อมที่ดีในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติ ตั้งแต่การวางแผน มาถึงการแจ้งเตือน จึงเป็นสาเหตุที่ว่าเมื่อเข้าสู่ช่วงของการเกิดภัยพิบัติขึ้นมาในคราใด เราจึงได้เห็นภาพของความสับสน อลหม่าน วุ่นวาย ท่ามกลางความสูญเสียที่ตามมาอีกมากมายแทบทุกครั้งไป

 

แม้กระทั่งเมื่อผ่านภาวะวิกฤตไปแล้วเข้าสู่ช่วงระยะของการฟื้นฟู ก็ยังต้องเจอกับความไม่ชัดเจนของบทบาทหน้าที่ การไม่ได้แบ่งพื้นที่ความรับผิดชอบออกเป็นโซน อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จึงเกิดภาพความวุ่นวายของการทำงานซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง หรือกระทั่งผู้มีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือก็ต้องทะเลาะกัน

 

สุดท้ายก็จะทำให้มีกลุ่มคนที่ตกหล่นไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยา

ภาพของอุปสรรคและข้อจำกัดทั้งหลายนี้นำมาสู่ข้อเสนอ ซึ่งไมตรียืนยันว่า หัวใจสำคัญหรือทางเลือกที่ดีที่สุดของการรับมือภัยพิบัติ คือการกระจายอำนาจให้ภาคท้องถิ่นและชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกันในการจัดการ ภายใต้การมีงบประมาณหรือกองทุนเข้ามาสนับสนุน โดยใช้ฐานของตำบลหรือพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้ผู้บริหารของท้องถิ่นเป็นผู้บัญชาการในเหตุการณ์ ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดหรือรัฐบาลกลางจะเป็นพี่เลี้ยงที่คอยสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ แทน

 

ไมตรี เสนอว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติแล้ว อปท. ควรจะต้องเป็นผู้ที่เข้ามาดูแลประชาชนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติของการจัดหาอาหาร การจัดตั้งครัวกลาง รวมไปถึงการจัดตั้งที่พักชั่วคราวหรือศูนย์อพยพ ที่ชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างทั่วถึง คนในชุมชนเกิดความมั่นใจ ลดการตกหล่นของความช่วยเหลือหากให้อำนาจจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการ

 

สำหรับแนวทางหลักของการแก้ไขปัญหา คือการปรับปรุงกฎหมาย พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้ามาร่วมกันทำแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติ รวมถึงการปรับระเบียบต่างๆ ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น เช่น แม้บ้านจะเสียหายหลังเดียวก็ต้องเข้าข่ายสาธารณภัย การนิยามผู้ประสบภัยให้หมายรวมถึงทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่แบ่งแยกเฉพาะผู้ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเท่านั้น เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ไมตรีขมวดว่าการที่จะเปลี่ยนแปลงให้ทั้งหมดเป็นจริงได้ จำเป็นจะต้องมีกลไกเข้ามารวบรวมข้อจำกัดเหล่านี้เพื่อพัฒนาให้เกิดข้อเสนอที่เป็นระบบ ภายใต้การใช้ฐานข้อมูลทางวิชาการและข้อเท็จจริงในพื้นที่มารวมกัน เพื่อทบทวนกฎหมาย นโยบาย หรือแนวทางในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

 

“พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฯ เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สึนามิ ปี ๒๕๔๗ ซึ่งใช้ภัยพิบัติดังกล่าวมาเป็นฐานของการทำกฎหมาย แต่ปัจจุบันเราเจอกับสถานการณ์โลกรวน โลกเดือด ภัยพิบัติที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในวาระโอกาส ๒๐ ปีของสึนามิ และความพยายามของประเทศไทยในการขับเคลื่อนเรื่องภัยพิบัตินี้ จึงควรที่จะได้มาทบทวนเรื่องราว กฎหมาย นโยบาย หรือแนวทางในการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องและเท่าทันกับแนวโน้มภัยพิบัติในปัจจุบัน”

 

แน่นอน ไมตรีตระหนักดีว่าการปรับระเบียบ กฎหมาย หรือนโยบายใหญ่ๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก หากในระดับผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายนั้นไม่เอาด้วย หรือไม่เข้าใจ จึงมองว่าการขับเคลื่อนผลักดันในระดับท้องถิ่นไปพลางก่อน น่าจะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า

 

ดังนั้นในฐานะ คสช. ไมตรีจึงได้มีการเสนอเรื่องนี้ไปยังสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นเป็นกลไกเพื่อรวบรวมข้อมูลและพัฒนาข้อเสนอเหล่านี้ ภายใต้การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ จากภายนอก

 

“บทบาทของ สช. หรือกลไกที่ คสช. มี คือกระบวนการพูดคุยสร้างความร่วมมือ รวมถึงเครื่องมือในการสานพลังเพื่อหาทางออก แต่ถ้าเรายกระดับกลไกไปสู่การขับเคลื่อน ทำให้เกิดความร่วมมือในการลงมือปฏิบัติด้วย มันจะช่วยทำให้เราเปลี่ยนประเทศนี้ไปด้วยกันได้”

 

สำหรับเป้าหมายที่วางไว้คือการเดินหน้าไปเป็นลำดับ ตั้งแต่การเข้าไปสร้างความร่วมมือกับ อปท. ในการจัดทำ “ข้อบัญญัติท้องถิ่น” ที่จะเอื้อให้ชุมชนและท้องถิ่นสามารถดำเนินการจัดการกับภัยพิบัติไปได้เองก่อน โดยการเดินหน้าสร้างพื้นที่ทดลองเป็นชุมชนต้นแบบร่วมกันในพื้นที่ประสบอุทกภัยภาคเหนือ เพื่อที่จะนำทั้งหมดมาประมวลว่าสุดท้ายแล้ว จะต้องไปสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน กระทรวง หรือกรมใดบ้างเพื่อที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน และปรับปรุงนโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัยพิบัติในปัจจุบัน

แนวทางดังกล่าวได้นำมาสู่การจัดกระบวนการภายใน ซึ่งปัจจุบัน สช. ได้ทำการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการจัดการภัยพิบัติอุทกภัย (EOC สช.) ขึ้นเป็นกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมและประสานการทำงานในระดับพื้นที่ พร้อมกับที่จะมีการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาข้อเสนอที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป