รมว.สาธารณสุข ส่งสัญญาณชัด เร่งขับเคลื่อน ๖๙ มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   การประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามการดำเนินงาน ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (คมส.) ครั้งที่ ๑/๒๕๕๙ เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ นับเป็นการประชุม คมส.นัดแรกของปีนี้ โดยมี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการเข้าร่วม เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นภายหลัง การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ.๒๕๕๘ “สานพลังปัญญาและภาคี สร้างวิถีสุขภาวะไทย” เพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
 
   ที่ประชุมได้หารือถึงอุปสรรคการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆจากหลายภาคส่วน เพื่อให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งที่เป็นมติใหม่ ๖๘ มติ และอีก ๑ มติ ที่มีการทบทวน (Revisit) ถูกนำไปขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ อย่างแท้จริง
 
   นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา รองประธาน คมส. กล่าวถึงพัฒนาการของกระบวนการสมัชชาสุขภาพว่า ก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ปรับปรุงมาเป็นระยะ จากช่วงแรก ๆ ที่เน้นประเด็น “ขาขึ้น” หรือผลักดันประเด็นปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดเป็นมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ
 
   ต่อมาให้ความสำคัญกับ “ขาเคลื่อน” หรือการผลักดันแต่ละมติให้สามารถนำไปแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนได้เป็นรูปธรรม พร้อมกับการนำมติต่าง ๆ มาทบทวนใหม่ เพื่อให้การขับเคลื่อนสอดคล้องกับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไป รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการสมัชชาสุขภาพให้มีประสิทธิภาพ
 
   “การที่ ศ.นพ.ปิยะสกล ได้รับเป็นประธานกรรมการ คมส.และเข้าร่วมประชุมด้วยตนเองมาตลอด ถือเป็นการส่งสัญญาณอย่างแรง ที่ได้เห็นความสำคัญ และพร้อมสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพฯ จากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบและอำนาจหน้าที่โดยตรง”
 
   ผศ.ภก.พงค์เทพ สุธีรวุฒิ กรรมการคมส. เล่าถึงบรรยากาศของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ ว่า ในส่วนของผู้ที่ต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนแต่ละมตินั้น มองว่ายังมาเข้าร่วมไม่มากนัก จึงขอเสนอให้คมส.เร่งปรับกระบวนเพื่อให้สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ คงไว้ซึ่งความศรัทธาและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง
 
   ขณะที่ ศ.นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อที่ประชุมว่า พร้อมสนับสนุนมติสมัชชาสุขภาพฯ เพราะหลายเรื่องเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขให้สำเร็จ บางเรื่องกระทรวงสาธารณสุขนำไปขับเคลื่อนต่อ และผลักดันสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อนำประเด็นนั้นไปทำงานร่วมกับกระทรวงต่าง ๆ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง อาทิ กระทรวงคมนาคม อย่างกรณีอุบัติเหตุบนท้องถนน
 
   “เรื่องนี้มีความสำคัญมาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขมีการทำงานมาตลอดหลายปี แต่สถิติยังไม่ลดลง กระทั่งขึ้นเป็นอันดับ ๒ ของโลกในปัจจุบัน จึงมีการวิเคราะห์จุดที่เป็นปัญหาจริง ๆ และพบว่ามาจาก ๓ ส่วนที่ต้องเร่งแก้ไข คือ การขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกกันน็อค การดื่มแอลกอฮอล์ และไม่เคารพกฎจราจร ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ไม่แก้ไขให้สำเร็จได้โดยกระทรวงสาธารณสุขทำเพียงลำพัง”
 
   ยังรวมถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับ เด็กและเยาวชน ซึ่งมีหลายปัญหา ทั้งท้องก่อนวัยอันควร การติดเกมออนไลน์ ฯลฯ โดยเร็ว ๆ นี้ก็จะมีการหารือของปลัดกระทรวงทั้ง ๔ กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสาธารณสุข ถือเป็นบรรยากาศการทำงานร่วมกัน โดยมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหา ซึ่งยากที่จะเกิดขึ้นในยุคสมัยอื่น
 
   “มติต่าง ๆ ที่ออกมาจากสมัชชาสุขภาพ ล้วนเป็นประโยชน์ แต่หากจะทำให้มีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะต้องกำหนดประเด็นที่ชัดเจน และชี้ให้ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร ผลักดันไปให้ถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงให้ได้ เพราะมีทั้ง หน้าที่ อำนาจ และงบประมาณ โดยผมพร้อมจะช่วยผลักดันให้มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนไปได้”
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ