เพิ่มการดูแลกลุ่มเปราะบางผ่าน ‘Telemedicine’ บพท. สนับสนุน สช. วิจัยพัฒนา ‘แพทย์ทางไกล’ อบจ.ลำปาง ยกระดับบริการปฐมภูมิ ตอบโจทย์ประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 บรรจุไปด้วยประเด็นสำคัญที่รัฐบาลตั้งใจจะเดินหน้าในการบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้สถานการณ์ของประเทศไทย ที่แน่นอนว่ายังเต็มไปด้วยความท้าทายหลายประการ

ในบรรดาความท้าทายที่นายกรัฐมนตรีเอ่ยถึง หนึ่งในนั้นคือ ‘การเข้าสู่สังคมสูงวัย’ ที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศ อันจะส่งผลให้ภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐในการดูแลสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมกันนั้นยังได้มีการระบุถึง ‘ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์’ ซึ่งตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่

ท่ามกลางการแถลงข้อนโยบายมากมายเพื่อแก้ไขประเด็นท้าทายต่างๆ เรื่องหนึ่งที่ น.ส.แพทองธาร ได้มีการระบุชัดเจนว่าเป็นนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที คือการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญอย่าง คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวก

ส่วนนโยบายที่จะเดินหน้าในระยะต่อมา คือความพยายามที่จะยกระดับระบบสาธารณสุขให้ดียิ่งกว่าเดิม ทั้งการต่อยอดนโยบาย ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ มาเป็น ‘30 บาทรักษาทุกที่’ ผ่านการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพในระบบบริการสาธารณสุข และการขยายเครือข่ายการบริการระดับปฐมภูมิ พร้อมกันนั้นยังจะพัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล(Telemedicine) เพื่อให้คนไทยเข้าถึงระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดเวลาและค่าใช้จ่าย และสามารถรองรับความต้องการใหม่ๆ จากสถานการณ์สังคมสูงวัย พร้อมใช้ศักยภาพของเครือข่ายสาธารณสุขในการส่งเสริม ป้องกัน และควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCDs)

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าในปัจจุบัน ทิศทางของการนำ Telemedicine เข้ามาประยุกต์ใช้ในระบบสุขภาพจะได้รับความสำคัญเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นั่นเพราะเครื่องมือนี้จะมีส่วนช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการได้ โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ห่างไกล

ฉะนั้นในขณะที่หลายภาคส่วนต่างกำลังมุ่งหน้าเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนา Telemedicine ให้ตอบโจทย์การใช้งานในมิติต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง บทบาทหนึ่งจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ก็อยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการวิจัย “การปรับใช้นวัตกรรมผสมผสานระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) สู่สถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง”

ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โครงการวิจัยนี้ ได้เลือกเอา องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) เป็นพื้นที่ทดลองนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Sandbox) ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จำนวน 10 แห่งที่มีการถ่ายโอนภารกิจมาอยู่กับ อบจ. และอีก 1 รพ.สต. ที่อยู่กับสังกัดเดิมคือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ภารกิจของ สช. ครั้งนี้ ตั้งใจที่จะพัฒนาให้ระบบ Telemedicine ถูกนำมาใช้กับระบบบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ บนการออกแบบและพัฒนาด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทั้งหมดล้วนสอดรับกับความท้าทายของสถานการณ์ และทิศทางที่รัฐบาลกำลังเดินหน้าไปได้เป็นอย่างดี

 

1

 

รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง และยกระดับขีดความสามารถในการจัดการภาครัฐและท้องถิ่น บพท. ให้ภาพถึงสารตั้งต้นที่นำมาสู่การสนับสนุนโครงการวิจัยดังกล่าว เกิดขึ้นบนโจทย์ของ บพท. ที่ต้องการใช้องค์ความรู้เชิงวิชาการมาช่วยยกระดับศักยภาพการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทหลักต่อการพัฒนาในระดับพื้นที่

ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์จากภารกิจของ อปท. ตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่จำนวนมาก พบว่าการดูแลด้าน ‘ระบบสุขภาพปฐมภูมิ’ กลายเป็นภารกิจใหม่ของท้องถิ่นหลายแห่ง ที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภายหลังการถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ระลอกใหญ่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ที่หากสามารถทำให้ อปท. พร้อมรับมือกับภารกิจนี้ได้เร็วที่สุด ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชนได้ในวงกว้างมากที่สุดด้วย

“เรากับ สช. เห็นตรงกันว่านี่เป็นโจทย์ใหม่ที่ท้าทายของท้องถิ่น โดยเฉพาะถ้าพุ่งเป้าไปที่ อบจ. ซึ่งเขาใหม่มากในระบบสุขภาพ จะเคยมีประสบการณ์เพียงในช่วงโควิดที่จัดซื้อวัคซีน หรือดูแลระบบช่วยเหลือผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่เขายังไม่เคยมีประสบการณ์ของการวางระบบสุขภาพชุมชน บริการปฐมภูมิ” รศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุ

รศ.ดร.วีระศักดิ์ อธิบายเพิ่มว่า นอกจากเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยทำให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นสามารถเดินหน้าได้อย่างราบรื่นแล้ว ก็ยังอยากใช้โอกาสนี้เสริมแรงให้ รพ.สต. ยกระดับศักยภาพเพิ่มขึ้น ดูแลประชาชนได้ดีขึ้น โดยเฉพาะความครอบคลุมประชาชนในพื้นที่ห่างไกล หรือกลุ่มเปราะบางที่ปกติอาจเข้าไม่ถึงบริการ ด้วยการใช้เทคโนโลยีอย่าง Telemedicine ซึ่งแม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ที่ผ่านมาอาจยังถูกใช้ในวงที่จำกัด เช่น โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารมากนัก

2

 

นพ.ปรีดา เเต้อารักษ์ ประธานศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ สช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าหลายท้องถิ่นที่ได้รับถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต. ไปแล้ว มีความต้องการที่จะบริหารจัดการระบบสุขภาพเพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกันกับ ‘ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3’ ที่มีแนวคิดหลักในการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมทางสังคม

ทั้งนี้ เช่นเดียวกันกับทาง อบจ.ลำปาง ที่ให้ความสนใจและสนับสนุนในการเข้าร่วมเป็นพื้นที่นำร่องโครงการวิจัยนี้ ด้วยการนำ Telemedicine เข้ามาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการดูแลระดับปฐมภูมิแบบ ‘บริการใกล้บ้านทันสมัยหัวใจเพื่อประชาชน’ โดยทำให้เทคโนโลยีสามารถเกิดประโยชน์ ไม่เฉพาะกับคนในเขตเมืองที่เข้าถึงได้ง่ายอยู่แล้วเท่านั้น แต่ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล กลุ่มเปราะบางทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งยังมีความสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของ ‘พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550’ ที่มีการระบุไว้ถึงสิทธิของบุคคลในการดำรงชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับสุขภาพของคนด้อยโอกาสในสังคม และกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพด้วย

นพ.ปรีดา กล่าวว่า การเดินหน้าโครงการวิจัยนี้ จึงไม่เพียงแต่จะสอดรับเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ของนโยบายระดับประเทศเท่านั้น แต่เชื่อว่ายังจะเป็นส่วนเข้าไปเติมเต็มให้การขับเคลื่อนนโยบายจากส่วนกลาง สามารถลงไปสู่การปฏิบัติจริงได้ในระดับพื้นที่ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากพื้นที่ทดลองเหล่านี้ ท้ายที่สุดแล้วอยากให้เกิดเป็นรูปแบบ แนวทาง วิธีการที่จะสามารถขยายไปยัง รพ.สต. ในสังกัด อบจ. ทั้งหมดได้ต่อไป พร้อมทั้งเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดอื่นๆ ได้ด้วย

3

 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จุดได้เปรียบที่สำคัญในการดำเนินงานด้านสุขภาพของท้องถิ่น คือความใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่ท้องถิ่นควรทำในระยะนี้คือการมุ่งเน้นไปที่บริการขั้นปฐมภูมิเป็นหลัก แต่ รพ.สต. ก็เป็นเพียงรูปแบบบริการหนึ่งเท่านั้น เพราะท้องถิ่นเองยังสามารถยกระดับบริการขั้นพื้นฐานให้สูงขึ้นได้ในรูปแบบต่างๆ

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งหน่วยบริการประจำที่เรียกว่า Contracting Unit for Primary care (CUP) หรือการทำหน่วยบริการแบบโพลีคลินิก ที่เพิ่มความหลากหลายในการดูแลได้มากยิ่งขึ้น เป็นต้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่าง Telemedicine เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มการเข้าถึงของประชาชน โดยเฉพาะการขยายไปยังกลุ่มเปราะบาง คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่เข้าถึงบริการได้ยากลำบาก

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า การออกแบบระบบ Telemedicine ต้องตอบโจทย์ให้ได้อย่างน้อย 3 ด้าน คือ 1. ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการเดินทาง 2. ส่งเสริมการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนได้มากขึ้น 3. สุขภาพของประชาชนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ซึ่งการจะทำให้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีทิศทางที่เกิดจากการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ ร่วมเป็นเจ้าของระบบ หรือบทบาทจากภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมจัดระบบบริการ ตลอดจนการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สธ. สปสช. ทั้งในเชิงงบประมาณ การบริหารจัดการ ฯลฯ ที่สุดท้ายแล้วมาช่วยกันพัฒนาต่อยอดให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นเกิดขึ้นได้

4567