ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านชุมชนชมภู | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

--- ตั้งศูนย์รับมือภัยพิบัติชุมชน ---

คล้อยหลังเพียง ๒–๓ วัน หลังจากที่น้ำเริ่มลดระดับลง คณะทำงานจาก สช. ได้ลงไปยังพื้นที่ตำบลชมภู เพื่อหารือกับพ่อหลวงอนันต์ และเครือข่ายแกนนำชุมชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฐานทุนที่พ่อหลวงอนันต์เป็นนักสานพลัง เป็นหนึ่งในสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่แห่งนี้ก็มีความเข้มแข็งในระดับที่ไม่น้อยหน้าพื้นที่ใด ภาคประชาชนในตำบลชมภูมีศักยภาพในการลุกขึ้นมาจัดการตนเองได้ อีกทั้งมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง มีศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านอย่างครูบาน้อย ซึ่งเป็นพระนักพัฒนา ดูแลชาวบ้านมาอย่างยาวนาน

นั่นจึงไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถของชุมชน ในการจัดตั้งศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชนชมภู หรือเรียกให้สั้นกระชับว่า “ศูนย์ภัยพิบัติชุมชนชมภู” ซึ่งเป็นที่แรกในการพัฒนาให้เป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับการรับมือภัยพิบัติ

สช. คาดหวังว่า องค์ความรู้และการผลลัพธ์จะการดำเนินการในชุมชนแห่งนี้ จะเป็นโมเดลสำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะขยายไปปรับใช้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไปได้

คำแนะนำจากครูบาน้อย หรือพระครูสิริศีลสังวร (ครูบาน้อย เตชปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดศรีดอนมูล พระนักพัฒนา ผู้เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านชุมชนชมภู คือหลักคิด ๓ ประการในการขับเคลื่อนศูนย์ฯ คือ . ต้องมีหลักการ ๒. ต้องมีวิชาการ มีข้อมูลรู้จริง ใช้เหตุและผลก่อนตัดสินใจ ๓. ปฏิบัติการ คิดเสร็จแล้วต้องลงมือทำและถอดความรู้ที่เหมาะสม

แน่นอน ครูบาน้อย ไม่เพียงแค่เมตตาให้หลักคิดในการขับเคลื่อนงานเท่านั้น แต่ท่านยังได้ประกาศพร้อมให้การสนับสนุนการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มกำลังด้วย

 

--- แผนปฏิบัติการชุมชนโดยคนชมภู ---

การสานพลังระหว่างคนในชุมชนชมภู แกนนำชุมชน และทีม สช. ผนวกกับการใช้เครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ อันมีกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหัวใจสำคัญ เกิดเป็นฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย

เริ่มจากการนำกระบวนการจัดทำ ‘ธรรมนูญสุขภาพชุมชน’ เข้ามาเป็นแกนกลาง เกิดวงพูดคุยอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งแกนนำชุมชน ชาวบ้าน ภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ในการร่วมกันระดมความคิดเห็น

นำไปสู่การ “ออกแบบแผนปฏิบัติการ” ซึ่งวางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูล เช่น การทำแผนที่ชุมชน ที่ทำให้ทราบถึงลักษณะครัวเรือน โดยเฉพาะข้อมูลที่พักอาศัยของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อนำมาสู่การออกแบบการซ้อมภัยพิบัติ ทำให้ไม่ตกอยู่ในภาวะลนลาน สามารถตั้งสติ และจัดลำดับความสำคัญก่อน-หลัง ในการให้การช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ เพราะรู้ว่าใคร อยู่ที่ไหน อย่างไร

กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความรีบร้อนในการหาข้อสรุป ชุมชนมีเวลาพูดคุยกันอย่างรอบด้าน ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันออกแบบ หลังจากนั้นจึงจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ มีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน รวมถึงรายละเอียดข้อกำหนดในการปฏิบัติ ที่มาจากการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

ที่สุดแล้ว ปลายทางจะเกิดเป็นข้อตกลงร่วม หรือกติกา หรือ “ธรรมนูญสุขภาพชุมชน” ที่มีชีวิต ซึ่งคนในชุมชนสามารถทบทวน ปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน อย่างที่ครูบาน้อยให้แนวคิดเรื่องการขับเคลื่อนด้วยหลักการ-วิชาการ-ลงมือทำ-ถอดบทเรียน จึงเป็นบทบาทของภาคีเครือข่ายทางวิชาการ อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ได้เข้ามาหนุนเสริมการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน (CHIA) ในพื้นที่ตำบลชมภู เพื่อถอดบทเรียนให้ครอบคลุมทุกมิติ

ปัจจุบัน การจัดทำ CHIA เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน เพื่อใช้เป็นฐานในวางแผน และออกแบบการรับมือภัยพิบัติภายในชุมชน

นอกจากการส่งคืนข้อมูลให้กับชุมชนแล้ว รายละเอียดจากผลการศึกษา CHIA จะนำไปสู่การตั้งวงคุย ภายใต้ธีมงานที่ชื่อ “Policy Cafe” ซึ่งจัดขึ้นภายในงานเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๗ ในวันที่ ๒๗–๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เพื่อแลกเปลี่ยนและผลักดันไปสู่การส่งต่อนโยบายสาธารณะสำหรับการขับเคลื่อนประเด็นการรับมือภัยพิบัติในระดับชาติต่อไป

 

 

--- เมื่อโยมไม่ทิ้งพระ พระก็ไม่ทิ้งโยม ---

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น นอกจากกระบวนการจัดทำธรรมนูญสุขภาพชุมชน และ CHIA อันเป็นเครื่องมือภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐ แล้ว การรับมือภัยพิบัติของชาวชุมชนชมภู ยังได้รับการสนับสนุนจากทางคณะสงฆ์อีกด้วย

วัดศรีดอนมูล ตำบลชมภู ซึ่งมีครูบาน้อยเป็นเจ้าอาวาส ถือเป็นที่พึ่งพิงของฆราวาส เมื่อยามเผชิญกับภัยพิบัติพระสงฆ์และสามเณรก็ร่วมกันยืนหยัดเคียงข้างชุมชน ในขณะที่น้ำเข้าท่วมบ้านเรือน พื้นที่วัดได้ถูกใช้เป็นศูนย์พักพิงชั่วคราว เพราะวัดมีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์และอาคารสถานที่ เช่น โรงครัว โรงทาน ห้องน้ำ ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต จากการสนับสนุนโดยชาวชมภูและศิษยานุศิษย์ครูบาน้อยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

 

สอดคล้องกับสาระสำคัญในธรรมนูญพระสงฆ์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐ และ ฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๖๖ ที่มุ่งหวังให้ศาสนาเข้ามามีส่วนช่วยส่งเสริมดูแลสุขภาพและสุขภาวะกับญาติโยม ตามหลักการที่ว่า “พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเป็นสุข”

นพ.อภิชาติ ย้ำว่า ธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องในการขับเคลื่อนการจัดตั้ง ศูนย์พัฒนาขับเคลื่อนนโยบายและรองรับภัยพิบัติชุมชน ในพื้นที่อื่นๆ โดยการนำเอาศาสนาและพื้นที่วัด มาเป็นศูนย์กลางในการรับมือกับภัยพิบัติด้วย

“การขับเคลื่อนศูนย์ฯ เป็นลักษณะของการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ไปสู่การเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ จาก Local (ท้องถิ่น) ไปสู่ Global (ทั่วโลก) ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่รับรู้รับทราบกันดีอยู่แล้ว แต่ที่ชุมชนชมภูทำให้เกิดเป็นรูปธรรมในทางปฏิบัติได้จริง” นพ.อภิชาติ ระบุ

 

นี่คือภาพสะท้อนของพลังการกระบวนการการส่วนร่วมในการรับมือกับวิกฤตการณ์ และเป็นเรื่องที่เราภูมิใจนำเสนอ