คจ.สช.ขับเคลื่อน ๕ ประเด็นสำคัญ สู่เวที สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ | สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

   การประชุม คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ พ.ศ. ๒๕๕๘ (คจ.สช.) ครั้งที่ ๖/๒๕๕๘ ที่มี อ.เจษฎา มิ่งสมร เป็นประธาน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีการสรุปประเด็นครั้งสุดท้าย ก่อนบรรจุเข้าสู่วาระ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๘ วันที่ ๒๑-๒๓ ธันวาคมนี้
 
   โดยที่ประชุม คจ.สช.ได้เห็นชอบ ๔ ประเด็นใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ และขอฉันทมติจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ประกอบด้วย ๑. วิกฤตการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยา และการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ ๒. สุขภาวะชาวนา : การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายองค์กรชาวนา ๓.ระบบสุขภาพเขตเมือง : การพัฒนาระบบการบริการสุขภาพอย่างมีส่วนร่วม ๔. นโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียม เพื่อลดโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และอีกหนึ่งประเด็นคือ “การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ” ที่นำมาทบทวน (Revisit) เพื่อปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากมตินี้เคยผ่าน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาแล้วเมื่อปี ๒๕๕๕
 
   “ไฮไลท์ส่วนหนึ่งในการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ ก็คือ การทดสอบระบบการนำมติเดิม กลับมาทบทวนใหม่ ว่าจะเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จได้หรือไม่ ซึ่งขึ้นอยู่กับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ที่จะมามีส่วนร่วมทั้งหมดด้วย” นายเจษฎา กล่าว
 
   ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการวิชาการ และตัวแทนคณะทำงานทั้ง ๕ ประเด็น ได้จัดประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความเห็นตลอดช่วงเช้าของการประชุม คจ.สช. เพื่อปรับปรุงร่างมติให้สมบูรณ์ที่สุด นำไปสู่การจัดทำเอกสารหลัก
 
   ประเด็นที่มีการหารือกันมากที่สุดคือเรื่อง การจัดการปัญหาหมอกควันที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่นำประเด็นซึ่งเคยผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว นำมาทบทวนใหม่
 
   อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเห็นตรงกันถึงความจำเป็น ที่ต้องนำกลับมาทบทวน เพื่อสร้างกลไกการทำงานในระดับพื้นที่ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เกิดบูรณาการระหว่างหน่วยงาน องค์กร ภาคประชาชนในพื้นที่ ซึ่งคนทำงานในระดับพื้นที่ ต่างเห็นพ้องต้องกันถึงความจำเป็นที่ต้องยกระดับให้ได้ ปัญหาจึงจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง
 
    ประธาน คจ.สช. ยังกล่าวอีกว่า การจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ ๘ จะเป็นเวทีที่มีชีวิตชีวา เพราะได้นำมติทั้ง ๖๔ ประเด็นตลอด ๗ ปีที่ผ่านมา มาถอดบทเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงการจัด “ลานสมัชชา” ที่นำสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบันมาพูดคุยกัน อาทิ สถานการณ์ภัยแล้ง เป็นต้น
 
   “ทุกคนจะได้เห็นเป็นรูปธรรมของการคืบคลาน การเติบโตของพื้นที่จากการนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อน”
 
   ดังนั้น สิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จะต้องดำเนินการต่อไป คือการทำหน้าที่ชักชวนให้คนกลุ่มต่างๆ มาร่วมขับเคลื่อนมติ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ที่อาจมีแผนงานและงบประมาณ ในการดำเนินงานเรื่องต่างๆอยู่แล้ว จะได้นำมติสมัชชาฯใส่เข้าไปในแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงในระยะยาว โดยเราไม่ต้องเป็นพระเอกเสมอไป
 
   “ผมคิดว่าหัวใจสำคัญ ที่ทาง สช. ต้องทำต่อไปก็คือ การส่งเสริมให้คนทุกคนเป็นเจ้าของสุขภาพของเขาเองและดูแลตัวเอง ว่าอยู่อย่างไรที่จะเจ็บป่วยช้าลง เป็นไปตามวัย ไม่ใช่เจ็บป่วยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น พร้อมกับขยายวงกว้าง ให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น แล้วท้ายสุดก็จะกลับมาผูกโยงกับมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ในที่สุด”อ.เจษฎากล่าวทิ้งท้าย
 

สำนักสื่อสารทางสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 02-832-9143

รูปภาพ