ยก ‘จ.เพชรบุรี’ ต้นแบบสุขสุดท้ายที่ปลายทาง ทำพินัยกรรมชีวิต-รักษาประคับประคอง ผู้ว่าฯ เปิด ‘ศูนย์เกล้าการุณย์’ ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

ผู้ว่าฯ เพชรบุรี หนุนประชาชนใช้สิทธิตาม ม.12 พ.ร.บ.สุขภาพฯ แสดงเจตจำนงค์การดูแลรักษาตนเองในระยะสุดท้าย พร้อมเปิดตัว “ศูนย์เกล้าการุณย์” รพ.พระจอมเกล้า ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่เลือกจบชีวิตใน รพ.อย่างมีคุณภาพ ด้าน สช.ยกเป็น 1 ใน 2 จังหวัดต้นแบบพัฒนาระบบการดูแลแบบประคับประคองของประเทศ
 

ดูแลประคับประคอง


เมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2565 นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมด้วย นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า ร่วมกันเปิดงานสัปดาห์ PALLIATIVE WORLD ปี 2022 และเปิดตัว ศูนย์เกล้าการุณย์ ณ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ตามโครงการสุขสุดท้ายที่ปลายทางกับมาตรา 12 โดยมีแพทย์ พยาบาล ทีมงานการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน

สำหรับกิจกรรมสำคัญในช่วงของการเปิดงาน ได้มีการร่วมกันทำพินัยกรรมชีวิต หรือหนังสือแสดงเจตนาไม่รับบริการทางสาธารณสุขที่เป็นเพียงการยื้อชีวิต (Living will) ซึ่งเป็นสิทธิตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเลือกสิทธิการรักษาของตัวเองล่วงหน้า รวมถึงการแสดงเจตจำนงในการรับหรือไม่รับบริการรักษาใด ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนคนไทยทุกคนสามารถทำได้

นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า งานสัปดาห์ PALLIATIVE WORLD ปี 2022 และการเปิดศูนย์เกล้าการุณย์ รพ.พระจอมเกล้า มีขึ้นตามโครงการสุขสุดท้ายที่ปลายทางกับมาตรา 12 ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของระบบบริการสุขภาพ ที่จะมีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ให้ความสำคัญและสนใจในสิทธิด้านสุขภาพของตนเอง โดยเฉพาะการได้วางแผนดูแลตัวเองล่วงหน้า (Advance Care Plan) หรือการทำหนังสือ Living will ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 

ณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร


“กฎหมายได้รับรองสิทธิของประชาชนเมื่อเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายไว้แล้ว ดังนั้นการสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจถึงสิทธิการดูแลรักษาตัวเองของประชาชน รวมไปถึงการพัฒนาทัศนคติ ความรู้ของบุคลากรทั่วไป เพื่อสร้างความเข้าใจในทัศนคติต่อการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ จึงนับว่ามีความจำเป็นในสังคมปัจจุบัน” นายณัฐวุฒิ กล่าว

นพ.พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ระบบบริการสุขภาพของไทยกำลังเข้าสู่สังคมที่ผู้สูงวัยมีอายุยืนยาวมากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลให้เป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ รวมทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยก็อาจไม่สามารถช่วยให้หายจากโรคได้ หากแต่จะนำมาซึ่งความทุกข์ทรมานที่ส่งผลต่อคุณภาพในระยะสุดท้ายของชีวิต
 

พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ


“ฉะนั้นการที่เราสามารถวางแผนการดูแลตนเองล่วงหน้า หรือการทำ Advance Care Plan (ACP) ตลอดจนหนังสือแสดงเจตนา Living will ถือว่าเป็นการแสดงความต้องการที่แท้จริงของตัวเราเองได้ ในขณะที่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์” นพ.พิเชษฐ กล่าว

ขณะที่ พญ.ปริยชาต์ สธนเสาวภาคย์ ประธานงานการดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลพระจอมเกล้า กล่าวว่า ในส่วนของศูนย์เกล้าการุณย์ รพ.พระจอมเกล้า จะทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (Palliative Care) ที่ต้องการดูแลรักษาตัวเองระยะท้ายภายในโรงพยาบาล ซึ่งรูปแบบการดูแลของบุคลากรจะเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยระยะท้ายในศูนย์เกล้าการุณย์ดีที่สุด รวมถึงจะเป็นคลินิกระงับปวด ด้วยการให้ยากับผู้ป่วยระยะท้ายเพื่อไม่ให้เจ็บปวดจากอาการป่วย
 

ปริยชาต์ สธนเสาวภาคย์


พญ.ปริยชาต์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีประชากรที่ต้องการดูแลแบบประคับประคองจาก รพ.พระจอมเกล้า ประมาณเกือบ 400 คน โดยครึ่งหนึ่งต้องการกลับไปดูแลรักษาในช่วงระยะท้ายที่บ้านพัก ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งจะขอเข้ารับการดูแลจากศูนย์เกล้าการุณย์แห่งนี้

“กลุ่มผู้ป่วยระยะท้ายส่วนใหญ่จะป่วยมะเร็ง หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาได้แล้ว แต่ต้องการได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล และเลือกจะเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ก็จะเข้ารับการดูแลผ่านศูนย์เกล้าการุณย์” พญ.ปริยชาต์ กล่าว

ด้าน นายสุทธิพงษ์ วสุโสภาพล รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.พร้อมร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้านสิทธิตามมาตรา 12 ของ จ.เพชรบุรี หลังจากได้หารือกับผู้ว่าว่าราชการจังหวัด โดยเตรียมที่จะให้ จ.เพชรบุรี เป็น 1 ใน 2 จังหวัดของประเทศไทย ที่จะศึกษา วิจัย และพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือสุขสุดท้ายที่ปลายทางของประชาชน โดยที่ทางผู้ว่าราชการจังหวัดยินดีที่จะร่วมเป็นทีมวิจัย
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า เรื่องของการใช้สิทธิตามมาตรา 12 นี้เชื่อว่าจะสามารถไปถึงประชาชนได้มากขึ้นอย่างแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้ให้ประชาชนได้แสดงเจตนา หรือมีสิทธิเลือกรับบริการทางการแพทย์ในระยะท้ายของชีวิต ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะสามารถพูดคุยในเรื่องของการดูแลระยะท้ายได้อย่างเป็นปกติ อันเป็นการแสดงออกถึงความมีอารยะ มีความเจริญทางด้านจิตใจ และสะท้อนถึงการดูแลประชาชนของประเทศนั้นๆ ได้ดีอีกด้วย
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


อนึ่ง วัตถุประสงค์ของการจัดงาน “สัปดาห์ PALLIATIVE WORLD ปี 2022 สุขสุดท้ายที่ปลายทางกับมาตรา 12” จะ มีการจัดขึ้นที่ รพ.พระจอมเกล้า ตลอด 3 วัน เพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ถึงการดูแลแบบประคับประคองและบริการจัดทำพินัยกรรมชีวิตของ รพ.พระจอมเกล้า รวมถึงระบบบริการศูนย์เกล้าการุณย์ โดยภายในงานจะเปิดให้มีการทำสมุดเบาใจ และการทำพินัยกรรมชีวิต รวมทั้งให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิสุขภาพในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติฯ ให้กับประชาชนทั่วไป บุคลากร รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง
 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล

 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล

 

สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล


 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม:

กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช.

โทร. 02-8329141

 

รูปภาพ
ผู้ป่วยระยะสุดท้าย