บทเรียนจากพลังภาคีตลอด ๑๕ ปี สู่นโยบายสาธารณะที่จะตอบโจทย์ แก้ปัญหาสุขภาวะสำคัญของประเทศ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

        สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน ในปี ๒๕๖๕ นี้ นับได้ว่าเป็นเวลา ๑๕ ปีตั้งแต่ที่สังคมไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นต้นมา ซึ่งกฎหมายด้านสุขภาพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดกลไกและกระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม สู่การสร้างสังคมสุขภาวะ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ที่ขยายมิติสุขภาพให้กว้างขึ้นครอบคลุม ๔ มิติ คือ กาย ใจ สังคม และปัญญา

       
 ตลอดระยะเวลายาวนานกว่า ๑๕ ปี แน่นอนว่าการขับเคลื่อนบนเครื่องมือต่างๆ ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ นี้ได้ใช้ “พลังภาคีเครือข่าย” เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือการสร้าง “สังคมสุขภาวะ” ตามที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านได้นิยามไว้ว่าสิ่งนี้เป็น “สิ่งสูงสุดของมนุษย์”

        ดังนั้นบทเรียนทั้งในส่วนของความสำเร็จ รวมไปถึงความท้าทายของการดำเนินงานที่ผ่านมา ย่อมเป็นสิ่งที่น่าสนใจและควรค่าแก่การที่พวกเราจะร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกัน

        เมื่อช่วงระหว่างวันที่ ๒๗–๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๕ ทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายกว่า ๔๐ องค์กร ได้จัดงาน ๑๕ ปี สุขภาพแห่งชาติ “พลังภาคีสร้างสังคมสุขภาวะ” และมีเพื่อนภาคีเครือข่ายทั้งเก่าและใหม่เข้ามาร่วมกันนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเสนอทิศทางการพัฒนาในอนาคตร่วมกันในระยะต่อไป

        จากกิจกรรมตลอด ๒ วันดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดเจนว่ากว่าหนึ่งทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา พวกเราได้เข้ามาเป็น “หุ้นส่วนการพัฒนา” ที่ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะ และผลงานที่เป็นรูปธรรมไปแล้วมากมาย

        
บทเรียนและประสบการณ์อันมีค่าทั้งหลาย ที่ถูกถ่ายทอดผ่านเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ภายในงานดังกล่าว จึงถูกนำมาร้อยเรียงลงใน “สานพลัง” ฉบับนี้ เพื่อให้เป็นบันทึกอันมีประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทั้งในระดับพื้นที่และระดับชาติ ที่พวกเราจะมีส่วนร่วมกันเดินหน้าไปสู่เป้าหมายของการสร้างสังคมสุขภาวะด้วยกันต่อไป

        พี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่านครับ งานที่เราต้องทำต่อคือการนำเอากระแสการขับเคลื่อนเหล่านี้เข้าไปสู่การปฏิบัติจริงของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและหน่วยงานเครือข่ายในระดับพื้นที่ ดังนั้นจึงอยากชวนเพื่อนภาคีมาร่วมกันเดินหน้าภารกิจ เพื่อทำให้ภาพฝันของสังคมที่เราอยากเห็น คือการสร้าง “ระบบสุขภาพที่เป็นธรรม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นั้นเกิดขึ้นได้ตามเป้าหมายของธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๓ ซึ่งจะถูกใช้เป็นกรอบทิศทางระบบสุขภาพของประเทศระยะ ๕ ปีจากนี้

        ในส่วนของ สช. เอง ขณะนี้เรากำลังเดินหน้าเข้าสู่การทำงานใน “แผนงานหลักฯ ฉบับที่ ๔ ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๖-๒๕๗๐” ที่เราจะยังคงเดินหน้าตามพันธกิจในการสานพลังเพื่อขับเคลื่อนระบบสุขภาพไทย ด้วยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมบนพื้นฐานทางปัญญา โดยแขนข้างหนึ่งคือการทำหน้าที่สนับสนุนและสร้างเครือข่ายภาคประชาสังคม รวมทั้งการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งเป็นภารกิจพื้นฐานของ สช.

        ในขณะที่แขนอีกข้าง เราจะชักชวนภาคีเข้ามาร่วมกันขับเคลื่อนในประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศทั้งในระดับชาติและพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีคุณภาพ จับต้องได้ สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของประชาชน ภายใต้บทบาทของ สช. ที่จะเชื่อมโยงหน่วยงานยุทธศาสตร์ต่างๆ เข้ามาร่วมกันในการเคลื่อน

        การเดินก้าวต่อไปสู่ “ครึ่งทศวรรษที่สอง” ของ สช. ในปีที่ ๑๖ นับจากนี้ จึงอยากเชิญชวนพวกเราทุกคนนำเอาบทเรียน ประสบการณ์ ความรู้ที่ได้จากการเคลื่อนร่วมกันนี้ นำไปสู่งานที่เราจะพัฒนาทำต่อไปด้วยกันข้างหน้า เพื่อให้ทุกคนได้รับการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียม มีระบบสุขภาพที่มีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการพลิกฟื้นประเทศ และส่งผ่านไปสู่คนรุ่นต่อไป (Next Generation) ให้ได้เข้ามาร่วมในการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะด้วยน้ำมือของพวกเขา เป็นภารกิจที่พวกเราจะมาร่วมด้วยช่วยกันต่อไป

       สำหรับกิจกรรมใหญ่ของเราที่กำลังจะมาถึงคือเวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๕ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ ๒๑ - ๒๒ ธ.ค.นี้ มี ๓ ประเด็นสำคัญที่กำลังจะเข้าสู่ระเบียบวาระ และอยากชวนพวกเรามาร่วมพิจารณาไปพร้อมกัน ประกอบด้วย ประเด็นที่ ๑ “การขับเคลื่อนแพลตฟอร์มเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลสถิติการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของประชาชน (Calories Credit Challenge: CCC) ภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจใหม่ (BCG Model)” ประเด็นที่ ๒ “การขจัดความยากจนตามโมเดล BCG: การยกระดับเศรษฐกิจของครัวเรือน มีเป้าหมายเพื่อการสร้างโอกาสและเสมอภาคทางสังคม” ประเด็นที่ ๓ “หลักประกันรายได้เพื่อมุ่งสู่คุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ”

      ทั้งหมดจะสะท้อนไปสู่ประเด็นหลักของงานสมัชชาฯ ครั้งที่ ๑๕ คือ “ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย” ซึ่งพวกเราจะมีส่วนร่วมสร้างด้วยกันต่อไปครับ

 

รูปภาพ