เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก การก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางจำเป็นต้องพึ่งพาเม็ดเงินจากการลงทุน นั่นทำให้ตลอดเวลากว่า ๒ ทศวรรษมานี้ ประเทศไทยจึงเต็มไปด้วยโครงการพัฒนาน้อยใหญ่ บนความคาดหวังที่จะช่วยกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ให้สูงขึ้น
ทว่า การเกิดขึ้นของโครงการพัฒนาเหล่านั้น จำนวนไม่น้อยต้องแลกมาด้วยต้นทุนที่ยากจะประเมินค่า จากการทำให้สภาพแวดล้อมและปัจจัยทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ และวิถีชีวิต
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมี ‘สิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ’ ที่รับรองไว้ในมาตรา ๕ ของ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐
ดังนั้นในกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะ จึงจำเป็นต้อง มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ หรือ HIA เพื่อให้เกิด “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นนโยบายสาธารณะที่คำนึงถึงมิติสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และมีการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนกำหนดแนวทางการป้องกันและลดผลกระทบเอาไว้อย่างชัดเจน
HIA จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานความต้องการ ช่วยสร้างทางเลือกในการพัฒนา บนพื้นฐานของข้อมูลวิชาการที่เป็นกลาง ซึ่งจะเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่าย และช่วยคลี่คลายความขัดแย้งลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับการตัดสินใจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จำเป็นต้องสร้างสมดุลการพัฒนาควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่ง HIA จะเข้ามาเป็นกลไกทางวิชาการ และการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนของระบบสุขภาพท้องถิ่นด้วย
นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ บอกว่า ในอนาคตข้างหน้า อปท. จะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกๆ เรื่อง จากเดิมที่อาจไปเน้นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าต้องเข้ามาดูแลในมิติอื่นๆ ทั้งการศึกษา สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ มากขึ้น ตัวอย่างเช่นทิศทางการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง HIA ก็จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้การดำเนินงานต่างๆ เกิดความยั่งยืนได้
“ทิศทางของการขับเคลื่อน HIA ในปัจจุบัน เราจึงมุ่งเข้าไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นมากขึ้น เพราะนี่เป็นเครื่องมือสร้างการมีส่วนร่วมให้คนได้เข้ามาพูดคุยกันบนพื้นฐานของข้อมูลความรู้ ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินงานหรือนโยบายต่างๆ ของท้องถิ่นเกิดความยั่งยืนได้ เพราะถ้าหากขาดการมีส่วนร่วม เมื่อดำเนินไปแล้วมีผู้ได้รับผลกระทบ เกิดเสียงคัดค้านก็จะกลายเป็นปัญหาที่ตามมา แต่หากท้องถิ่นใช้คุณค่าและวิธีการของ HIA ในการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม ก็จะช่วยให้เกิดการมองที่รอบด้านและพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน” นพ.สุเทพ กล่าว
ขยายวง HIA ด้วยกำลังคนวิชาการ
ย้อนกลับไปในปี ๒๕๕๐ เป็นครั้งแรกที่ HIA ได้รับการบรรจุลงใน พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือตามกฎหมายที่มีบทบัญญัติให้ประชาชนมีสิทธิร้องขอให้มีการทำ HIA ได้ และในมาตรา ๒๕ ให้อำนาจคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน HIA ที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ รวมถึงโครงการพัฒนาต่างๆ และต้องมีการทบทวนทุก ๕ ปี เพื่อให้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง
สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน HIA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ‘ฉบับที่ ๓’ ประกาศใช้เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ซึ่งมุ่งเน้นที่ความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดการบูรณาการเข้ากับการทำงานตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเปิดช่องให้ประชาชนในชุมชนและภาคีเครือข่ายสามารถจัดทำ HIA ได้ด้วยตนเอง เพื่อการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม หรือที่เรียกว่า ‘การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพโดยชุมชน’ หรือ CHIA โดยมี สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. และเครือข่ายวิชาการ HIA เป็นองค์กรสนับสนุนศักยภาพด้านวิชาการและองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบัน สช. ได้สานพลังกับสถาบันการศึกษาใน ๖ ภูมิภาค ร่วมกันเป็น ‘เครือข่ายสถาบันวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Consortium)’ ในทุกภูมิภาค ทำหน้าที่เป็น ‘กลไกสนับสนุนด้านวิชาการในการทำ HIA ในพื้นที่’ มีบทบาทในการจัดการความรู้ พัฒนาคู่มือ กำลังคนตลอดจนขยายเครือข่ายนักวิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในระดับภูมิภาคให้กว้างขวาง เพื่อหนุนเสริมการทำงานของประชาชนในชุมชน
ประกอบด้วย ๑. ภาคเหนือตอนบน (มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่) ๒. ภาคเหนือตอนล่าง (มหาวิทยาลัยนเรศวร) ๓. ภาคกลาง (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ๔. ภาคตะวันออก (มหาวิทยาลัยบูรพา) ๕. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (มหาวิทยาลัยขอนแก่น) ๖. ภาคใต้ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
๒ ทศวรรษรับมือผลกระทบการพัฒนา
ในช่วงกว่า ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา มีการขับเคลื่อน HIA ในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับชาติ ซึ่งเน้นการขับเคลื่อนความร่วมมือของภาคีเครือข่าย มีคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA Commission) เป็นกลไกประสานงานเชื่อมโยงการทำงาน และพัฒนาเครื่องมือสนับสนุนการทำ HIA
ในระดับภาค มุ่งเน้นการพัฒนาเครือข่ายวิชาการและศูนย์วิชาการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพระดับภาค ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุน
การสร้างและจัดการความรู้ หนุนเสริมศักยภาพเครือข่ายในการทำ HIA และ CHIA ในระดับพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมามีการทำ HIA ในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย HIA ระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับจังหวัด ครอบคลุมทุกภาคทั่วประเทศ
นอกจากนี้ยังมีการทำ HIA เชิงประเด็น รวมถึงการยกระดับประเด็น HIA ที่เป็นปัญหาร่วมที่สำคัญของพื้นที่ เพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาในภาพรวม
เช่น การแก้ปัญหาผลกระทบจากการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การทำ HIA เพื่อศึกษาผลกระทบจากนโยบายการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และพัฒนาข้อเสนอนโยบาย การพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศ เพื่อเตรียมรับมือกับนโยบายทางการค้าระหว่างประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยา และการเข้าถึงยาของประชาชนในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่า กลไก HIA จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตั้งแต่ฐานรากของชุมชน ตลอดจนการสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของหน่วยงานต่างๆ รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ด้วย
- 10 views