กรรมการสุขภาพแห่งชาติสัญจรร้อยเอ็ด สานพลัง ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ นับเป็นหัวรถจักรที่สำคัญในการขับเคลื่อน “นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ” ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับ “กระบวนการมีส่วนร่วม” หลากหลายภาคีเครือข่ายทั่วประเทศต่างคาดหวังการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติว่า จะสามารถผลักดันให้เกิดสุขภาวะของสังคมได้อย่างแท้จริง
 
   เมื่อวันที่ ๒๘-๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้เดินทางร่วมกันใน เวทีสัญจรเพื่อ ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ในพื้นที่ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้แสดงศักยภาพของพื้นที่ที่มีการทำงานแบบเครือข่ายที่เข้มแข็งท่ามกลางปัญหาสุขภาวะที่เพิ่มขึ้น โดยบูรณาการ ๓ เครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ อันได้แก่ สมัชชาสุขภาพจังหวัด ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่ และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ ซึ่งเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัด
 
   คณะกรรมการฯ ได้เริ่มการเรียนรู้รูปธรรมการทำงานจาก สมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด ที่จัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพติดต่อกันมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๖–๒๕๕๘ มีมติสมัชชาสุขภาพรวม ๑๒ ประเด็นซึ่งมีการขับเคลื่อนการนำมติไปปฏิบัติโดยเชื่อมโยงกับ ยุทธศาสตร์จังหวัด เช่น การแก้ไขปัญหามะเร็งท่อน้ำดี/มะเร็งตับ ไข้เลือดออก หรืออุบัติเหตุ
 
   ขณะที่การเรียนรู้ ธรรมนูญสุขภาพประชาชนคนตำบลหนองหิน อำเภอเมืองสรวง ทำให้เห็นถึงการใช้ธรรมนูญสุขภาพพื้นที่แก้ปัญหาในระดับชุมชน โดยชุมชนมีส่วนร่วม ทุกคนเป็นเจ้าของปัญหา จนร่วมกันออกแบบถึงภาพฝันที่ชุมชนต้องการ คือ ครอบครัวที่อบอุ่น และ ชุมชนต้องรักษาสามัคคี และชุมชนหาแนวทางที่เป็นกติการ่วมเพื่อไปสู่ความต้องการนี้ร่วมกันได้ ด้วยกติการ่วมนี้ ปัจจุบัน ชุมชนสามารถลดปัญหาการทะเลาะวิวาทกันในงานมหรสพในหมู่บ้านได้ เพราะใครก่อเหตุก็ไม่เพียงต้องเสียค่าปรับ แต่ยังมีมาตรการทางสังคมที่ครอบครัวต้องร่วมรับผิดชอบพฤติกรรมลูกหลานด้วย
 
   ส่วน การประเมินผลกระทบกระทบด้านสุขภาพ เป็นการดำเนินงานในกรณี โรงไฟฟ้าชีวมวลตำบลเหนือเมือง อำเภอเมือง ซึ่งมีการดำเนินการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การกลั่นกรองว่าควรทำการประเมินผลกระทบทางสุขภาพหรือไม่ มีการกำหนดขอบเขต การประเมินผลกระทบ การทบทวนร่างรายงานฯ การผลักดันเข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ และติดตามประเมินผล
 
   ภายหลังการเรียนรู้รูปธรรมในพื้นที่ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนสรุปบทเรียน เพื่อนำสิ่งที่ได้รับไปถ่ายทอด ขยายผลเป็นแนวทาง กระบวนการพัฒนาการทำงานตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ต่อไป
 
   “นี่น่าจะเป็นคือเครื่องมือที่ดีสุดในการแก้ปัญหาประเทศชาติ” นายนพพา พันธุ์เพ็ง กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรภาคเอกชนฯ เขต ๑๐ พื้นที่อิสาน กล่าวและระบุว่า แนวทางการสานพลังโดยภาคีเครือข่ายต้องอาศัยการเรียนรู้จากการทำงาน ไม่มีใครใช้อำนาจสั่งการใครได้ นับเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการสร้างความร่วมมือและบูรณาการการทำงานจากทุกฝ่าย
 
   จ่าเอกวีรพล เจริญธรรม กรรมการสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนองค์การภาคเอกชน ๘ พื้นที่อิสานอีกคนหนึ่งมองว่า ถ้าชาวบ้านได้เรียนรู้เครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้ง ๓ เครื่องมืออย่างลึกซึ้ง จะช่วยให้การทำงานในพื้นที่แข็งแกร่งขึ้น ชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
 
   “เราไม่สามารถสร้างสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติในทุกจังหวัดได้ แต่ทำอย่างไรให้หน่วยเลขานุการกิจของสมัชชาสุขภาพจังหวัดมีความเข้มแข็งในการประสานงาน มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเครื่องมือแต่ละชนิด สร้างการมีส่วนร่วมรวมถึงการสร้างนักสานพลังขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะให้เพิ่มมากขึ้น และสามารถมองประเด็นในเชิงยุทธศาสตร์ของพื้นที่และประสานการทำงานกับทุกภาคส่วนได้”
 
   นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสุขภาพแห่งชาติจากผู้ทรงคุณวุฒิ กลุ่มการพัฒนาสังคมและชุมชนท้องถิ่น เน้นว่า การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาวะจำเป็นต้องอาศัยพลังจาก ภาคเอกชน เข้ามาร่วมด้วย ถือเป็นการขับเคลื่อนโดย ระบบตลาด นอกเหนือไปจากแนวทาง สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากในทุกประเทศ ภาคเอกชนมีอำนาจครอบงำรัฐบาลอยู่ข้างหลัง ขณะที่ประเทศไทย มี “นโยบายประชารัฐ” ก็คือการดึงนายทุนมาร่วมช่วยเหลือภาคประชาชน
 
   “ผมคิดว่า ณ วันนี้ เราต้องผลักดันภาคเอกชนให้ออกมายืนข้างหน้า เหมือนการฉาย สปอตไลต์ ให้สังคมเห็นอย่างชัดเจน จากที่เคยอยู่เบื้องหลังแล้วชักใยเหมือนเมื่อก่อน เราจะรู้ว่าเค้าทำอะไรให้ประเทศได้บ้าง และไม่ควรไปทะเลาะกับเค้าอีกต่อไป แต่ชวนมาร่วมกันทำงานเพื่อสร้างสังคมสุขภาวะ”
 
   ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ต้องปรับรูปแบบการทำงานใหม่ให้สอดรับกับสถานการณ์ทั้งของรัฐบาลและรัฐธรรมนูญ เช่น ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนเรื่องโรงไฟฟ้าหรือโรงกำจัดขยะ และใช้มาตรา 44 ยกเว้นการทำประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ รวมถึงแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ใช้การสั่งการโดยรัฐเป็นสำคัญ
 
   “ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัด จะมีอำนาจสั่งการในทุกเรื่อง ตำแหน่งนี้จึงมีความสำคัญ เราต้องชักชวนให้ผู้ว่าฯ เข้ามาร่วมในกระบวนการ ร่วมรับรู้ข้อมูล ช่วยกันประสานเชื่อมโยงให้ผู้ว่าฯ เห็นประโยชน์ของการทำงานแบบมีส่วนร่วมว่า ถ้าผู้ว่าฯ ลงมารับรู้และแก้ปัญหาด้วยตัวเองแต่ต้นแล้ว จะไม่มีม็อบในพื้นที่ ไม่มีเรื่องส่งไปที่ศูนย์ดำรงธรรม หรือ ป.ป.ช. ด้วย”
 
   นอกจากนี้ นายเอ็นนู ยังเสนอให้ สช. เร่งสานพลังภาคเอกชน เช่น หอการค้า ซึ่งเป็นเสาหลักของภาคธุรกิจ เข้ามาร่วมทำงาน เพื่อให้บริษัทต่างๆ หันมาเข้าใจและใส่ใจชุมชนมากยิ่งขึ้น สร้างความตระหนัก เลิกใช้วิธีการเดิมๆ คือเวลาจะก่อสร้างโรงงานก็บอกชาวบ้านแต่ข้อดี แต่สุดท้ายปฏิบัติจริงมีผลกระทบทางสุขภาพตามมา นำไปสู่ความขัดแย้ง การประท้วง และโครงการก็มีปัญหาคาราคาซัง เงินที่กู้มาลงทุนก็ต้องเสียดอกเบี้ย ดังนั้น ภาคเอกชนรับรู้ว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ มีเครื่องมือ มีกระบวนการที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมพูดคุย ให้ความเห็นเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งปัจจุบันและอนาคตเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แต่ทั้งนี้ เอกชนก็ต้องเข้าใจด้วยว่ากำไรอาจจะลดลง เพื่อนำเงินมาแก้ไขในจุดที่เป็นปัญหา
 
   “ผมเป็นนักการเงินมาก่อน มีหลักการที่เราได้รับการสอนมาตลอดว่า ต้องใช้เงินดี ไล่เงินเลว ตรงไหนน้ำไม่สะอาด ก็ใส่น้ำดีเข้าไปไล่ ถ้ามัวเอาตะกอนทิ้งไปหรือคว่ำแก้วไปเลย ก็เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเมื่อใส่น้ำดีเข้าไปแทนที่ ตะกอนที่ไม่ต้องการก็เหลือน้อยลง”
 
   นายเอ็นนู สรุปว่า วิธีการสานพลังคือต้อง “สานให้ถูกเส้น” ใช้กลยุทธ์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์หรือแนวทางของรัฐด้วย ไม่ใช่ไปเพิ่มความขัดแย้ง แต่กลไก คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ต้องส่งสัญญาณให้ระดับนโยบายว่า หลักการทำงานและเครื่องมือภายใต้พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯจะช่วยให้ทำงานได้ราบรื่นขึ้น และสร้างทัศนคติเชิงบวก ผสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกัน
 
   นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ สช. อยู่ระหว่างวางแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า และมีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่เข้ามารับหน้าที่ในจังหวะนี้พอดี การลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้ จะช่วยทำให้เห็นโลกของความจริงกับความคิดในเชิงยุทธศาสตร์มาผสานกันอย่างลงตัว
 
   “พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ สนับสนุนให้มีการสานพลังทุกภาคส่วน โดยภายใต้เครื่องมือนี้ เราเชื่อว่าต้อง สานพลังในแนวนอน และพัฒนา การอภิบาลโดยเครือข่าย หรือโดยหุ้นส่วนที่ได้ชักชวนเค้ามาทำงานร่วมกัน เช่น สมัชชาสุขภาพจังหวัดร้อยเอ็ด ธรรมนูญสุขภาพตำบลหนองหิน เป็นต้น รวมทั้งต้องสร้าง นักสื่อสารนโยบายสาธารณะ อย่างต่อเนื่อง และทำให้ หน่วยเลขานุการกิจ มีความเข้มแข็ง ในการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติครั้งหน้า ในวันที่ ๑๙ พฤษภาคมนี้ ที่ประชุมคงได้แลกเปลี่ยนความคิด ความเห็น จากการลงพื้นที่ร้อยเอ็ด เพื่อกำหนดแนวทางและแผนขับเคลื่อนงานกันต่อไป”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ