คมส.ใส่เกียร์ห้าเดินหน้าลุย ขับเคลื่อนมติสมัชชาฯ แบบเข้มข้น | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   การขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้ง ๘ ครั้ง ที่ผ่านมาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ถือเป็นแนวทางที่ คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงานตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ซึ่งมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มอบหมายในทุกฝ่ายเร่งดำเนินอย่างเข้มข้นช่วง ๑๘ เดือนนี้
 
   ในการประชุม คมส. ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล ได้ย้ำในที่ประชุมว่า รัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับแนวทาง “ทุกนโยบาย ห่วงใยสุขภาพ” ไม่ว่าจะออกนโยบายใดก็ตาม ต้องคำนึงถึงสุขภาพ ทั้งการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม เหมืองแร่หรือเรื่องแร่ใยหินก็ตาม โดยกระทรวงสาธารณสุข พร้อมจะสนับสนุน นำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เพราะหลายประเด็นมีความสำคัญ ต้องขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กร และประชาชน
 
   “ผมคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ มีการบูรณาการการทำงานมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏ แต่มีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาทำงาน ประมาณ ๑ ปี ๖ เดือน ตามที่นายกรัฐมนตรีย้ำเสมอ ดังนั้น ต้องเร่งรัดทำให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติต่าง ๆ มาขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม ต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ที่สำคัญต้องพุ่งเป้าให้ชัดเจน เพื่อให้ผลลัพธ์เกิดขึ้น โดยต้องผลักดันไปให้ถึงคนที่รับผิดชอบ เพราะเขามีทั้งอำนาจ หน้าที่ และงบประมาณ จึงจะไปถึงเป้าหมายและประสบผลสำเร็จ”
 
   ฝ่ายเลขาฯ ได้รายงานผลการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๘ ณ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี ภายใต้ประเด็นหลัก (Theme) “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” ต่อ คมส. พบว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม ๒,๕๘๖ คน มีฉันทมติ ๔ มติใหม่ และ ๑ มติเดิม ประกอบด้วย มติ สุขภาวะชาวนา : การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา มติ ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม มติ นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อ(NCDs) มติ วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ และมติ ทบทวนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยขณะนี้ทาง สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างจัดส่งทั้ง ๕ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ไปยังกลุ่มเครือข่าย เพื่อนำไปขับเคลื่อนต่อไป
 
   ทางด้าน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ และสาธารณสุข ที่มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้คัดเลือกมติสมัชชาฯ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดสำเร็จเป็นรูปธรรม ๓ กลุ่มมติ ประกอบด้วย ๑. กลุ่มมติปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ประกอบด้วย มติยุทธศาสตร์ในการจัดการปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ , ยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ , มาตรการในการควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านยาสูบ และการกำกับดูแลสื่อและการสื่อสารการตลาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ๒. กลุ่มมติ การใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง มี ๓ มติ ประกอบด้วย การจัดการ “สเตอรอยด์” ที่คุกคามสุขภาพคนไทย , การจัดการปัญหาโฆษณาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางวิทยุกระจายเสียงสื่อโทรทัศน์อินเทอร์เน็ต , แผนยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาที่ผิดกฎหมายของยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๖๑ และกลุ่ม ๓ เรื่อง นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน
 
   ด้าน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสังคมและสุขภาวะ ที่มี รศ.วิทยา กุลสมบูรณ์ เป็นประธาน ได้คัดเลือกมติที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ๓ กลุ่มมติ ประกอบด้วย ๑.การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ๒.กลุ่มมติเกษตร อาหาร และโภชนาการ มี ๓ มติ ได้แก่ เกษตรและอาหารในยุควิกฤติ , ความปลอดภัยทางอาหาร: การแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช , การพัฒนากลไกและกระบวนการที่สามารถรับมือผลกระทบด้านสุขภาพจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอาหารและสินค้าเกษตรที่เป็นอาหาร ๓. กลุ่มเด็กกับสื่อ มี ๒ มติ ประกอบด้วย ผลกระทบจากสื่อต่อเด็กเยาวชนและครอบครัว และการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก ๒๔ ชม. : กรณีเด็กไทยกับไอที
 
   มติฯ ดังกล่าวคณะอนุกรรมการฯ กำหนดเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลแต่ละส่วนภายใน ๓ เดือน ๖ เดือน ๑ ปี และ ๒ ปี เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลถัดไป และประสานเจ้าภาพหลักให้มีกลไกขับเคลื่อนเป็นรูปธรรม พร้อมติดตามความก้าวหน้าตามตัวชี้วัด
 
   ที่ประชุม คมส. ยังได้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เพื่อหาแนวทางผลักดันให้มติสมัชชาสุขภาพฯ ถูกนำไปปฏิบัติให้เกิดผลในช่วง ๑๘ เดือนตามนโยบายของ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล โดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ประธานคณะทำงานติดตามการขับเคลื่อนมติ นโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน ระบุว่า ควรมีการตั้งคณะทำงานติดตามฯ และวางกลไกการติดตามมติสมัชชา จะเป็นแนวทางหลักที่ช่วยกระตุ้นให้มติฯ ได้รับการขับเคลื่อน
 
   ขณะเดียวกัน สำหรับมติ การแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนน สช.รายงานว่า มีความคืบหน้าตามลำดับ โดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน และภาคีด้านความปลอดภัยทางถนน จะร่วมกับ สช.และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อทำมาตรการทางสังคมและมาตรการท้องถิ่น เพื่อรณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย และอาจปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบ ที่เอื้ออำนวยให้ท้องถิ่นและภาคประชาสังคมมีบทบาทในการจัดการความปลอดภัยทางถนนมากขึ้น
 
   ขณะที่กลุ่มมติ เกษตร อาหาร และโภชนาการ กำลังจัดทำโครงการศึกษา ร่างกฎหมายสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค และการทำเกษตรที่ดี และการผลักดันระบบอาหารปลอดภัย โดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย
 
   โดยที่ประชุม คมส. ได้เห็นชอบ การตั้งคณะทำงานติดตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติขึ้น จำนวน ๓ คณะ เพื่อรองรับการทำงานของ ๓ กลุ่มมติดังกล่าว เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนมติแบบเข้มข้น เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ