กระบวนการการเมืองภาคประชาชน บทเรียนจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก
Audio file

     สวัสดีครับพี่น้องภาคีเครือข่ายที่รักทุกท่าน นับตั้งแต่วันที่ ๙ มิ.ย. ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ประกาศ “ปลดล็อคกัญชา” ออกจากการเป็นยาเสพติดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตามนโยบายของพรรคภูมิใจไทย พรรคการเมืองใหญ่ในรัฐบาลปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูก และบริโภคพืชชนิดนี้ได้ในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์ ส่วนการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพเพื่อจำหน่ายทั้งอาหาร เครื่องสำอางและยาสมุนไพร ยังคงต้องขออนุญาต ท่ามกลางความกังวลของนักวิชาการและองค์กรวิชาชีทางการแพทย์หลายภาคส่วนที่เรียกร้องให้ภาครัฐหามาตรการป้องกันผลแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

     พี่น้องภาคีเครือข่ายทุกท่านครับ เชื่อว่าทุกท่านคงได้เห็นบรรยากาศของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีชีวิตชีวามากขึ้น ภายหลัง คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า ๑.๓ ล้านเสียง และได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” คนที่ ๑๗ เมื่อวันที่ ๓๑ พ.ค. ๒๕๖๕

     ส่วนหนึ่งเป็นเพราะบุคลิกของคุณชัชชาติที่เป็น “นักสานพลัง” รับฟังและเปิดกว้าง วางตัวให้คนทุกระดับสามารถเข้าถึงได้ รวมถึงการเป็นผู้นำที่ใช้อำนาจอ่อน (Soft Power) นั่นคือเลือกที่จะประสานความร่วมมือแทนการสั่งการ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิด “ความเชื่อใจ-ความไว้ใจ” และเป็นแรงส่งให้ได้รับความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วน

     อย่างไรก็ดี สิ่งที่อยากจะเชิญชวนทุกท่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกันไม่ใช่เรื่องของคุณชัชชาติ แต่คือ การเกิดขึ้นของกระบวนการการเมืองภาคประชาชนภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมา

     ตัวอย่างหนึ่งคือ “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันขององค์กรภาคีเครือข่ายมากกว่า ๘๔ เครือข่าย เข้ามาร่วมคิด ร่วมถกแถลง ร่วมกันวิเคราะห์-สังเคราะห์ปัญหาของ กทม. ผ่านการรับฟังความคิดเห็น และเปิดเวทีเสียงกรุงเทพฯ กว่า ๗ เวที พูดคุยเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอใน ๗ ประเด็น ได้แก่ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ เมืองสุขภาพ และเมืองมีส่วนร่วม เชิญว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. หลายคนขึ้นเวทีดีเบตและฟังเสียงประชาชนคนกรุงเทพฯ ก่อนที่จะสกัดออกมาเป็น “ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” หรือ “สมุดปกขาว” เพื่อเสนอให้กับผู้ที่ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เป็นรูปธรรมหนึ่งของการเมืองภาคประชาชน

     พี่น้องทุกท่านครับ ในช่วงเวลาที่การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศกำลังใกล้เข้ามา เราสามารถถอดบทเรียนจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ร่วมกันสร้างเวทีเสียงกรุงเทพฯ และได้ข้อสรุปนโยบายของคนกรุงเทพฯ เป็นสมุดปกขาวเพื่อเปลี่ยนกรุงเทพฯ เสนอผู้ว่ากรุงเทพฯ คนใหม่ รวมทั้งพันธสัญญาจะร่วมขับเคลื่อนและติดตามให้ข้อเสนอได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

     เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการขยาย “กระบวนการการเมืองภาคประชาชนภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งใหญ่” ให้เกิดขึ้นครอบคลุมทั่วประเทศได้ โดยใช้กลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัดเป็นฐานในการระดมความคิดเห็น และจัดทำข้อเสนอนโยบายภาคประชาชนเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่

     เปลี่ยนเวทีหาเสียงแบบเก่าที่พรรคการเมืองจัดเวทีให้ประชาชนมาฟังผู้สมัครรับเลือกตั้งเพียงข้างเดียว เป็นเวทีการเมืองแบบใหม่ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งและประชาชนในพื้นที่ต่างได้ฟังข้อเสนอหรือความต้องการหรือนโยบายของกันและกัน สร้างพันธสัญญาร่วมกันในการพัฒนาประเทศและพัฒนาพื้นที่

     แน่นอนครับว่าหลังจากนี้ สช. จะร่วมกับภาคีเครือข่ายสมัชชาจังหวัด และภาคีทุกระดับ เพื่อเตรียมความพร้อมและสนับสนุนให้เกิดกระบวนการการเมืองภาคประชาชนภายใต้บรรยากาศการเลือกตั้งที่เข้มแข็ง และมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

รูปภาพ