HIA กับการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการนำไปใช้และเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางมากขึ้นถึงการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เป็นการคาดการณ์หรือประเมินถึงผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งด้านลบและด้านบวกที่อาจเกิดขึ้น จากนโยบายสาธารณะต่างๆ

ทิศทางใหญ่ของโลกให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม(Green Business) โปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน จึงจะสามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างยั่งยืน

HIA เป็นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ การจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการ เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนและความโปร่งใส การตัดสินใจที่มีข้อมูลสนับสนุน สร้างความยั่งยืนในโครงการพัฒนา ช่วยให้โครงการเป็นมิตรต่อสุขภาพมากขึ้น ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีสุขภาพดี ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว 

HIA สามารถทำได้ทั้งก่อน ระหว่าง หรือ หลังการดำเนินงานโครงการ โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลักๆ ได้แก่  พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐  พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ๒๕๓๕  พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ มีมาตราที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพบัญญัติไว้หลายมาตรา เช่น มาตรา ๕ บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ มาตรา ๑๐ เมื่อมีกรณีที่จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนเกิดขึ้นหน่วยงานของรัฐที่มีข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว ต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นและวิธีการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประชาชนทราบ

มาตรา ๑๑ บุคคลหรือคณะบุคคล มีสิทธิในการร้องขอให้มีการประเมินและมีส่วนร่วมในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะมีสิทธิได้รับรู้ข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาต หรือการดำเนินโครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชน มาตรา ๒๕ (๕)  คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ

เมื่อวันที่ ๑๕-๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๗ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพประจำปี ๒๕๖๗ “เมืองสุขภาพดี ชีวีมีสุข ด้วย HIA”  เพื่อเป็นเวทีในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือ HIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในประเด็นต่างๆ ที่หลากหลาย ทันสมัย และเกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ เช่น เรื่อง PM ๒.๕ การประยุกต์ใช้ HIA ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การจัดการกากอุตสาหกรรม มลพิษไฟฟ้าข้ามแดนจากโรงไฟฟ้าถ่านหินหงสา  มลพิษกับ พรบ.อากาศสะอาด ฯลฯ รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ การยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานที่เข้าร่วม ตลอดจนเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์กับผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน

ในปีนี้เรื่องการนำ HIA ไปใช้ใน อปท. มีตัวอย่างดีๆ มาให้เห็นแพร่หลายมากขึ้น เป็นเครื่องมือหนุนเสริมที่สำคัญเพื่อสุขภาพของทุกคน ทุกคนทำเพื่อสุขภาพ ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (Health in All Policies : HiAP) ให้ระบบสุขภาพท้องถิ่นเจริญก้าวหน้าพัฒนาต่อไปได้เป็นอย่างดี. 

 

รูปภาพ