- 32 views
๕๐๐ ปีมานี้ ประชากรโลกเพิ่มจาก ๕๐๐ ล้านคน มาเป็น ๘,๐๐๐ ล้านคน เพิ่มขึ้น ๑๖ เท่า ผลผลิต/อาหารเพิ่มขึ้น ๒๔๐ เท่า พลังงานที่บริโภคเพิ่มขึ้น ๑๑๕ เท่า คนมีกินมากขึ้น ใช้แรงทางกายลดลง
จากเดิมที่ป่วยตายด้วยโรคติดเชื้อ อย่างกาฬโรค อหิวาตกโรค ที่ร้ายแรงถึงขนาดเป็นเมืองร้างหรือต้องย้ายเมือง แต่ก็มียาฆ่าเชื้อ มีวัคซีน จนสามารถกวาดล้างกำจัดโรคติดต่อเหล่านั้นให้ยุติลงไปได้ แต่สำหรับ โรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases : NCDs) กลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตถึงร้อยละ ๗๕ ในปัจจุบัน
จากโรคที่เกิดจากเชื้อโรค สู่โรคที่เกิดจากพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม เกิดจากคนเราทำตัวเองและทำกันเอง
ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งจากโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง คนไทยเสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อ NCDs กว่า ๔ แสนรายต่อปี หรือคิดเป็นถึง ๘๑% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งปัญหานี้ส่งผลกระทบทั้งด้านระบบสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมหาศาล
ประเทศสิงคโปร์ประกาศวาระแห่งชาติ '3 Beyonds' Beyond healthcare to health. Beyond hospital to community. Beyond quality to value. ประกาศสงครามกับโรคเบาหวาน กำหนดมาตรการวิธีการต่างๆ ให้ประชาชนออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กินข้าวกล้อง ลดการบริโภคน้ำตาล/น้ำอัดลม ฯลฯ หวังจะให้คนสิงคโปร์ที่เป็นโรคเบาหวานกว่าร้อยละ ๑๐ ลดลงให้ได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ชื่อว่ามีระบบสุขภาพดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มองทิศทางระบบสุขภาพของประเทศต้องสร้างนำซ่อม แต่การปฏิบัติยังเป็นซ่อมนำสร้าง จัดสรรทรัพยากรคน เงิน ของ มากมายมหาศาลเพื่อการซ่อมสุขภาพ ซ่อมเก่งมาก มีคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จะมัวแต่ตามแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มตึกเพิ่มเตียงในโรงพยาบาล ตั้งศูนย์หัวใจ ศูนย์ฉายแสงกันทุกจังหวัด ศูนย์ล้างไตทุกอำเภอ หากไม่ปรับทิศทางระบบสุขภาพใหม่ รองรับสังคมสูงวัย และภัยจากโรค NCDs ระบบสุขภาพไทยอาจใกล้ถึงวันเวลาล่มสลาย
ถึงเวลาที่ต้องทำสร้าง นำ ซ่อม กันอย่างจริงจัง
เดนมาร์ก สวีเดน เป็นตัวอย่างประเทศที่ปรับตัวปรับทิศทางระบบสุขภาพที่ควรจะเป็น ตั้งเป้าลดจำนวนโรงพยาบาล ลดจำนวนเตียงในโรงพยาบาล จัดระบบการดูแลที่บ้าน จัดระบบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค จัดการสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้จริง ปี ๑๙๘๐ ประเทศเดนมาร์กมีเตียงผู้ป่วย ๔๒,๕๐๐ เตียง เหลือเพียง ๑๔,๐๐๐ เตียงในปี ๒๐๒๐
การพัฒนานโยบายสาธารณะว่าด้วยการสานพลังสร้างสภาวะแวดล้อมทางกายภาพและสังคมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่อาศัยความมุ่งมั่นตั้งใจของทุกภาคส่วน เพื่อให้ประชาชนคนไทยสุขภาพดี เสริมสร้างพฤติกรรมเหมาะสมทั้งการรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ อากาศ ลดละอบายมุขเหล้า บุหรี่ และที่สำคัญต้องไม่อ้วน
ขอให้ทุกท่านสุขภาพดี และร่วมกันประกาศสงครามกับโรค NCDs เพื่อคนไทยแข็งแรง ประเทศไทยแข็งแรง ตลอดไปครับ