Social participation : การมีส่วนร่วมของสังคม จากไทยสู่โลก | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กว่าสามสิบปีที่แล้ว ประเทศไทยเราเริ่มพูดกันถึงว่าหมดยุคประชาธิปไตยแบบตัวแทน ต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม จาก representative democracy มาเป็น participation democracy ที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยนาทีเดียวเวลากาบัตรเลือกผู้แทน แล้วยกให้เป็นหน้าที่ของผู้แทน ประชาชนต้องเป็น active citizen ที่ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตรวจสอบ ตลอดเวลาหลังจากกาบัตรเลือกตั้ง

การมีส่วนร่วมของสังคมมีความสำคัญ ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นเรื่องสิทธิด้านสุขภาพ หรือเรื่องประชาธิปไตย แต่การมีส่วนร่วมของสังคมทำให้การจัดทำนโยบาย ทางเลือกเชิงนโยบาย ให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์สังคมมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้บรรลุผลลัพธ์ด้านสุขภาพดีขึ้นอีกด้วย

การบริหารแบบมีส่วนร่วม การตัดสินใจแบบมีส่วนร่วม ระบบสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ระบบสุขภาพเป็นของทุกคน ทุกคนมีส่วนร่วมในการกำหนดสุขภาพ ทุกนโยบายคำนึงถึงสุขภาพ ทุกนโยบายประชาชนต้องมีส่วนร่วม Health for all,  All for Health, Health in all Policies.

ประเทศไทย ผลลัพธ์ด้านสุขภาพดีขึ้นมาก คนไทยอายุยืนยาวมากขึ้น ด้วยมีระบบสุขภาพที่ดี  พัฒนาต่อเนื่อง รากฐานสำคัญคือ กลยุทธ์สาธารณสุขมูลฐาน ที่ส่งเสริมการพึ่งตนเองของประชาชน และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งในด้านการวางแผน การดำเนินงาน การประเมินผล และกำเนิด  อสม. ใน พ.ศ. ๒๕๒๐

ทำให้ระบบสุขภาพไทยในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับ อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก ก็ด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชน  ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นบทพิสูจน์อย่างเห็นได้ชัด

วิสัยทัศน์ สช. : ระบบสุขภาพไทยพัฒนาจากกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา สช. เป็นพื้นที่กลางสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของสังคมของประชาชน ในหลายๆรูปแบบ เช่น เวทีปรึกษาหารือ เวทีสาธารณะ สมัชชาสุขภาพ การจัดทำธรรมนูญสุขภาพของพื้นที่ต่างๆ   การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการระดับชาติหรือคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ฯลฯ สานพลังการพัฒนานโยบายสาธารณะ และการขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ทุกเรื่องล้วนแต่อาศัยการมีส่วนร่วม จึงจะสำเร็จได้อย่างยั่งยืน

การมีส่วนร่วมของสังคม เป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชน ประชาสังคม ในระดับตัดสินใจเชิงนโยบายร่วมกันกับภาครัฐ และอื่นๆ การมีส่วนร่วมจึงเป็นทั้งหัวใจ สมอง และแขนขาในการทำงาน

กระบวนการมีส่วนร่วมที่ได้ดำเนินการในประเทศไทย นำไปสู่การพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างๆ เป็นที่สนใจยอมรับเห็นความสำคัญร่วมกัน สมัชชาองค์การอนามัยโลก สมัยที่ ๗๗ เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ (77th World Health Assembly, WHA) ประกาศรับมติ เรื่อง “การมีส่วนร่วมของสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตลอดจนสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Social Participation for UHC, Health and Well-being) ตามที่ประเทศไทยเสนอ องค์การอนามัยโลกให้ประเทศสมาชิก ดำเนินการให้อำนาจกับทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ชุมชน และภาคประชาสังคม ให้สามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพในทุกขั้นตอนของนโยบาย

พลิกอ่านรายละเอียดได้ในสานพลังฉบับนี้ครับ

รูปภาพ